น้ำคร่ำ
น้ำคร่ำคืออะไร
ปกติเมื่อมีการตั้งครรภ์ ทารกจะเจริญเติบโตอยู่ภายในมดลูก แต่ไม่ได้อยู่ในมดลูกโดยตรงเลยทีเดียว เนื่องจากทารกจะลอยอยู่ในน้ำที่เรียกว่า”น้ำคร่ำ”และน้ำคร่ำที่ว่านี้ก็จะบรรจุอยู่ในถุงที่เรียกว่า ถุงน้ำคร่ำอีกทีหนึ่ง ถุงน้ำคร่ำจะบรรจุและอัดแน่นอยู่ภายในมดลูกน้ำคร่ำที่ล้อมรอบตัวทารกนั้นจะค่อยๆสร้างเพิ่มขึ้นมาทีละน้อย ขณะท้องได้ประมาณ 3 เดือน จะมีน้ำคร่ำประมาณ 50-80 มิลลิลิตร เมื่อท้องได้ 4 เดือน จะมีน้ำคร่ำเพิ่มขึ้นเป็น 150-200 มิลลิลิตร และเมื่อใกล้คลอดน้ำคร่ำจะมีมากถึง 1 ลิตร องค์ประกอบที่สำคัญของน้ำคร่ำคือน้ำ ซึ่งมีปริมาณ 98 เปอร์เซ็นต์ และส่วนที่เป็นของแข็งประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนที่เป็นของแข็งประกอบด้วยสารต่างๆมากมาย เช่น โปรตีน กรดยูริค สารยูเรีย รวมทั้งขี้ไคลของทารก ขนอ่อน เส้นผม และปัสสาวะของทารกด้วย โดยปกติน้ำคร่ำไม่ได้อยู่เฉยๆ เหมือนน้ำที่นิ่ง แต่จะมีการไหลเวียนอยู่ตลอดเวลาโดยจะผ่านเข้าไปในตัวทารกจากการกลืนเข้าไป และถูกขับออกจากทารกโดยการถ่ายเป็นปัสสาวะออกมา
น้ำคร่ำมีหน้าที่อะไร
น้ำคร่ำที่มีอยู่ภายในถุงน้ำคร่ำไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่ให้ทารกหกคะเมนตีลังกาเล่นเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่อีกมากมายหลายประการ เช่นเป็นแหล่งระบายของเสียจากตัวทารก เป็นแหล่งให้อาหารทารก รวมทั้งยังปรับอุณหภูมิในมดลูกให้เหมาะสมแก่การอยู่อาศัยของทารกด้วย น้ำคร่ำมีบทบาทค่อนข้างมากในการที่จะทำให้ทารกดำรงชีวิตอยู่ในมดลูกได้อย่างปกติสุข การตั้งครรภ์ที่มีน้ำคร่ำมากหรือน้อยเกินไป มักเป็นตัวบ่งบอกว่า ทารกในครรภ์อาจจะพิการหรือมีการเจริญเติบโตที่ไม่ดี
น้ำคร่ำมากเกินไปขณะตั้งครรภ์อันตรายหรือไม่
แม่บางท่านที่ตั้งครรภ์ ถ้ามีปริมาณน้ำคร่ำที่สร้างขึ้นมามีมากกว่าปกติ เราจะเรียกการตั้งครรภ์นี้ว่า ตั้งครรภ์แฝดน้ำ (Polyhydramnios) ในทางการแพทย์ จะถือว่ากรณีคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ มีภาวะครรภ์แฝดน้ำก็ต่อเมื่อ คุณหมอตรวจพบว่าปริมาณน้ำคร่ำมีมากกว่า 2 ลิตรขึ้นไป การมีน้ำคร่ำทีมากกว่าปกติจะทำให้มดลูกถูกดันจากแรงดันภายในให้ยืดขยายออกไปมากกว่าปกติ ผลดังกล่าวจะทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัด หายใจไม่ค่อยออก บางคนมดลูกที่โตมากไปกดหลอดเลือดในช่องท้อง ทำให้เลือดที่ไหลเวียนจากส่วนล่างของร่างกายกลับไปยังหัวใจเป็นไปได้อย่างไม่สะดวก ทำให้มีอาการบวมที่เท้าหรือบริเวณปากช่องคลอด
น้ำคร่ำมากเกินไปขณะตั้งครรภ์ มีสาเหตุเกิดจาก
การเกิดภาวะตั้งครรภ์บวมน้ำอาจมีสาเหตุความผิดปกติได้ทั้งจากตัวแม่ที่ตั้งครรภ์ หรือจากตัวทารกในครรภ์เอง สาเหตุจากคุณแม่ที่มักจะพบบ่อยที่สุดคือ การที่คุณแม่ตั้งครรภ์มีโรคเบาหวานร่วมด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี ส่วนสาเหตุที่เกิดจากทารกในครรภ์นั้น ส่วนมากมักจะมาจากความพิการของทารก เช่น พบว่าทารกมีก้อนเนื้องอกที่ใบหน้า หรือมีการตีบตันของหลอดอาหารตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ผลดังกล่าวนี้ทำให้ทารกกลืนน้ำคร่ำไปในร่างกายได้ยากหรือไม่ได้ ผลคือทำให้น้ำคร่ำไหลเวียนผ่านตัวทารกไปไม่ได้ เกิดการท่วมท้นอยู่ในถุงน้ำคร่ำนั่นเอง นอกจากสาเหตุที่กล่าวถึงแล้ว พบว่าคุณแม่จำนวนไม่น้อยซึ่งตรวจไม่พบความผิดปกติอะไรของทั้งตัวคุณแม่เองและตัวทารกในครรภ์ แต่ก็ยังมีภาวะครรภ์แฝดน้ำ ซึ่งครรภ์แฝดน้ำแบบนี้จะพบได้มากประมาณร้อยละ 60 ของครรภ์แฝดน้ำทั้งหมด
น้ำคร่ำมากเกินไปขณะตั้งครรภ์ รักษาอย่างไร?
การรักษาจะต้องทำ 2 อย่างไปพร้อมๆกัน อย่างแรกคือต้องระบายน้ำคร่ำที่มากเกินออกไปบ้าง เพราะถ้าไม่ระบายออก คุณแม่จะทรมาณจากการหายใจไม่ออก การระบายน้ำคร่ำออกสามารถทำได้โดยการเจาะและดูดน้ำคร่ำออกเป็นระยะๆ จนกว่าจะคลอด การดูแลรักษาประการที่สอง คือ ต้องรักษาที่สาเหตุ ถ้าตรวจพบว่าเกิดจากคุณแม่เป็นโรคเบาหวาน ต้องให้ยาคุมระดับน้ำตาลให้ดี ภาวะครรภ์แฝดน้ำจะดีขึ้นได้สามารถทำได้โดยการเจาะและดูดน้ำคร่ำออก ภายหลังการดูดน้ำคร่ำก็จะมีการสร้างขึ้นมาใหม่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดูดน้ำคร่ำออกเป็นระยะๆ จนกว่าจะคลอด แต่ถ้าเป็นปัญหาจากทารกในครรภ์ ต้องประเมินว่าความพิการของทารกในครรภ์รุนแรงแค่ไหน ถ้ารุนแรงมากจนแน่ใจว่าคลอดออกมาแล้วไม่มีโอกาสรอดชีวิต ควรยุติการตั้งครรภ์ทันที แต่ถ้าความรุนแรงไม่มาก จำเป็นต้องรักษาแบบประคับประคองโดยการเจาะถุงน้ำไปก่อน แล้วค่อยให้การดูแลรักษาทารกภายหลังคลอด
น้ำคร่ำน้อยเกินไปขณะตั้งครรภ์ อันตรายหรือไม่?
ในทางตรงกันข้ามคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แล้วมีปริมาณน้ำคร่ำน้อยเกินไป เช่น ปกติควรจะมีน้ำคร่ำประมาณ 1 ลิตร เมื่อใกล้คลอดกลับมีแค่ 200-300 มิลลิลิตร หรือบางรายที่น้ำคร่ำน้อยมากอาจจะเหลือเพียงไม่กี่มิลลิลิตร แถมน้ำคร่ำยังมีลักษณะเหนียวข้น จนแทบไม่เป็นน้ำคร่ำด้วยซ้ำไป การตั้งครรภ์แบบนี้เรียกว่า การตั้งครรภ์น้ำคร่ำน้อย (Oilgohydramnios)การตั้งครรภ์ที่มีน้ำคร่ำน้อยมักไม่ก่อให้เกิดปัญหากับตัวคุณแม่มากนัก เพราะจะไม่แน่นอึดอัดเหมือนกับคุณแม่ที่มีน้ำคร่ำมาก บางคนจะรู้สึกสบายตัวด้วยซ้ำไป แต่สำหรับทารกแล้ว จะก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงได้หลายอย่าง ที่สำคัญคือถ้าน้ำคร่ำน้อยจะทำให้ทารกถูกบีบให้อยู่ในที่แคบ เพราะทารกที่อยู่ในครรภ์ไม่ได้อยู่เฉยๆ แต่จะมีการเจริญเติบโตร่วมไปด้วยตลอดเวลา ถ้าในโพรงมดลูกมีน้ำคร่ำเพียงเล็กน้อย ผนังทรวงอกของทารกจะถูกกด ทำให้ขยายไม่ออกและเจริญเติบโตต่อไปไม่ได้ ผลคือทำให้ระบบการหายใจของทารกบกพร่อง และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตภายหลังคลอด
น้ำคร่ำน้อยเกินไปขณะตั้งครรภ์ มีสาเหตุเกิดจาก
สาเหตุของการตั้งครรภ์ที่มีน้ำคร่ำน้อยก็คล้ายๆ กับการตั้งครรภ์ที่มีน้ำคร่ำมาก กล่าวคือ ส่วนมากไม่ทราบสาเหตุ แต่ก็มีบางส่วนที่ทราบสาเหตุ สาเหตุที่มักจะพบได้บ่อยๆที่ทำให้คุณแม่มีการตั้งครรภ์ที่มีน้ำคร่ำน้อยคือ การที่ทารกในครรภ์มีความพิการ แต่เป็นความพิการที่ทำให้มีการขับปัสสาวะออกมาได้น้อยกว่าปกติหรือไม่ได้เลย เช่น การที่มีภาวะไตฝ่อทั้ง 2 ข้าง การมีเนื้องอกอุดตันที่ระบบทางเดินปัสสาวะ นอกจากสาเหตุข้างต้น การมีน้ำคร่ำน้อยอาจเกิดจากการที่รกเสื่อมสภาพ จากสาเหตุต่างๆ เช่น คุณแม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ตั้งครรภ์เกินกำหนด ถุงน้ำคร่ำรั่วหรือแตกก่อนกำหนด
น้ำคร่ำน้อยเกินไปขณะตั้งครรภ์ รักษาอย่างไร
การรักษาภาวน้ำคร่ำน้อยกว่าปกติ ต้องทำ 2 ประการใหญ่ คือ ประการแรก ต้องพยายามเพิ่มน้ำคร่ำ โดยการให้น้ำเกลือ เข้าไปในโพรงมดลูก ประการที่สอง หาสาเหตุ และรีบให้การดูแลรักษาตามอาการ เช่น ถ้าพบว่าเกิดจากความพิการของทารกในครรภ์ ต้องดูว่าความพิการนั้นรุนแรงถึงชีวิตหรือไม่ ถ้าใช่ควรยุติการตั้งครรภ์ แต่ถ้าไม่ก็ประคับประคองไปก่อน แล้วรีบให้การรักษาภายหลังคลอด หรือถ้ามั่นใจว่าการมีน้ำคร่ำน้อยเกิดจากการตั้งครรภ์เกินกำหนด ควรยุติการตั้งครรภ์ เพราะถ้าทิ้งไว้นาน ทารกในครรภ์อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
น้ำคร่ำที่หล่อเลี้ยงตัวทารกในครรภ์ไม่ใช่น้ำธรรมดาๆ แต่มีบทบาท หน้าที่หลายประการ รวมทั้งยังเป็นสัญญาณเตือนอันตราย ต่อทั้งตัวคุณแม่และทารกในครรภ์ด้วย ถ้าปริมาณมีมากหรือน้อยเกินไป การตรวจพบสาเหตุรวมทั้งการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง จะช่วยให้คุณแม่และทารกในครรภ์ปลอดภัยได้.
บทความแนะนำสำหรับแม่ตั้งครรภ์
3. 11สาเหตุที่ทำให้แม่ท้องคลอดก่อนกำหนด
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team