น้ำหนักเด็กทารก ควรหนักเท่าไหร่ จึงจะเหมาะสมตามเกณฑ์

25 December 2022
1609 view

น้ำหนักเด็กทารกแรกเกิด 

.

.

การวัดการเจริญเติบโตของทารกด้วยวิธีการชั่งน้ำหนัก ทำให้ทราบว่าน้ำหนักเด็กทารกอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ เพื่อหาสาเหตุในกรณีที่น้ำหนักตัวนั้นน้อยเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตในอนาคต หรือปัญหาสุขภาพที่ลูกกำลังเผชิญอยู่ รวมทั้งเพื่อหาวิธีการดูแลสำหรับทารกที่มีน้ำหนักน้อย อย่างเหมาะสมนั่นเอง ดังนั้นมาดูกันว่าน้ำหนักของเด็กทารกควรเป็นเท่าไหร่

น้ำหนักเด็กทารกแรกเกิด ควรหนักเท่าไหร่

สำหรับน้ำหนักทารกแรกเกิด ที่คลอดตามกำหนด ไม่ใช่คลอดก่อนกำหนดนั้น ควรมีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 2,500 กรัม - 4,000 กรัม จึงจะถือว่าเป็นน้ำหนักปกติสำหรับทารกแรกเกิด ดังนั้นถ้าน้ำหนักเด็กทารกแรกเกิดน้อยกว่า 2,500 กรัม ถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์ปกติหรือ เป็นเด็กน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์นั่นเอง

ลูกน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ จะเป็นอะไรไหม

น้ำหนักเด็กทารกแรกเกิดที่น้อยกว่าเกณฑ์นั้น ส่งผลกระทบต่อตัวทารกโดยตรง เพราะทำให้ทารกมีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิตตั้งแต่แรกคลอด หรือในช่วงขวบปีแรกของชีวิต นอกจากนี้ทารกยังมีโอกาสที่จะติดเชื้อ ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย มีปัญหากับระบบหายใจ เสี่ยงกับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ รวมทั้งมีปัญหาในการดูดนมแม่ ทุพโภชนาการ จนกระทั่งมีพัฒนาการทางด้านสมอง สติปัญญาและร่างกายล่าช้ากว่าเด็กที่มีน้ำหนักตัวแรกคลอดปกติ

สาเหตุที่ทำให้ทารกแรกเกิด น้ำหนักน้อย

สำหรับสาเหตุที่ทำให้น้ำหนักทารกแรกเกิดน้อย นั่นมีทั้งสาเหตุที่เกิดจากแม่และสาเหตุที่เกิดจากตัวลูกเอง ดังต่อไปนี้

1. แม่ท้องขณะที่มีอายุน้อยหรือมากเกินไป 

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อยกว่า 16 ปี อาจท้องด้วยความไม่พร้อม ทำให้ไม่ค่อยใส่ใจในการบำรุงครรภ์เท่าที่ควร ส่วนคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีนั้น อาจต้องเผชิญกับปัญหารกเสื่อม ทำให้เลือดไม่สามารถเข้าไปหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีผลทำให้น้ำหนักเด็กทารกน้อย

2. คุณแม่ตั้งครรภ์แฝด

การตั้งครรภ์แฝด นอกจากจะทำให้ทารกในครรภ์ต้องแบ่งพื้นที่อาศัยภายในมดลูกแล้ว ยังต้องแบ่งอาหารกันด้วย ทำให้ทารกแฝดบางคนตัวใหญ่กว่าอีกคนหนึ่งที่ตัวเล็กและมีน้ำหนักน้อยกว่า

3. ความเจ็บป่วย 

คุณตั้งครรภ์บางคนมีโรคประจำตัว ซึ่งโรคต่างๆ เหล่านี้สามารถส่งผลทำให้ทารกมีน้ำหนักน้อยในยามแรกเกิด เพราะออกซิเจนไปเลี้ยงลูกไม่เพียงพอ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน รวมทั้งการติดเชื้อในขณะตั้งครรภ์ เช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบ หัดเยอรมัน หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ ซิฟิลิส เริม เป็นต้น

4. ความผิดปกติของมดลูก รก และสะดือ

ปัญหามดลูกที่มีรูปร่างผิดปกติ รกเสื่อม รกลอกตัวบางส่วน มีเนื้องอก หรือสายสะดือพันกัน ย่อมส่งผลทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกไม่พอ จึงทำให้เด็กไม่โต

5. ภาวะทุพโภชนาการ

การได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน หรือรับสารอาหารที่ไม่มีประโยชน์ส่งผลต่อน้ำหนักเด็กทารกแรกเกิดทั้งสิ้น

6. ประวัติบุตรคนแรกมีน้ำหนักน้อย 

เมื่อลูกคนแรกของคุณแม่มีน้ำหนักน้อย ก็ทำให้โอกาสที่ลูกคนต่อไปจะมีน้ำหนักน้อยเหมือนพี่ๆ ด้วยนั่นเอง

ดูแลเด็กแรกเกิด ที่น้ำหนักน้อยอย่างไร

เมื่อคุณแม่พบว่าน้ำหนักตัวของทารกอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าปกติ ก็จำเป็นต้องดูแลลูกน้อยเป็นพิเศษดังนี้

  • ดูแลความสะอาด เนื่องจากน้ำหนักเด็กทารกน้อย ทำให้สามารถติดเชื้อได้ง่าย คุณแม่จึงต้องดูแลความสะอาดของทั้งตนเองและลูกเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เช่นควรล้างมือก่อนสัมผัสทารก รวมทั้งดูแลข้าวของเครื่องใช้ของลูกให้สะอาดอยู่เสมอ
  • ให้นมแม่  เนื่องจากทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ จึงมีความต้องการสารอาหารต่างๆ เช่น โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ และแคลเซียมมากกว่าเด็กที่มีน้ำหนักตัวปกติ ดังนั้นลูกควรได้กินนมแม่ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งนมแม่จะช่วยให้ร่างกายของทารกเติบโต และยังช่วยสร้างภูมิคุ้มกันมาต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ได้
  • ดูแลระบบหายใจ จำเป็นที่คุณแม่ต้องดูแลทางเดินหายใจของทารกให้โล่งอยู่เสมอ ด้วยการดูดเสมะที่ค้างในปากและลำคอ หรือถ้าลูกเกิดอาเจียนในระหว่างหรือหลังจากให้นม คุณแม่ต้องดูดเสมหะในปากก่อน แล้วจึงค่อยดูดที่จมูก เพื่อป้องกันการสำลักเข้าหลอดลม ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • ทำร่างกายทารกให้อบอุ่นเสมอ เนื่องจากทารกมีน้ำหนักตัวน้อย ทำให้มีไขมันใต้ผิวหนังน้อยตามไปด้วย ซึ่งส่งผลทำให้เด็กไม่สามารถปรับอุณหภูมิในร่างกายได้ทัน เด็กบางคนจึงต้องอยู่ในตู้อบ ดังนั้นคุณแม่จึงต้องทำให้ร่างกายของทารกอบอุ่นอยู่เสมอ
  • ไล่ลมทุกครั้ง เนื่องจากระบบย่อยอาหารและการดูดซึมสารอาหารยังทำงานได้ไม่ดี ดังนั้นหลังกินนมทุกครั้ง คุณแม่ควรไล่ลมด้วยการจับทารกเรอ ซึ่งจะช่วยป้องกันการสำลักได้ นอกจากนี้ให้จับลูกนอนตะแคงขวาหลังไล่ลมเสร็จ เป็นเวลาครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง เพื่อช่วยในการดูดซึมสารอาหาร และยังทำให้ทารกหลับสบายขึ้น
  • ดูแลพัฒนาการของทารก คุณแม่ควรหมั่นตรวจเช็คน้ำหนักและการเจริญเติบโตของทารกเป็นประจำ รวมทั้งส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมโดยการกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง5 ได้แก่การมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรับรส และการทรงตัว

เมื่อคุณแม่เริ่มรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ควรใส่ใจดูแลตนเองมากกว่าช่วงเวลาปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาน้ำหนักเด็กทารกแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ เช่น เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่มากเพียงพอสำหรับคนท้อง หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ทารกในครรภ์เติบโตช้า หรือคลอดก่อนกำหนด เช่น งดการสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งควรพักผ่อนให้เพียงพอ และไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง 

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. กราฟน้ำหนักเด็กเทียบกับอายุ (Weight-for-age)

2. น้ำหนักเด็กแรกเกิด - 12 เดือนควรขึ้นเดือนละกี่กรัม แม่ต้องเช็ก

3. น้ำหนักลูกขึ้นเดือนละกี่กรัมแม่ต้องเช็ค!!! ลูกตัวเล็ก ลูกตัวใหญ่ เกิดจากอะไรกันแน่

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team