การดูแลแผลฝีเย็บให้หายเร็วใน 2 วัน ไม่บวม ไม่เจ็บ ไม่ติดเชื้อ

02 December 2017
156343 view

แผลฝีเย็บ

สูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์จะทำการตัดบริเวณฝีเย็บเพื่อขยายปากช่องคลอดซึ่งจะทำในระยะคลอดซึ่งแผลดังกล่าวมักถูกตัดโดยกรรไกรผ่าตัดเมื่อฝีเย็บยืดและตึงเมื่อศีรษะ ทารกโผล่ให้เห็นที่ปากช่องคลอด จุดประสงค์หลักของการตัดฝีเย็บก็เพื่อที่จะเพิ่มความกว้างของช่องทางคลอด เพื่อช่วยคลอด ลดระยะเวลาในระยะคลอด และเพื่อป้องกันการฉีกขาดเองของฝีเย็บ

ตำแหน่งฝีเย็บที่นิยมตัด

โดยทั่วไปแล้ว มี 2 วิธีที่ใช้กันทั่วไป คือ Median episiotomy และ Mediolateral episiotomy

  • Median episiotomy  (รูปหมายเลข1 ) เป็นวิธีที่นิยมใช้ทั่วไปในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากง่ายต่อการทำและซ่อมแซม และมีรายงานว่าความเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ในช่วงหลังคลอดน้อยกว่าอีกวิธี แต่ Median episiotomy มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นที่จะเกิดการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ หูรูดรูทวารและไส้ตรง (Third-fiurth degree tears)(6-9)
  • Mediolateral episiotomy (รูปหมายเลข 4 ) คือ วิธีที่มีการตัดบริเวณฝีเย็บอย่างน้อย 45 องศาจากกึ่งกลาง เป็นวิธีที่นิยมใช้ทั่วไปในประเทศอื่นๆนอกจากสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นวิธีที่เพิ่มความกว้างของช่องทางคลอดได้มากที่สุด และมีรายงานว่าทำให้เกิดการฉีกขาดรุนแรงของช่องคลอดน้อยกว่าวิธีแรก แต่ข้อเสียของวิธีนี้คือ ยากต่อการซ่อมแซม เสียเลือดมากกว่า และมีอาการเจ็บปวดหลังคลอดมากกว่า

นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นๆที่ไม่ได้เป็นที่นิยมแพร่หลาย เช่น

  • J incision (รูปหมายเลข3) ซึ่งเป็นการตัดฝีเย็บที่ คล้ายรูปตัว”J” วิธีนี้ยังไม่เป็นที่นิยมและยังไม่มีงานวิจัยที่แน่นอนรองรับ
  • Inverted T incision (รูปหมายเลข1 + 2) เป็นการตัดฝีเย็บที่มีทำหลังการตัดวิธี Median episiotomy เพื่อเพิ่มความกว้างของช่องทางคลอด ซึ่งไม่เป็นที่นิยม
  • Lateral episiotomy (รูปหมายเลข5)  คือการตัดฝีเย็บที่จุดเริ่มต้น 1-2 เซนติเมตรจากจุดกึงกลางฝีเย็บไม่เป็นที่นิยม

การตัดแผลฝีเย็บในคุณแม่คลอดเอง

หลังภารกิจคลอดลูกที่ยิ่งใหญ่ผ่านพ้น บริเวณที่บอบบางอย่างฝีเย็บควรได้รับการใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะช่วงหลังคลอดอาจจะยังมีอาการบวมอยู่บ้าง แต่ก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น หากมีการดูแลอย่างถูกวิธีค่ะ

การดูแลแผลฝีเย็บอย่างถูกวิธี

1.ดูแลแผลฝีเย็บด้วยการประคบเย็น

หลังคลอดวันแรก แผลที่เย็บจะยังมีอาการบวม และค่อนข้างเจ็บมากอยู่สักหน่อย แต่เราบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ ด้วยการใช้น้ำแข็งประคบ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เจ็บน้อยลงแล้ว ยังลดอาการบวมได้ด้วยค่ะ หลังจากนี้ถ้าคุณแม่ยังมีอาการปวดอยู่ คงต้องพึ่งพาพาราเซตามอลบ้างแล้วล่ะ ยาตัวนี้ไม่มีผลต่อการให้นมลูกค่ะ

2.ที่รองนั่ง อีกหนึ่งตัวช่วยลดอาการเจ็บแผลฝีเย็บ

หากมีอาการเจ็บมากจนนั่งไม่สะดวก เห็นทีต้องมองหาตัวช่วยบ้างแล้ว เจ้าหมอนโดนัทอันโตหรือห่วงยางอันเล็กสำหรับคนเป็นริดสีดวงช่วยได้ดี คุณแม่นำมารองนั่งแล้วรู้สึกดีขึ้น เพราะบริเวณฝีเย็บเวลาเจ็บจะเจ็บมากเพราะเป็นบริเวณที่ไวต่อความรู้สึก แต่จะหาย 3 – 4 วันเท่านั้นก็หายเจ็บแล้ว ซึ่งมักจะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์แผลจะหายสนิท จนจำไม่ได้ว่า เคยเป็นแผลตรงนี้มาก่อนเลย

3.ดูแลแผลฝีเย็บด้วยการทำความสะอาดอย่างถูกวิธี

ควรเช็ดทำความสะอาดฝีเย็บวันละประมาณ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันการอักเสบและติดเชื้อ เพียงใช้สำลีชุบน้ำอุ่นเช็ดทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลังอย่างเบามือ แล้วซับให้แห้ง เวลาที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือตอนอุจจาระ ท่องไว้ว่าเช็ดจากหน้าไปหลังเท่านั้น ย้อนศรเมื่อไรมีหวังแผลติดเชื้ออักเสบได้ง่าย ๆ ส่วนเวลาใช้สายชำระ อย่างที่ทราบกันดีว่ามีระดับความเบา – แรงของน้ำแต่ละที่ต่างกัน เพื่อความปลอดภัยควรทดลองฉีดก่อน และควรหลีกเลี่ยงการฉีดน้ำโดนแผลโดยตรง เพราะอาจทำให้แผลฝีเย็บแยกหรือปริได้ หากมีน้ำคาวปลาออกมามาก ก็ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ เพื่อให้แผลแห้งสะอาดอยู่เสมอ ลดการสะสมของเชื้อโรค ความชื้น และการติดเชื้อที่อาจตามมาได้

4.ดูแลแผลฝีเย็บให้หายเร็ว ด้วยการ เดิน-นั่ง ให้ถูกวิธี

หลายคนเผลอตัวด้วยความเคยชิน ถึงเวลานั่งปั๊บ ฉีกขาเตรียมขัดสมาธิ แต่หลังคลอดช่วงแรก ๆ จะทำแบบนั้นไม่ได้ค่ะ เพราะแผลฝีเย็บที่ยังบอบบาง คุณแม่จะต้องระมัดระวังท่านั่งอยู่เสมอ ช่วงนี้เป็นกุลสตรีนั่งพับเพียบเรียบร้อยไปก่อนจะปลอดภัยกว่า ป้องกันแผลตึงและเจ็บค่ะ ส่วนท่าทางการเดินอาจไม่สวยงามนัก เพราะขาต้องแยกออกจากกันเล็กน้อย ประเภทซอยเท้าเดินไขว้ขาเป็นนางแบบเก็บไว้เดินตอนแผลหายสนิทดีกว่า เพราะการเดินแบบนี้จะทำให้แผลฝีเย็บเบียดและเสียดสีกันจนเจ็บมากกว่าเดิมค่ะ
เป็นอย่างไรบ้างคะคุณแม่ การดูแลแผลฝีเย็บให้หายเร็วใน 2 วัน ไม่บวม ไม่เจ็บ ไม่ติดเชื้อ ทำได้ง่ายๆ รับรองว่าแผลฝีเย็บจะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับคุณแม่แน่นอนค่ะ แต่อย่าลืมนะคะ ว่าการสังเกตแผลฝีเย็บเป็นเรื่องที่แม่ ๆ หลังคลอด ควรใส่ใจ หากแผลฝีเย็บมีอาการบวมแดง  แผลแยกออกจากกัน มีเลือดไหล หรือรู้สึกตึงปวดและมีอาการไข้ร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณว่า แผลเกิดการอักเสบ คุณแม่ควรไปรีบพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาทันทีค่ะ