ลูกหายใจเสียงดังขณะหลับและดูดนม เกิดจากอะไร? ต้องทำอย่างไรดี?

30 July 2014
108194 view

ลูกหายใจเสียงดังขณะหลับและดูดนม

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ลูกหายใจเสียงดังขณะหลับและดูดนม

ลูกหายใจเสียงดังขณะหลับและดูดนม มีหลายปัจจัยด้วยกันค่ะ  รายละอียดดังต่อไปนี้

แพ้โปรตีนนมวัว

ทำให้มีอาการคัดจมูกเนื่องจากเยื่อบุโพรงจมูกบวม หรือมีเสมหะในคอ หรือมีปัญหาหลอดลมตีบหายใจหอบเหนื่อยเหมือนคนเป็นโรคหอบหืด ลูกอาจมีผื่นแพ้ที่หน้า ศีรษะ ตามตัว ข้อพับ มีอาการคัน หรือมีอาการแพ้ระบบทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน ท้องเสียบ่อย มักมีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว ตรวจร่างกายพบเยื่อบุโพรงจมูกบวมซีด เสียงเสมหะในทรวงอก หรือเสียงหวีดจากการฟังปอด หากสงสัยภาวะนี้ การรักษา คือการหยุดกินนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว และหากเป็นเด็กที่กินนมแม่ คุณแม่ต้องหยุดกินนมวัวและผลิตภัณฑ์เช่นกัน

กระดูกอ่อนของหลอดลมยังไม่แข็งแรง

กระดูกอ่อนของหลอดลมยังไม่แข็งแรง (laryngomalacia) โดยปกติแล้วกระดูกอ่อนจะช่วยเสริมความแข็งแรงของท่อหลอดลมทำให้ไม่แฟบแบนขณะมีลมหายใจผ่านเข้าออก (เหมือนหลอดกาแฟที่นิ่มมากเกินไปจะแฟบตัวเวลาที่เราดูดน้ำ) แต่จะคงความเป็นท่ออยู่ได้ ทว่าทารกบางคนอาจมีการพัฒนาส่วนกระดูกอ่อนช้ากว่าปกติ ดังนั้นเวลาหายใจเข้าออก ท่อหลอดลมจะแฟบทำให้เกิดเสียงครืดคราดในลำคอได้ ยิ่งเวลาดูดนมต้องหายใจแรงขึ้น เสียงจึงดังชัดเจนยิ่งขึ้น หากจัดให้นอนคว่ำเสียงจะเบาลง ภาวะนี้วินิจฉัยได้จากการตรวจดูการเคลื่อนไหวของท่อหลอดลมโดยคุณหมอหูคอจมูก การรักษา ส่วนใหญ่ไม่ต้องทำอะไร เพราะหายได้เองเมื่ออายุมากขึ้นประมาณ 1-2 ปี

ความผิดปกติแต่กำเนิดของท่อหลอดลมหรือสายเสียง

บางคนมีเส้นเลือดงอกผิดปกติมาอยู่ล้อมรอบท่อหลอดลม บางคนมีเนื้องอกที่กล่องเสียง หรือมีเนื้องอกในช่องทรวงอกแล้วมาเบียดท่อหลอดลม ทำให้หายใจไม่สะดวก เจอได้ไม่บ่อย เด็กอาจมีอาการไอ เสียงแหบร่วมด้วย วินิจฉัยโดยส่องกล้องเข้าไปในท่อหลอดลมหรือเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ การรักษาขึ้นกับสาเหตุ เช่น ผ่าตัดหรือให้ยารักษาเนื้องอก

ภาวะกรดไหลย้อน

ภาวะกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux หรือ GER) เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดรอบหลอดอาหารที่อ่อนแรงกว่าปกติ ทำให้นมและน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่ท่อหลอดอาหาร หรือย้อนขึ้นมาถึงช่วงคอ ทำให้มีเสียงครืดคราดชัดเจนเวลากินนม เด็กมักมีอาการขย้อน แหวะนมหรืออาเจียนบ่อย ร้องกวนงอแง กล้วการกินนม ลำตัวแอ่นเกร็งเวลาดูดนม เพราะมีอาการปวดแสบจากกรดที่ไหลย้อน น้ำหนักตัวขึ้นไม่ดี วินิจฉัยโดยการเอ็กซเรย์กลืนแป้งหรือตรวจวัดความเป็นกรดที่หลอดอาหารหรือทดลองให้ยารักษา แล้วดูการตอบสนองว่าดีขึ้นหรือไม่ รวมถึงแนะนำเรื่องการให้นมอย่างถูกวิธี กินครั้งละน้อยๆแต่บ่อยๆ กินแล้วอุ้มตัวตั้งไว้นานๆ อย่ารีบวางนอนราบ

เพิ่งหายจากเป็นหวัดหรือโรคหลอดลมอักเสบ

ก่อนหน้านี้ลูกมีอาการปกติดี แต่มีอาการเป็นหวัด เช่น อาจมีไข้ น้ำมูก ไอมีเสมหะ ได้พาไปพบหมอแล้ว ได้ยามากินแล้ว อาการดีขึ้น คือ ไข้ไม่มีแล้ว ไม่มีน้ำมูกและไอแล้ว แต่ยังรู้สึกว่าลูกยังมีอาการครืดคราดในคอหรือจมูกอยู่ ที่เป็นเช่นนี้ อธิบายว่า ในกรณีที่เป็นผู้ใหญ่หรือเด็กโต หากมีน้ำมูกหรือเสมหะก้อนสุดท้ายอยู่ในจมูกหรือในคอ จะสามารถสั่งน้ำมูกหรือไอเอาเสมหะออกมาได้ ทำให้หายจากอาการครืดคราดได้เร็ว แต่ในเด็กเล็กๆกำจัดออกมาไม่ได้ ต้องรอให้น้ำมูกหรือเสมหะนั้นค่อยๆเจือจางไปเอง จึงยังมีเสียงครืดคราดอีกระยะเวลาหนึ่ง โดยมากไม่เกิน 2 สัปดาห์

ดื่มนมมากเกินไป

ดื่มนมมากเกินไป (overfeeding) เด็กแรกเกิดจนถึง 3 เดือนแรก เป็นช่วงที่ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่นอกร่างกายแม่ เด็กอาจร้องไห้มากขอดูดนมตลอดเวลา คุณแม่ไม่ทราบว่าร้องไห้เพราะอะไร ก็จะเอานมให้กินทุกครั้ง ผลที่ตามมาคือ ลูกจะมีน้ำหนักตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิน 1 กก.ใน 1 เดือน (ปกติขึ้นเดือนละ 700-800 กรัม) และมีลักษณะ 5 อย่างต่อไปนี้
1. ร้องเสียงคล้ายแพะหรือแกะ(แอะๆๆ แอะๆๆ)
2. ร้องเสียงเอี๊ยดอ๊าดคล้ายเสียงประตูไม้ขยับพร้อมกับมีอาการบิดตัวตลอดเวลา
3. มีเสียงครืดคราดในคอ เพราะน้ำนมจากกระเพาะล้นขึ้นมาอยู่ที่คอหอย
4. อาเจียนหรือแหวะนมบ่อย
5. พุงกางตลอดเวลารูปทรงเป็นลูกน้ำเต้าหรือตุ๊กตาหิมะ หากลูกมีลักษณะดังกล่าว วิธีแก้ไขคือพยายามอย่าให้ลูกกินมากเกินไป ควรเบี่ยงเบนลูกไปทำอย่างอื่นบ้าง เช่น เล่นกับลูก ให้ดูดจุกหลอก หรือแม่ปั๊มนมออกก่อนให้ลูกดูด

พว. นฤมล  เปรมปราโมทย์   เรียบเรียง
ขอบคุณข้อมูล  พญ.สุธีรา  เอื้อไพโรจน์กิจ 
ขอบคุณภาพ ประกอบจากอินเตอร์เน็ต 

  • No tag available