ลูกติดจุก ติดขวด แก้อย่างไรให้สำเร็จ

10 January 2016
6297 view

ลูกติดจุก

ลูกน้อยพึ่งแรกคลอดมีปฏิกิริยา ปฎิเสธเต้านม เมื่อได้ดื่มนมจากจุกเพียงครั้งเดียว ทำไมลูกน้อยถึงเปลี่ยนไปได้ถึงขนาดไม่ยอมดูดนมแม่อีกเลย ปัญหาดังกล่าวเกิดจากความเข้าใจผิดๆ ว่า การดูดนมแม่จากเต้าแม่ก็เหมือนกับการกินนมแม่จากขวด ทารกที่กินนมจากขวดตั้งแต่อายุน้อยกว่า1เดือน จะมีปัญหาในการดูดนมแม่ เพราะหัวนมแม่และจุกนมขวดมีกลไกลการดูดที่แตกต่างกัน ทำให้ลูกสับสนได้ ดังนี้

ติดจุกแก้ได้อย่างไรให้สำเร็จ

  1. เพราะทารกต้องฝึกฝนทักษะการดูดกินนมจากเต้าแม่ในช่วง 1 เดือนแรก จึงไม่ควรให้ทารกกินนมจากจุกนมยางในช่วงอายุน้อยกว่า 1-2 เดือน (รวมถึงจุกนมหลอก หรือ pacifier ด้วย)
  2. แม่หลายคนที่ต้องกลับไปทำงานอาจกังวลเรื่องลูกติดเต้า ไม่ยอมกินนมจากขวดระหว่างแม่ไปทำงาน จึงต้องการฝึกให้ลูกยอมรับขวดตั้งแต่วัยเพียงไม่กี่สัปดาห์ แต่วิธีนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาติดจุกได้ เพราะเมื่อลูกติดจุกและไม่ยอมดูดจากเต้า ปัญหาอื่นๆ อาจจะหนักกว่ากับการอดทนฝึกให้ลูกกินจากขวดหรือวิธีอื่นๆ (แก้ว/ ช้อน/ หลอด) ตอนลูกอายุ 2-3 เดือน

แก้อาการติดจุกให้ลูกน้อยหายจากภาวะสับสน

  1. งดขวด จุกนมยาง จุกนมหลอก
  2. ป้อนนมลูกด้วยวิธีอื่น เช่นป้อนนมด้วยแก้ว ป้อนนมด้วยช้อน จากเเรกเกิด – 1 เดือน
  3. อุ้มลูกบ่อยๆ ให้ลูกเคยชินกับไออุ่นจากอกแม่
  4. ให้ลูกกินนมจากอกเมื่อลูกอารมณ์ดี ไม่หงุดหงิด อย่ารอให้ลูกหิวจัด
  5. เช็คดูว่าลูกกินนมถูกวิธีหรือไม่ อ้าปากกว้างก่อนงับ และอมถึงลานนมหรือไม่
  6. นวดประคบเต้านมก่อนให้ทารกดูด ทารกที่ติดจุกจะพอใจเมื่อดูดปุ๊บ น้ำนมไหลปั๊บ จะยอมรับเต้านมแม่ง่ายขึ้น
  7. ใช้อุุปกรณ์เสริม เช่น ดรอปเปอร์หรือไซริงค์หยอดน้ำนมที่มุมปากของลูกทันทีเมื่อลูกเข้าเต้า ก่อนที่ลูกจะหงุดหงิดไม่ยอมรับเต้าแม่
  8. ปรึกษาคลินิคนมแม่ หรือแม่อาสา

ทุกสิ่งทุกอย่างจะสำเร็จ ขึ้นอยู่กับความสตรองของแม่ด้วยนะคะ อย่าเผลอใจอ่อนสงสารลูกขึ้นมาล่ะ เพราะหากเจ้าตัวน้อยของคุณเกิดติดจุกขึ้นมาแล้วล่ะก็....งานนี้ยาวแน่ค่ะ

บทความแนะนำเพิ่มเติมสำหรับคุณแม่  

1. เทคนิคเลิกขวดนมได้ผลเกินคาด

2. วิธีสังเกตจุกนมเสื่อม ขวดนมเสื่อม

3. ลูกสับสนติดจุก ติดขวด แก้อย่างไรให้สำเร็จ

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team