หมอสูติฯ ไขข้อข้องใจท้องไม่รู้ตัวมีจริงหรือ!

23 March 2017
13741 view

ท้องไม่รู้ตัว

เป็นประเด็นทันทีภายหลังกรณีหญิงวัย 26 ได้ออกมายอมรับพร้อมมอบตัว แต่เจ้าตัวเผยว่า ไม่รู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ ปวดท้องหนัก จึงตัดสินใจทานยาแก้ปวดท้องรอบเดือน จนเด็กไหลออกมา ตนเองกลัว ตกใจ ไม่กล้าบอกใคร จึงนำร่างทารกน้อยไปทิ้งถังขยะ!!! ทำให้หลายคนสงสัยว่า ในทางการแพทย์เป็นไปได้หรือไม่ ขณะที่สังคมออนไลน์ต่างวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะไม่เชื่อว่าเจ้าตัวไม่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ วันนี้เรามาไขข้อข้อใจกันค่ะ 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น เพราะทันทีที่ข่าวนี้แพร่ออกมา ก็มีความคิดเห็นหลากหลาย และบางคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นว่า เคยเกิดขึ้นเช่นกัน และไม่ทราบมาก่อนว่าตั้งครรภ์ด้วย และเพื่อไขข้อข้องใจเรื่องดังกล่าว ผู้สื่อข่าว "มติชน" ได้สอบถามไปยังสูติ-นรีแพทย์ เพื่อให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเรื่องนี้…



พญ.ชัญวลี ศรีสุโข สูติ-นรีแพทย์เชี่ยวชาญ รพ.พิจิตร และโฆษกแพทยสภา บอกว่า การที่หญิงสาวคนหนึ่งไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ จนกระทั่งคลอดลูกออกมานั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากเกิดขึ้นได้ โดยสาเหตุคือ 1.ไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์จริงๆ เพราะปกติมีการคุมกำเนิดอยู่แล้ว แต่อาจเกิดจากการคุมกำเนิดไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ฉีดยาคุมไม่ตรงเวลา กินยาไม่ตรงเวลา เป็นต้น ประกอบกับประจำเดือนอาจมาไม่สม่ำเสมอ หรือมีประจำเดือนเพียงปีละ 1-2 ครั้งก็สามารถเกิดการตั้งครรภ์ได้ แม้อายุครรภ์จะมากถึง 8-9 เดือน หลายคนก็ยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เพราะท้องอาจเล็ก และเข้าใจว่าอ้วน หรือผิวหนังบริเวณท้องอาจหนามาก จนลูกดิ้นก็ไม่รู้สึก หรือเข้าใจว่าปวดท้องปกติ

2.คนที่มีประจำเดือนหลายคนก็เข้าใจว่าไม่ตั้งครรภ์ แต่จริงๆ ท้อง นั่นเพราะประจำเดือนที่ออกมามีลักษณะกะปริบกะปรอย หรือได้รับการกระทบกระเทือน ซึ่งเสี่ยงแท้ง พอมาพบสูตินรีแพทย์จึงทำให้ทราบว่าตั้งครรภ์ ซึ่งไม่ว่าจะสาเหตุใดก็ตาม กรณีท้องโดยไม่รู้ตัวย่อมเกิดขึ้นได้ อย่างที่ รพ.พิจิตร ก็พบเคสลักษณะนี้เช่นกัน โดยหลายรายมาด้วยอาการปวดท้อง เข้าใจว่าท้องเสีย พอมาตรวจ และแพทย์คลำเจอก้อนที่ท้อง จึงไปตรวจอัลตราซาวน์ ปรากฏว่าตั้งครรภ์ 6 เดือนขึ้นไป เคยเจออายุน้อยสุดไม่ถึง 10 ขวบด้วยซ้ำ ซึ่งตรงนี้มาจากความผิดปกติของไข่ตก นอกนั้นส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่น ซึ่งเฉลี่ยพบปีละ 10 รายได้ หลายครั้งพ่อแม่เป็นคนพามาให้แพทย์ตรวจเอง

"ตัวเราแยกไม่ออกหรอกว่า ท้องหรือไม่ท้อง ยิ่งท้องสาวด้วยแล้ว แต่หากจะสังเกตก็ต้องดูว่า เราคุมกำเนิดหรือไม่ ประจำเดือนขาดหายประมาณ 2-3 เดือนหรือไม่ เต้านมคัด ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้สามารถไปซื้อที่เทสต์การตั้งครรภ์ได้" พญ.ชัญวลี กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีท้องไม่รู้ตัว จนกระทั่งคลอดลูกเองนั้นจะเป็นอันตรายหรือไม่ พญ.ชัญวลี กล่าวว่า การตั้งครรภ์และการคลอดลูกนั้นขึ้นอยู่กับความเสี่ยงแต่ละคน แต่หากแม่มีภาวะโรคประจำตัว หรือมีโลหิตจางก็จำเป็นต้องมาฝากครรภ์ เพื่อให้แพทย์ดูแล



ด้าน ผศ.นพ.สัญญา ภัทราชัย อาจารย์พิเศษประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การท้องโดยไม่รู้ตัวนั้น มาจากเจ้าตัวไม่อยากท้อง และคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นท้องขยายใหญ่ขึ้นก็คิดว่าอ้วน หรือประจำเดือนขาด ก็มองว่าเป็นเรื่องปกติ สิ่งเหล่านี้เกิดจากกลไกทางจิตใจที่ปฎิเสธความจริงว่าตั้งครรภ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก ในทางกลับกันคนอยากท้อง แต่ไม่ท้องและเข้าใจว่าตัวเองตั้งครรภ์ก็ยังมี แต่จริงๆ แล้วเป็นภาวะท้องปลอม ที่ท้องขยายใหญ่ก็เพราะมีลมอยู่ข้างใน และส่วนใหญ่หญิงกลุ่มนี้จะมีรูปร่างที่ท้วมๆ ด้วย

"ส่วนคนที่ท้องแต่ไม่รู้ตัวนั้น เพราะไม่สังเกตตัวเองด้วย อย่างลักษณะของท้องที่ขยายใหญ่ขึ้น คนปกติไม่ค่อยทราบ แต่หมอจะทราบว่าอ้วนจากไขมันกับตั้งครรภ์ต่างกันอย่างไร ส่วนคนที่เคยมีลูกแล้ว แต่ปรากฏว่าเกิดท้องขึ้นมาโดยไม่รู้ตัวจนกระทั่งคลอดเองนั้นก็มีเช่นกัน ซึ่งแสดงว่าครั้งล่าสุดยังไม่อยากท้อง อย่างไรก็ตาม วัยรุ่นจะพบมาก ยิ่งท้องสาวๆ ท้องแรก ยิ่งดูไม่ออก ดังนั้น การที่จะสังเกตได้ก็ต้องอาศัยคนใกล้ตัว พ่อแม่ ญาติ อย่างเคสที่พบใน รพ.รามาฯ มีแม่สังเกตว่าลูกสาวผิดปกติ เนื่องจากแม่จะเป็นคนซื้อผ้าอนามัยให้ลูกใช้ทุกเดือน แต่สังเกตว่าลูกไม่ได้ใช้จึงพามาตรวจ พบว่าท้อง 4 เดือน" ผศ.นพ.สัญญา กล่าว

ผศ.นพ.สัญญา กล่าวทิ้งท้าย ว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่การสังเกต ทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูก็ต้องคอยดูว่าเด็กนักเรียนมีอาการที่ผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่ ซึม แยกตัวออกจากเพื่อนๆ และเมื่อพ่อแม่หรือครูพาไปพบแพทย์ แพทย์ก็ต้องใส่ใจ ตรวจอย่างละเอียดด้วย ไม่ใช่ว่าเห็นว่ายังเด็กๆ คิดว่าไม่ท้อง ซึ่งไม่ใช่ ดังนั้น ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องก็ต้องร่วมมือกันหมด

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการที่น่าสงสัยว่าตนเองตั้งครรภ์ ก็ควรที่จะตรวจครรภ์ อย่าเพิกเฉย หากไม่พร้อมควรรีบแก้ไขและปรึกษาครอบครัว หากการณ์แบบนี้ ผิดทั้งกฏหมาย ผิดทั้งศีลธรรม เพราะฉะนั้นการสวมถุงยางอนามัยและการเลือกทานยาคุม เป็นการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ดีที่สุดค่ะ ไม่พร้อมต้องป้องกันนะคะ

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. ภาวะแท้งคุมคาม คุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาสแรกต้องระวัง

2. แม่ตั้งครรภ์ออกกำลังกายแบบไหน ปลอดภัยไม่แท้ง

3. แม่ท้องกลั้นปัสสาวะเสี่ยงแท้งต่อการติดเชื้อ

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

ที่มา : มติชนออนไลน์