ดูแลบาดแผลถูกวิธีป้องกันภาวะโรคแบคทีเรียกินเนื้อ

27 July 2014
757 view

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เชื้อแบคทีเรียที่ทำลายเนื้อเยื่อ หรือแบคทีเรียกินเนื้อคนนั้น เรียกว่าโรคเนโครไทซิง ฟาสซิไอติส (Necrotizing fasciitis) หรือชาวบ้านเรียกว่า โรคเนื้อเน่า จัดเป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนังและชั้นไขมันใต้ผิวหนังอย่างรุนแรง มีอัตราตายและพิการสูง พบมากที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักพบในเกษตรกร ที่ทำไร่ทำนา ซึ่งมีโอกาสเกิดบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ และสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่ในดินหรือในน้ำได้ง่าย ทั้งนี้ ในภาพรวมประเทศไทยมีผู้ป่วยจากเชื้อแบคทีเรียทางผิวหนังประมาณปีละ 100 – 200 ราย อัตราตายร้อยละ 9 – 64 ขึ้นอยู่กับระยะเวลา และความรุนแรง หากมาพบแพทย์เมื่อมีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อกแล้ว จะทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น ช่วงระยะเวลาที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ มี.ค.- มิ.ย. รองลงมาคือ ก.ค.- ต.ค. ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับโรคนี้ โดยเฉพาะการดูแลบาดแผล อาการที่ต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต
คนที่มีความเสี่ยงเกิดโรคเนื้อเน่า คือ ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ หรือเป็นโรคเกี่ยวกับเส้นเลือด เช่น เบาหวาน ไตวาย มะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด ผู้สูงอายุ คนอ้วน ผู้ที่กินยาสเตียรอยด์ หรือยาชุด ผู้ที่ดื่มเหล้าเป็นประจำ เป็นต้น ต้องระวังอย่าให้มีบาดแผล หากมีบาดแผลก็จะต้องดูแลรักษาแผลให้สะอาด และหลีกเลี่ยงให้แผลโดนน้ำหรือดิน เพื่อไม่ให้แผลติดเชื้อลุกลามเป็นโรคเนื้อเน่า” ปลัด สธ. กล่าวด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดี คร. กล่าวว่า โรคเนื้อเน่าส่วนใหญ่จะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และมีอาชีพทำนา ตำแหน่งที่เกิดเกือบครึ่งหนึ่งเกิดที่บริเวณขา รองลงมาเป็นบริเวณเท้า เนื่องจากต้องเดินลุยดงหญ้า นาข้าว เหยียบย่ำโคลนระหว่างทำนา ทำให้มีแผลถูกใบหญ้าใบข้าวบาด กิ่งไม้ข่วน เกิดแผลเล็กๆ จึงไม่ได้ให้ความสนใจทำความสะอาด เมื่อเชื้อโรคที่พบในดินในน้ำทั่วๆ ไปเข้าไปในแผล จะทำให้เกิดการอักเสบ ลุกลามได้ง่าย รายที่รุนแรงที่สุดคือเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะไตวาย และช็อก เสียชีวิตในที่สุด นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า โรคเนื้อเน่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดร่วมกัน เช่น เชื้อสเตรปโตคอคคัส กลุ่มเอ (Streptococcus group A) เชื้อเคลปซิลลา (Klebsiella) เชื้อคลอสตริเดียม (Clostridium) ที่ทำให้เกิดโรคบาดทะยัก เชื้อ อี.โคไล (E.coli) เชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) และเชื้อแอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา (Aeromonas hydrophila) เป็นต้น เชื้อที่พบบ่อยที่สุด คือ สเตรปโตคอคคัส กลุ่มเอ โดยจะปวดแผลมาก แผลอักเสบบวม แดง ร้อนอย่างรวดเร็ว โดยอาการปวดจะรุนแรงมากแม้จะมีบาดแผลเล็กๆ ก็ตาม ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ รวมทั้งมีไข้สูง ผิวหนังที่บาดแผลมีสีคล้ำ ม่วง ดำ หรือมีถุงน้ำเกิดขึ้น หากได้รับการตรวจรักษาที่รวดเร็ว โดยผ่าตัดเอาเนื้อที่เน่าตายออก และให้ยาปฏิชีวนะ จะลดอัตราตายและพิการลงได้จากการสอบประวัติผู้ป่วยโรคเนื้อเน่า พบว่า ส่วนใหญ่มีปัจจัยเสี่ยง คือ มีบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ นำมาก่อน เช่น มีดบาด ตะปูตำ หนามข่วน สัตว์ มดกัด เป็นต้น แล้วปล่อยปละละเลย ไม่ได้ทำความสะอาดแผลอย่างถูกต้อง หรือบางรายใช้สมุนไพรที่ทำเองพอกแผล ทำให้เชื้อโรคเข้าไปในแผลและเข้าสู่กระแสเลือดอธิบดี คร. กล่าวนพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ในการป้องกันโรคดังกล่าว ขอให้ประชาชนดูแลระมัดระวังอย่าให้มีบาดแผลเกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงน้ำท่วม ขอให้ใส่รองเท้าบูตยาว ป้องกันถูกของมีคมทิ่มแทงที่เท้า และป้องกันบาดแผลที่ขา หากมีบาดแผลขอให้หลีกเลี่ยงการลุยน้ำ และทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ และใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพรวิดีน ระวังอย่าให้มีสิ่งสกปรกเข้าไปในบาดแผล โดยเฉพาะบาดแผลที่เกิดจากวัสดุที่สกปรก เช่น ตะปู หนาม ไม้ที่อยู่ในน้ำ ทิ่มแทง ควรรีบไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน และสังเกตอย่างใกล้ชิด หากมีไข้ บวม ปวดแผลมากขึ้นให้รีบปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้ ควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยกินอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ไข่ ปลา เนื้อสัตว์ต่างๆ และผักผลไม้ เพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น หลังเสร็จภารกิจการทำงานในไร่นา หรือหาปลาให้รีบอาบน้ำชำระล้างร่างกายทันที และไม่ควรกินยาชุด หรือซื้อยาลูกกลอน ยาแก้ปวดเมื่อยกินเป็นประจำ เนื่องจากอาจมีสารสเตียรอยด์ผสมอยู่ ซึ่งจะไปกดภูมิต้านทานของร่างกาย ทำให้ติดเชื้อง่าย ไตวายได้

พว.นฤมล  เปรมปราโมทย์  เรียบเรียง
ขอบคุณบทสัมภาษณ์  นพ.โสภณ เมฆธน
ขอบคุณบทสัมภาษณ์  นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข 
ขอบคุณ http://en.wikipedia.org/wiki/Necrotizing_fasciitis 
ขอบคุณ http://static.fjcdn.com/pictures/Necrotizing+Fasciitis_1cf361_4353838.jpg
ขอบคุณภาพประกอบ http://www.scielo.br/scielo.php?pid=s0041-87812001000200005&script=sci_arttext 

  • No tag available