วิธีล้างจมูกเด็กที่ถูกต้อง ของเด็กแต่ละช่วงวัย

20 July 2015
293906 view

วิธีล้างจมูกเด็กที่ถูกต้อง

การล้างจมูกแต่ละช่วงวัยมีจุดประสงค์เดียวกันคือทำความสะอาดโพรงจมูก ลดปริมาณน้ำมูกที่คั่งค้างๆภายในรูจมูกให้ลูกหายใจได้สะดวกมีการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนที่ดี และป้องกันการอุดกั้นทางเดินหายใจ เสี่ยงต่อภาวะพร่องออกซิเจนในทารก

ลูกอาจเสียชีวิตถ้าไม่ล้างจมูก

อาจฟังดูเป็นเรื่องที่หดหู่และน่ากลัวเเต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ในฤดูฝน มักพาโรคภัยหลายๆอย่างตามมาด้วย การเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในฤดูกาลนี้ได้แก่ หวัด ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ทั้ง 3 อย่างที่กล่าวมาอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสต่างชนิดกัน ความรุนแรงแตกต่างกันออกไป อย่างที่ทราบไม่มียาชนิดไหน กำจัดเชื้อหวัดได้ทุกสายพันธุ์เพราะไวรัสจัดเป็นเชื้อโรคที่เก่งกาจสามารถจำลองดีเอ็นเอและสร้างสายพันธุ์ใหม่ๆขึ้นมาได้ตลอดเวลา อาการหวัดมักทำให้เด็กๆมีน้ำมูก น้ำมูกหากอัดแน่นในโพรงจมูกลูกโดยไม่ได้ระบายออกลูกรักอาจเสียชีวิตจากทางเดินหายใจถูกอุดกั้น อย่ากลัวที่จะล้างจมูกให้ลูก คุณแม่มือใหม่ต้องมั่นใจล้างจมูกลูกให้เป็น

วิธีล้างจมูกเด็กที่ถูกต้อง

วิธีล้างจมูกเเบ่งเป็น 3 ช่วงวัยดังต่อไปนี้

การล้างจมูกเด็กอ่อน 0 –  6 เดือน

ในเด็กอ่อน จะใช้วิธีการเช็ดจมูกมากกว่าการสวนล้าง หากมีน้ำมูกมากต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและให้พยาบาลเป็นผู้ดูดด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อลดการระคายเคืองของเยื่อบุโพรงจมูก ในเด็กเล็กที่มีน้ำมูกไม่มากคุณแม่สามารถกำจัดน้ำมูกให้ลูกได้เองดังนี้

อุปกรณ์ล้างจมูกเด็กอ่อน

  1. น้ำเกลือนอร์มัลซาไลน์
  2. ไซริงค์ 3- 5  ซีซี
  3. ลูกยางสะอาด
  4. ผ้าห่อตัว

วิธีล้างจมูก + ดูดน้ำมูกทารก

  1. ห่อตัวทารก เพื่อป้องกันการขยับไปมา
  2. อุ้มในท่าศีรษะสูงเล็กน้อย หยดน้ำเกลือ 2-3 หยด ในจมูกข้างที่มีน้ำมูกหรือทั้ง 2 ข้าง ปล่อยไว้นาน 5 – 10 นาที จนน้ำมูกอ่อนตัว
  3. ใช้ลูกยาง ดูดน้ำมูกในโพรงจมูกออกให้หมด
  4. ใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำเกลือแล้วเช็ดในรูจมุกอีกครั้งหลังดูดน้ำมูกเสร็จ

หลังดูดน้ำมูกเสร็จ สิ่งสำคัญคือ ต้องล้างทำความสะอาดลูกยางแล้วตากให้แห้ง เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรค และเข้าสู่ร่างกายลูกหากต้องใช้เป็นประจำ ควรดูดน้ำมูกลูกวันละ 1-2 ครั้ง หากพบว่าปริมาณน้ำมูกมีมากขึ้นควรปรึกษาแพทย์ผู้เชืี่ยวชาญทันที

การล้างจมูกเด็กเล็ก 6 เดือนขึ้นไป

เด็กเล็กในที่นี้คือ 6 เดือนขึ้นไป เด็กวัยนี้กระดูกคอเริ่มแข็งแรงเด็กคว่ำได้เองแล้ว คุณแม่สามารถอุ้มลูกในท่าคว่ำได้โดยไม่อันตราย การล้างจมูกจึงแตกต่างจากวัยทารก แนะนำล้างวันละ 2 ครั้ง หากมีน้ำมูกมากขึ้นควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะเป็นหวัดเรื้อรังเกิน 1 สัปดาห์และเป็นหวัดบ่อย อาจมีปัญหาเรื่องภูมิแพ้ได้

อุปกรณ์ล้างจมูกเด็ก 6 เดือนขึ้นไป

  1. น้ำเกลือนอร์มัลซาไลน์
  2. ไซริงค์ 10 ซีซี ( เหมาะมีอที่สุด ใช้ดีที่สุด ) หรืออาจเป็นลูกยางสะอาด
  3. ผ้าห่อตัว

วิธีล้างจมูกเด็ก 6 เดือนขึ้นไป

  1. ห่อตัวหากลูกดิ้นมาก
  2. อุ้มลูกในท่าอุ้มลูกฟุตบอลหรือท่ารักบี้หนีบไว้ด้านข้างคว่ำหน้าลง มือประคองที่ใต้คางไว้ให้มั่นคง
  3. ดูดน้ำเกลือให้เต้มไซริงต์หรือลูกยาง (เตรียมไว้ก่อนจะดีกว่า)
  4. ฉีดน้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูกลูกข้างใดข้างหนึ่งก่อน การฉีดให้ฉีดต่อเนื่องครั้งเดียว น้ำเกลือและน้ำมูกจะไหลออกมาจากโพรงจมูก ปล่อยให้ลูกได้พักหายใจแล้วทำซ้ำจนกว่าจะสะอาด

การล้างจมูกเด็กโตและวัยผู้ใหญ่

ในเด็กโตจะไม่ใช้ลูกยางดูดแล้ว เพราะมีวิธีที่ดีกว่า สามารถลดน้ำมูกได้ดีกว่าคือ การล้างจมูก การล้างจมูกทำได้ไม่ยาก ดูครั้งแรกอาจจะดูหวาดเสียวสำหรับคุณแม่มือใหม่ อยากรู้ว่าลูกจะรู้สึกอย่างไร แนะนำให้ทำกับคุณแม่ก่อนค่อยไปทำกับลูกนะคะ ขั้นตอนมีดังต่อไปนี้ค่ะ

อุปกรณ์ล้างจมูกเด็กโตและผู้ใหญ่

  1. น้ำเกลือนอร์มัลซาไลน์
  2. ไซริงค์ 10 -20 ซีซี
  3. ผ้าเช็ดหน้า

วิธีล้างจมูกเด็กโตและผู้ใหญ่

1.ให้ลูกนั่งในท่าทีสบายมองตรง หรือในก้มหน้าเล็กน้อยเพื่อให้น้ำเกลือ และน้ำมูกไหลออกมาจากจมูกได้สะดวก แนะนำนั่งในห้องน้ำ เพื่อไม่ให้เลอะเปียก

2.ฉีดน้ำเกลืออย่างต่อเนื่องจนหมดในครั้งเดียว ช่วงทำแนะนำเด็กกลั้นหายใจ

3.หลังฉีด อาจสั่งน้ำมูกเป็นจังหวะเบาๆเพื่อให้น้ำมูกไหลออกมามากขึ้น

4.ทำซ้ำจนกว่าโพรงจมูกจะสะอาด

คุณแม่ทราบขั้นตอนที่ถูกต้องแล้ว หวังว่าลูกๆที่บ้านที่เป็นหวัดอยู่ ณ ตอนนี้ คงหายใจโล่งกันทุกบ้านแล้วนะคะ เพราะคุณแม่คือพยาบาลคนแรกของลูก ต้องดูแลลูกให้ถูกวิธีนะคะ

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. ควรล้างจมูกเด็กบ่อยแค่ไหนแม่ต้องรู้

2. เทคนิคดีๆเพื่อช่วยให้ลูกน้อยหายใจโล่ง

3. 10 ผัก ผลไม้ วิตามินซีสูง ช่วยลูกน้อยต้านหวัดปลายฝนต้นหนาว

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

ขอบคุณคลิป  : punkkyja