สปส. นำร่องทำฟันไม่ต้องสำรองจ่าย เริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค.นี้ จัด 30 หน่วยรักษารองรับทั้ง กทม. 12 ต่างจังหวัด 18 พร้อมโปรยยาหอมเครือข่ายผู้ประกันตนฯ เพิ่มเงินสิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรม คาดสรุปเสนอบอร์ด สปส. เดือน ก.ค. นี้
วันนี้ ( 6 มิ.ย.) ที่ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงข้อเรียกร้องเรื่องการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมโดยผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่ายเงินไปก่อนว่า กรณีนี้ เบื้องต้น ทาง สปส. จะให้มีการนำร่องใช้สิทธิด้านทันตกรรมโดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงินภายใต้วงเงินปีละ 600 บาทใน 30 หน่วยรักษาทั่วประเทศ แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 12 หน่วยและที่เหลืออีก 18 หน่วยกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ เช่น สมุทรปราการ เชียงใหม่ โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. นี้
ส่วนความคืบหน้าการพิจารณาเพิ่มวงเงินสิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรมให้มากกว่า 600 บาทต่อปี หลังจากมีข้อเรียกร้องจากเครือข่ายผู้ประกันสังคมคนทำงาน(คปค.) เครือข่ายฟ.ฟันสร้างสุขและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพว่า เรื่องนี้ยังอยู่ในการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการการแพทย์ (บอร์ดแพทย์) ขณะเดียวกัน สปส. พิจารณาเรื่องนี้ควบคู่ไปด้วย โดยจะศึกษาความเป็นไปได้ ซึ่งต้องวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นและความสามารถในการจ่ายของกองทุนประกันสังคม แต่คาดว่าจะสามารถเพิ่มได้มากกว่า 600 บาทต่อปี คาดว่าจะได้ข้อสรุปและเสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ในเดือน ก.ค. นี้
รายงานข่าวระบุว่า ที่ผ่านมากลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายต่างๆ ได้แชร์เฟซบุ๊กจัดแคมเปญทางเว็บไซต์ www.change.org โดยมีข้อความระบุว่า “สปส.ฟังทางนี้ สิทธิประโยชน์ทันตกรรมต้องเท่าเทียม อุด ขูด ถอน ผ่าตัดฟันคุด และฟันเทียมต้องใช้ได้ตามความจำเป็น ไม่ต้องสำรองจ่าย ไม่ต้องจ่ายเพิ่มส่วนเกินเอง ต้องเข้ารับบริการได้ทั้งคลินิกรัฐและเอกชน” โดยทั้งนี้ ได้มีการสำรวจความเห็นของผู้ประกันตนเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมในประเด็นนี้ ซึ่งผู้ประกันตนส่วนมากเห็นด้วยให้มีการปรับแก้ไข
ขอบคุณที่มาจาก tnews.co.th