เบาหวานขณะตั้งครรภ์ แม่ท้องต้องระวัง!!

23 February 2012
5355 view

เบาหวานขณะตั้งครรภ์

.

.

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจเกิดขึ้นเองในขณะที่คุณแม่ตั้งครรภ์ได้ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ไม่พบว่าเป็นเบาหวาน แต่พอคลอดบุตรแล้วภาวะเบาหวานนี้ก็จะหายไปเอง ซึ่งแตกต่างจากคุณแม่ที่มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวานอยู่ก่อนแล้วมาตั้งครรภ์ เพราะในกรณีหลังนั้นเมื่อการตั้งครรภ์สิ้นสุดลงโรคเบาหวานก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีสาเหตุเกิดจาก

ภาวะเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์นี้เกิดจากการที่คุณแม่ตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน คือมีการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์บางชนิด ซึ่งส่งผลให้เซลล์ต่างๆของร่างกายมีการตอบสนองต่ออินซูลินน้อยลง จึงส่งผลให้เซลล์นำน้ำตาลไปใช้ได้น้อย ก็เลยมีน้ำตาลเหลืออยู่ในเลือดมาก เมื่อเจาะเลือดไปตรวจก็จะพบว่ามีระดับน้ำตาลสูง เหมือนกับผู้ป่วยเบาหวาน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์เหล่านี้ก็เพื่อให้ทารกได้รับน้ำตาลอย่างพอเพียงนั่นเอง ภาวะนี้จึงพบได้บ่อยๆในหญิงตั้งครรภ์ อุบัติการณ์ที่พบในประเทศไทยมีประมาณ 1-14 % แต่ในบางครั้งการที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากเกินไปต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน ก็จะส่งผลเสียต่อทั้งคุณแม่และทารกได้ ผลที่เกิดขึ้นในคุณแม่ก็จะมีอาการเช่นเดียวกับคนเป็นเบาหวาน นั่นคืจะมีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน ความดันโลหิตสูง อย่างไรก็ตามภาวะเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงที่ตั้งครรภ์เท่านั้น หลังจากการคลอดทารกออกมาแล้วร่างกายคุณแม่ก็จะปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้เอง ส่วนผลที่เกิดกับทารกก็คือทารกมีการเจริญเติบโตมากทำให้มีขนาดตัวใหญ่กว่าเกณฑ์ตามอายุครรภ์ และอาจเกิดภาวะขาดน้ำตาลได้หลังคลอด ส่วนในรายที่เป็นมากโดยที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ และเป็นในระยะที่ทารกกำลังสร้างอวัยวะ ก็อาจส่งผลให้ทารกเกิดความพิการได้

คุณแม่ที่มีความเสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

คุณแม่ที่มีความเสี่ยงว่าจะเป็นเบาหวานในขณะตั้งครรภ์หรือไม่ มีข้อสังเกตดังต่อไปนี้

  1. คุณแม่มีประวัติว่าญาติหรือบุคคลในครอบครัวที่มีสายเลือดเดียวกันเป็นเบาหวาน
  2. คุณแม่ที่เคยมีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อน
  3. คุณแม่ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง
  4. มีน้ำตาลในปัสสาวะติดต่อกัน 2 ครั้งในระหว่างการตั้งครรภ์
  5. มีภาวะน้ำคร่ำมากกว่าปกติ
  6. คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
  7. คุณแม่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปหรืออ้วนมาก
  8. คุณแม่ที่เคยคลอดบุตรมาแล้วหลายคน
  9. เคยคลอดลูกที่มีน้ำหนักมาก ตั้งแต่ 4,000 กรัมขึ้นไป ในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน
  10. เคยแท้งบุตรบ่อย ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุติดต่อกันเกิน 3 ครั้งขึ้นไป
  11. เคยตั้งครรภ์แล้วลูกเสียชีวิตในครรภ์ เสียชีวิตตอนคลอด หรือเสียชีวิตแรกคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ

ทราบได้อย่างไรว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

คุณแม่ที่เป็นเบาหวานในขณะตั้งครรภ์จะมีอาการคล้ายกับคนที่เป็นโรคเบาหวาน คือ หิวบ่อย, กินเก่ง, กระหายน้ำบ่อย, ปัสสาวะบ่อย และอาจมีอาการอ่อนเพลียมากกว่าปกติ เมื่อไปฝากครรภ์แพทย์จะตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะ หากไม่ได้รับการรักษาและควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติ คุณแม่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้

การดูแลรักษาคุณแม่ที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ได้แก่การดูแลเรื่องอาหาร การควบคุมระดับน้ำตาล และตรวจหาภาวะแทรกซ้อนต่างๆ การตรวจอัลตร้าซาวด์ และการทำ Non Stress Test อย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งจำเป็นในการประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์ นอกจากนี้คุณแม่ยังต้องได้รับการฉีดยาอินซูลินซึ่งความต้องการอินซูลินนั้นมักจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุครรภ์

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. วิธีทดสอบเบาหวานขณะตั้งครรภ์

2. สุกใสในหญิงตั้งครรภ์ อันตรายกว่าที่คิด

3. ตกขาวขณะตั้งครรภ์อันตรายหรือไหมและรักษาอย่างไร

เรียบเรียงโดย : Mama Expert Editorial Team