ลูกอาเจียนหลังป้อนยา ต้องป้อนซ้ำหรือไม่

18 November 2017
30271 view

ลูกอาเจียนหลังป้อนยา

.

.

สาเหตุลูกอาเจียนหลังป้อนยา

อาการอาเจียนหลังป้อนยาเด็ก เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย และเกิดขึ้นซ้ำๆได้  ลูกอาเจียนหลังป้อนยามักเกิดจากการร้องไห้อย่างหนักเพราะไม่ชอบรสของยา ไม่ชอบกลิ่นของยา ลูกต้องการปฏิเสธยาพยายามทำให้เกิดการอาเจียน หรือเกิดจากเทคนิคการป้อนยาไม่ดีทำให้รสยาสัมผัสกับบริเวณโคนลิ้นเกิดปฏิกริริยาการขย้อนอัตโนมัติ ทางการแพทย์เรียก รีเฟล็กซ์การขย้อน (gag reflex) ทำให้เด็กอาเจียนออกมา คำถามที่คุณแม่สงสัยก็คือถ้าลูกอาเจียน ต้องป้อนยาซ้ำหรือไม่ 

ลูกอาเจียนหลังป้อนยา ต้องป้อนซ้ำหรือไม่ 

1.ต้องป้อนซ้ำ กรณีหลังป้อนแล้วอาเจียนทันที ( ไม่ใช่แหวะเพียงเล็กน้อย ) ให้คุณแม่ป้อนยาในปริมาณเดิมซ้ำหลังลูกหายอาเจียนแล้ว

2.ไม่ต้องป้อนซ้ำ กรณีที่ลูกอาเจียนหลังป้อนยาผ่านไปนานเกิน ครึ่งชั่วโมง ให้งดยามื้อนั้นไป แล้วป้อนตามเวลาที่แพทย์กำหนดครั้งต่อไป เพราะยาบางส่วนอาจดูดซึมไปบ้างแล้ว ป้องกันการได้รับยาเกินขนาด

เทคนิคการป้อนยาป้องกันลูกอาเจียนหลังป้อนยา

1. ป้อนยาสำเร็จทุกครั้ง ต้องมีความรู้สึกดีตั้งแต่ครั้งแรก ครั้งแรกของการป้อนยาต้องชวนเล่น ให้ดู หยิบ จับ อุปกรณ์ หากอยู่ในวัยรับรู้แล้วต้องอธิบาย ให้เวลา อย่าแสดงอาการเครียดให้ลูกเห็น

2. อุปกรณ์นั้นสำคัญ ต้องเลือกให้เหมาะ เช่น ยารสขม แนะนำให้ใช้ไซริงค์ หลอดหยด ยารสหวานสามารถใช้ช้อนได้

3. ยารสขมป้อนโดยการหยดจากไซริงค์หรือหลอดหยด เข้าบริเวณกระพุ้งแก้ม พยายามอย่าให้สัมผัสลิ้น เพราะโคนลิ้นเป้นตำแหน่งรับรสขม และหากสัมผัสบริเวณกลางโคนลิ้น ลูกจะอาเจียนทันทีจาก รีเฟล็กซ์การขย้อน (gag reflex)

4. ยารสหวานป้อนช้อนตามปกติ ให้ลูกแตะๆชิมรสก่อน เพราะปกติเด็กจะไม่ปฎิเสธรสชาติหวาน

5. ท่าป้อนสำคัญ อย่าให้ยาในท่านอนราบ เพราะลูกกลืนไม่ทันทำให้อาเจียนพรุ่งพรวดออกมา หรือสำลักยาได้  ควรป้อนยาลูก ในท่าศีรษะสูง

6. ต้องเตรียมน้ำเล็กน้อย หลังป้อนยาให้ป้อนน้ำเล็กน้อย เพราะยาชนิดน้ำเชื่อมทำให้ระคายเคืองในลำคอ
ลูกอาจมีอาการไอได้ การป้อนน้ำเล็กป้องกันอาการไอได้

7. เปลี่ยนรสชาติของยา จากขมให้เป็นหวาน แต่ต้องสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง เพราะยาบางตัวอาจเกิดปฎิกิริยาทางเคมีกับน้ำหวาน ส่งผลต่อการดูดซึมยาได้  น้ำหวานที่นิยมและปลอดภัยได้แก่ เฮลล์บลูบอย

มีความรู้และทราบเทคนิคดีๆเกี่ยวกับวิธีการป้อนยาแล้ว หวังว่าเด็กๆทุกบ้านจะอาเจียน พ่นยา น้อยลงนะคะ
แต่อาการอาเจียนดังกล่าวอาจเกิดจากการแพ้ยาได้ คุณแม่ควรสังเกตอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่นผื่นขึ้น ตาบวม ปากบวม หายใจไม่สะดวก ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. วิธีเก็บรักษายาสำหรับเด็กแต่ละชนิดที่ถูกต้อง

2. การให้ยาลดไข้เด็กที่ถูกต้อง ในเด็กแต่ละช่วงวัย

3. ชนิดของยาลดไข้และการเลือกใช้ยาลดไข้ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก

เรียบเรียงโดย:  Mamaexpert Editorial Team