ฝีดาษลิง
.
.
ปี 2022 ปีแห่งโรคอุบัติใหม่ หรือ ปีที่ทำให้เราได้รู้จักกับโรคที่เคยมีอยู่แล้ว แต่มีการระบาดในแถบทวีปอื่นในปีนี้โรคเหล่านั้นก็ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาสู่ชีวิตประจำวันของเรา จนเราต้องทำความรู้จักเพื่อป้องกัน หรือ รักษาเมื่อเกิดโรคนั้น ๆ ขึ้นกับตัวของเราเอง หรือ เกิดขึ้นกับบุคคลที่เรารักและห่วงใย เพราะการรู้ก่อน ย่อมจัดการได้ก่อน ย่อมหายไว และ ทำให้อันตรายที่เกิดจากโรคนั้น ๆ ลดน้อยถอยลงไป โรคต่าง ๆ ที่เรารู้จักกันมากขึ้นก็ได้แก่ โรคโควิด 19 ที่ระบาดอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2019 และมีแนวโน้มที่จะควบคุมได้ดีขึ้นในปี 2022 หรือ โรคไข้หวัดมะเขือเทศที่เปรียบเทียบอาการของโรคกันได้แบบเห็นภาพเลยทีเดียว และโรคที่เราจะมาทำความรู้จักกันในบทความนี้กับโรคฝีดาษลิง เราจะไปทำความเข้าใจกับอาการของโรค และวิธีการติดต่อของโรคเพื่อให้เราสามารถเฝ้าระวังหรือรักษาได้อย่างทันท่วงที
ฝีดาษลิง คืออะไร
โรคฝีดาษลิง หรือ โรคฝีดาษวานร (Monkeypox) จัดเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Orthopoxvirus (เชื้อไวรัสในกลุ่มเดียวที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษหรือโรคไข้ทรพิษ) ซึ่งพบในสัตว์ฟันแทะบนทวีปแอฟริกา โดยสัตว์ฟันแทะสามารถแพร่เชื้อดังกล่าวไปยังสัตว์ชนิดอื่น และ สามารถแพร่เชื้อไปยังคนได้อีกด้วย และมีรายงานพบโรคนี้ครั้งแรกในลิงของห้องทดลองแห่งหนึ่งจึงให้ชื่อโรคนี้ว่าโรคฝีดาษลิง หรือ โรคฝีดาษวานรนั่นเอง (สัตว์ชนิดแรกที่พบรายงานของโรคคือลิง แต่ลิงไม่ใช่สัตว์ชนิดแรกที่แพร่เชื้อ) โรคดังกล่าวนี้มักพบการแพร่ระบาดในพื้นที่แถบแอฟริกากลาง แอฟริกาตะวันตก อเมริกาเหนือ และยุโรป โดยโรคฝีดาษลิงนี้เป็นโรคติดต่อที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อที่ต่ำ และ เป็นโรคไม่ร้ายแรง
อาการของโรคฝีดาษลิง
ก่อนอื่นเราไปพบกับลักษณะอาการของโรคเพื่อจะได้เฝ้าสังเกตอาการให้ตนเอง รวมถึงบุคคลต้องสงสัยในเบื้องต้น และอย่างที่เราทราบกันแล้วว่าโรคฝีดาษลิงเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ดังนั้นจึงต้องมีระยะเวลาการฝักตัวก่อนการแสดงอาการของโรค และระยะฟักตัวนี้ก็จะมีปัจจัยเรื่องปริมาณเชื้อเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยปกติแล้วจะแสดงอาการหลังรับเชื้อ 5 – 20 วัน โดยอาการที่ปรากฎมีดังนี้
- มีอาการไข้ อ่อนเพลีย รวมถึงการปวดหัว ไอ เจ็บคอ และ การปวดเมื่อยเนื้อตัวทั้งกล้ามเนื้อ แผ่นหลังร่วมด้วย ซึ่งอาการแรกนี้เป็นอาการที่ปรากฎร่วมในหลาย ๆ โรค
- มีอาการท้องเสีย และ อาเจียน
- มีลักษณะทางผิวกายปรากฎไม่ว่าจะเป็นรวมถึงอาการคัน หรือ ตุ่มนูนแดง โดยภายในตุ่มเหล่านั้นจะมีน้ำใสอยู่ และอาจพัฒนาต่อไปเป็นหนองได้ โดยตุ่มดังกล่าวจะทำให้เกิดความรู้สึกแสบร้อน และหากตุ่มที่เป็นหนองแตกจะแสบร้อนยิ่งขึ้นแต่จะแห้งและหายได้เอง
- บางรายที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีโรคประจำตัวอาจนำไปสู่การติดเชื้อที่รุนแรง และ เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
วิธีการติดต่อ แพร่เชื้อ
- การติดต่อหรือแพร่เชื้อจากสัตว์ฟันแทะทั้งหนู กระรอก หรือ กระต่าย ไปสู่สัตว์ชนิดอื่นผ่านทางสารคัดหลั่ง หรือ เลือด หรือ รอยกัด
- การติดต่อหรือแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนผ่านทางสารคัดหลั่ง หรือ เลือด หรือ รอยกัด หรือแม้แต่การรับประทานเนื้อสัตว์ที่เป็นโรคซึ่งผ่านการปรุงสุกได้ไม่ดีพอ
- การติดต่อหรือแพร่เชื้อจากคนสู่คน ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งทั้งเลือด น้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่งจากอวัยวะเพศ ส่วนของสารคัดหลั่งและเลือดเหล่านี้อาจมีไวรัสปะปนอยู่จึงสามารถก่อเป็นโรคฝีดาษลิงได้
วิธีการดูแลรักษา
เมื่อคุณหรือคนรอบตัวเป็นโรคฝีดาษลิงแล้ว มีวิธีการดูแลรักษาดังนี้
- เมื่อพบว่าตนหรือคนรอบข้างต้องสงสัยว่าเป็นโรคดังกล่าวให้ทำการแยกตัวออกจากบุคคลอื่น ๆ ก่อน
- เข้าพบแพทย์โดยด่วน เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องและทันท่วงที เพราะโรคดังกล่าวนี้ก็มีอาการคล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ จึงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัย
- ในรายที่ไม่รุนแรงโรคดังกล่าวสามารถหายเองได้ โดยใช้การรักษาตามอาการ
- ในรายที่อาการรุนแรงจะมียากลุ่มที่เรียกว่ายาต้านไวรัสในกลุ่มของฝีดาษคนและฝีดาษลิงที่สามารถใช้ในการรักษาโรคดังกล่าวได้
การป้องกันโรคฝีดาษลิง
เรามาพบกับวิธีป้องกันโรคดังกล่าวนี้ด้วยตนเองกัน
- หมั่นทำความสะอาดมือหลังและก่อนการรับประทานอาหาร การเข้าห้องน้ำ หรือการสัมผัสสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์โดยทั่วไปเสมอ โดยควรใช้สบู่หรือแอลกอฮอล์ร่วมด้วย
- สวมใส่หน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้าเมื่ออยู่ในที่สาธารณะหรือสถานที่ผู้คนแออัด
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโดยใช้วัคซีนเดียวกับวัคซีนโรคไข้ทรพิษ สามารถลดความเสี่ยงและความรุนแรงของโรคได้
คำว่าโรคไม่ว่าใครก็คงไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวของเราเอง หรือ เกิดขึ้นกับบุคคลที่เรารักและห่วงใย โดยเฉพาะเมื่อโรคดังกล่าวเป็นโรคติดต่อด้วยแล้ว และในยุคปัจจุบันที่โรคต่าง ๆ สามารถเกิดการแพร่กระจายข้ามทวีปจากแหล่งกำเนิดของโรคมาได้ง่ายและทำให้ใกล้ตัวคุณขึ้น ตัวคุณเองจึงควรทำความรู้จักกับโรคโดยเฉพาะโรคฝีดาษลิงนี้เพื่อให้สามารถป้องกัน หรือ เข้ารับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญได้อย่างทันท่วงที
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team