พัฒนาการทารกวัย 1 เดือน การเลี้ยงทารกวัย1เดือน และ12 เรื่องที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ

13 February 2018
134512 view

ทารกวัย 1 เดือน 

พัฒนาการเด่นของทารกวัย 1 เดือน

ในช่วงแรกนี้ เป็นการทำความรู้จักกัน หลังจากที่ได้แต่ส่งใจถึงกันมานาน ตลอด 9 เดือน คุณแม่ต้องปรับตัวพยายามอ่านใจลูก ว่าเขาเป็นอย่างไร ต้องการอะไร และลูกเองก็กำลังเรียนรู้ ที่จะตอบสนองกับคุณแม่ด้วยเช่นกัน

เมื่อกลับออกจาก ร.พ. มาอยู่ที่บ้าน คุณแม่บางคนอาจจะได้รับคำแนะนำ และความช่วยเหลือต่างๆมากมาย จากคนรอบข้าง ในการรับคำแนะนำต่างๆเหล่านี้ คุณแม่ต้องเข้าใจว่า เด็กแต่ละคนนั้น จะมีความแตกต่างกัน ทั้งในเรื่องการกิน การนอน และแม้แต่การร้องกวน ดังนั้นข้อแนะนำต่างๆ ที่ใช้ได้ดีกับเด็กคนหนึ่ง อาจจะดูเหมือนไม่ได้ผล เมื่อนำมาใช้กับเด็กอีกคนหนึ่ง คุณจึงควรต้องใช้ความช่างสังเกต และสัญชาติญาณของความเป็นแม่ ปรับเปลี่ยนการดูแลลูก ไปตามที่เห็นสมควร ร่วมกับการสอบถาม หาความรู้จากกุมารแพทย์ที่ดูแลลูกด้วยการร้องไห้ เป็นวิธีเดียวที่ลูกน้อยของคุณถนัด และเป็นการพยายามสื่อสารกับคุณแม่ เพื่อที่จะบอกว่าเขากำลังต้องการอะไรบางอย่างจากคุณแม่

12 สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแล ทารกวัย 1 เดือน

 

1.การอุ้ม ท่าอุ้มทารกวัย 1 เดือน 

เน้นการประคองคอ เพราะกระดูกคอยังไม่เเข็งแรง และศีรษะทารกเป้นอวัยวะที่หนักมากที่สุดในร่างกาย ในช่วง 1 เดือนนี้ จึงสำคัญมากๆที่ต้องอุ้มประครองศีรษะและลำคอ

2.การให้นม ท่าให้นมทารกวัย 1 เดือน 

 สำหรับนมแม่ควรให้ลูกดูดเต้า ทุก 2-3 ชั่วโมง ทั้งกลางวันและกลางคืน หากนมมีปริมาณมากลูกดูดแล้วไม่เกลี้ยงเต้า แนะนำให้ปั๊มและเก็บเข้าตู้เย็น ส่วนการป้อนนมผสม ควรให้ลูกได้ดื่มทุก 3 ชั่วโมง การคำนวณนมรายละเอียดตามนี้  = สูตรคำนวณน้ำนมที่ลูกควรได้รับ 0-12เดือน

3.การนอนทารกวัย 1 เดือน 

เวลาหลับและเวลาตื่น เด็กวัย 30 วันแรก การหลับนอนยังไม่สนิทดีนักหรือหลับไม่ลึก อาจหลับๆตื่นๆเป็นภาวะปกติ ในช่วงกลางวันหากหลับนานเกิน 3 ชั่วโมงแนะนำให้ปลุกเพื่อดูดนมแม่

4.การขับถ่ายทารกวัย 1 เดือน 

ในช่วงแรกๆนั้น ส่วนใหญ่เด็กจะตื่นมาทานนม และถ่ายค่อนข้างบ่อย ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของเด็กเมื่อหิว เด็กยังไม่รู้จักเวลา ว่าเป็นกลางวันหรือกลางคืน และมักจะถ่าย หลังการทานนมแทบทุกมื้อ เนื่องจากเป็นรีเฟลกซ์ (การทำงานของระบบประสาท ที่ไม่ต้องคอยคำสั่งจากสมอง) ที่ลำไส้จะเตรียมที่ไว้ สำหรับรับนมที่เพิ่งทานเข้าไปในกระเพาะ ดื่มนมแม่อาจพบว่าไม่ถ่านนานนับสัปดาห์ เป็นภาวะปกติไม่ต้องกังวล เพราะนมแม่ย่อยง่าย ลำไส้สามารถดูดซึมได้เกือบทั้งหมด จึงไม่มีกากให้ขับถ่ายออกมาในทุกวัน

5.อุณภูมิของทารกวัย 1 เดือน

อุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่หนาจนเกินไป เพราะอุณหภูมิของทารกอาจขึ้นสูง กลายเป็นมีไข้ได้ สวนใส่เสื้อผ้าที่เบาสบาย ไม่ฟิตจนเกินไป ไม่ห่อตัว

6.การอาบน้ำทารกวัย 1 เดือน  

อาบน้ำวันละ 1 ครัง สระผมวันละ 1ครั้ง ในสัปดาห์แรก ควรอาบไม่เกิน 10นาที เพราะลูกอาจหนาวสั่นได้   หลัง 7 วันเริ่ม อาบเช้า – เย็น ด้วยน้ำอุ่น สระผมวันละ 1 ครั้ง  หลัง 1 เดือนเปลี่ยนเป็นน้ำอุณหภูมิห้อง

7.สะอึกในทารกวัย 1 เดือน 

พบว่าวัยนี้มีอาการสะอึกค่อนข้างมาก หลังการทานนม ซึ่งคุณแม่คงต้องใจเย็นๆอุ้มทำให้เรอ แล้วอาการสะอึกจะดีขึ้น นอกจากนี้หลายรายจะมีการแหวะนมเล็กน้อย เมื่อวางเด็กลงนอน ซึ่งถือว่าเป็นปกติ แต่ในรายที่มีการป้อนนมมากเกินไป (Overfeeding) ก็จะมีอาเจียนได้มาก หรือบางครั้งจะมีปัญหา รีฟลักซ์ คือการที่กระเพาะบีบตัว ขย้อนเอานมกลับออกมาทางปาก ที่เรียกว่า Gastro-esophageal reflux (GER) ซึ่งพบได้บ่อยในทารกคลอดก่อนกำหนด ถ้าลูกมีอาเจียนค่อนข้างบ่อยควรปรึกษาแพทย์

8.ผวา มือเท้าสั่นบ่อยๆ ทารกวัย 1 เดือน 

อาการดังกล่าวเป็นอาการปกติ เรียกว่า โมโร่รีเฟลกซ์ (MORO Reflex) เมื่อเด็กร้องหรือตกใจ จะดูเหมือนทำท่าผวา มือเท้าสั่น, รีเฟลกซ์การเข้าหาหัวนม และดูดนม ( Rooting and sucking reflexes), เด็กบางคนจะยังมีรีเฟลกซ์การจาม (sneezing reflex) อยู่บ้าง และเช่นกัน บางครั้งจะเห็นลูกนอนอยู่เฉยๆ แต่ก็ยิ้มอย่างน่ารักได้ ที่ผู้ใหญ่เรียกว่า “ยิ้มกับแม่ซื้อ” ซึ่งก็เป็นรีเฟลกซ์อีกอย่างหนึ่งนั่นเอง

9.การมองเห็นของทารกวัย 1 เดือน  

ในระยะนี้ ลูกจะเริ่มลืมตามองมากขึ้น ถ้าแสงในห้องไม่สว่างจ้าจนเกินไปนัก ประมาณว่าเด็กจะมองเห็นได้ดี ในช่วงระยะประมาณ 1 ฟุต เป้นภาพเลือนลาง ขาว -ดำ ยังไม่เห้นภาพสี จะชัดเจนและแยกสีเมื่ออายุ 90 วันขึ้นไป การมองเห็นของลูกวัยนี้ซึ่งก็คือ ระยะที่ลูกจะเห็นหน้าคุณแม่ ในขณะป้อนนมนั่นเอง แต่การแปลผลภาพที่เห็นนั้น จะยังต้องใช้การทำงานของสมองส่วนต่างๆ อีกหลายระดับ แต่ลูกจะมีสัญชาตญาณรู้ว่า คุณคือคุณแม่ จากประสาทสัมผัสพิเศษอื่นๆอีก คือ การได้กลิ่นกายของคุณแม่ เสียงคุณแม่ที่เขาคุ้น ตั้งแต่อยู่ในท้อง การสัมผัสทางผิวกายขณะที่คุณแม่ป้อนนมเขา สิ่งเหล่านี้ทำให้ลูกรู้ว่า คุณคือคุณแม่ ไม่ใช่พี่เลี้ยง หรือคุณยาย ที่กำลังอุ้มเขาอยู่

10.ความสะอาดของทารกวัย 1 เดือน

การดูแลตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า

  • ตา เช็ดทำความสะอาดวันละ 2ครั้งเช้าเย็น
  • สะดือ เช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำยาที่ทางโรงพยาบาลให้มา เช้า – เย็น จนกว่าจะหลัด หากหลุดแล้วแต่ยังแฉะหรือมีเลือดไหล ให้เช็ดต่อจนกว่าจะแห้งสนิท
  • ช่องปาก หลังดื่มนม ให้ใช้ผ้าสะอาด ชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว เช็ด เช้า – เย็น หรือบ่อยๆ ที่พบว่ามีคราบสีขาวติดตามลิ้น เพราะหากไม่เช็ดอาจทำให้เกิดลิ้นเป็นฝ้า และเชื้อราในปากได้
  • อวัยวะสืบพันธุ์ หญิงชาย แตกต่างกัน ผู้ชายหลังอาบน้ำ ในสัปดาห์เเรกจะพบว่ามีไขที่ปลายองคชาติ ให้คุณแม่รูดปลายองคชาติลง และใช้สำลีชุบน้ำสะอาดเช็ดเบาๆ และรูดขึ้น ส่วนเด็กหญิง อาจพบว่ามีไขติดตามแคมเล็กหรือส่วนใหญ่จะไม่มีเพราะพยาบาลเช็ดให้เรียบร้อยแล้วจากโรงพยาบาล ให้คุรแม่ใช้สำลีชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว เช็ดทำควงามสะอาดจากบน ลงล่าง 1 ครั้ง ไม่ย้อนไปมา หากดูว่ายังไม่สะอาด ให้ใช้สำลีก้อนใหม่และทำเช่นเดิม การเช็ดแบบนี้ ใช้ได้ในการทำความสะอาดตอนขับถ่าย

11.การร้องไห้ของทารกวัย1เดือน

เพราะอะไร ลูกหิว ลูกแฉะ ลูกท้องอืด ลูกไม่สุขสบาย ลูกหนาว ลูกร้อน คุณแม่ต้องพยายามสังเกตว่าเสียงร้องแต่ละแบบที่ต่างกันนั้น หมายถึงอะไร ในเวลาไม่นาน คุณแม่ก็จะเดาใจลูกได้ถูกว่าเสียงร้อง และท่าทางที่เขากำลังแสดงอยู่นี้ หมายความว่าอย่างไร และถ้าตอบสนองได้ถูกต้องลูกก็จะหยุดร้อง แต่ก็อาจจะมีบางครั้ง ที่ลูกอาจจะร้องกวนโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้คุณเริ่มมีความวิตกว่า จะเกิดอะไรผิดปกติกับลูก การตอบสนองโดยการอุ้มกล่อมเด็ก เพื่อให้เขาเกิดความสบายใจ และหยุดร้องอย่างเหมาะสมนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องและดีกว่าการที่จะปล่อยให้ลูกร้องไปจนกว่าจะเหนื่อย จนหยุดร้องไปเอง โดยไม่ยอมตอบสนองต่อความต้องการของเขา

12.นัดตรวจสุขภาพของทารกวัย1เดือน 

อายุครบ 1 เดือนเต็ม แพทย์จะนัดตรวจสุขภาพของลูกน้อย อย่าลืมพาลูกไปตามนัดนะคะ สิ่งสำคัญสมุดสุขภาพของลูก คุณแม่ต้องถือไปด้วยทุกครั้งนะคะ

การเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่นั้น อาจทำให้คุณเกิดคำถามและความวิตกกังวลต่างๆได้มากมาย อย่าเก็บความสงสัยไว้เพียงคนเดียว รวบรวมปัญหาคาใจต่างๆ นี้ไว้ เพื่อคุยกับกุมารแพทย์ในวันนัด   เพื่อที่จะได้เกิดความเข้าใจ และมีความมั่นใจ ที่จะดูแลลูกน้อยได้ต่อไป คุณหมอเด็กทุกคน ยินดีที่จะช่วยตอบคำถามเหล่านี้เสมอ หรือหากเร่งด่วนแนะนำให้ไปพบแพทย์ก่อนวันนัดได้

เรียบเรียงโดย :  Mamaexpert Editorial Team