ภาวะทารกหยุดหายใจขณะหลับ
ข่าวคราวเรื่องการเสียชีวิตของลูกวัยทารกเพราะนอนท่าคว่ำได้ยินมาเป็นระลอก ๆ สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คนทุกครั้ง เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น ถ้าไม่ใช่เพราะความประมาท เนื่องจากหนูน้อยวัยทารกยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องพึ่งพิงผู้ใหญ่ชนิดร้อยเปอร์เซ็นต์ ฉะนั้น ถ้าพ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็ก ขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ย่อมนำมาซึ่งเหตุการณ์แห่งความประมาท
4 สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะทารกหยุดหายใจขณะหลับ
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะทารกหยุดหายใจขณะหลับ sudden infant death syndrome (SIDS) มีดังนี้
1. หายใจไม่ออก จากการที่จมูกหรือปากถูกทับไว้
2.ที่นอนนิ่มเกินไป ทำให้เด็กหน้าจมไปกับที่นอน และเด็กยังไม่สามารถยกศีรษะให้พ้นที่นอนได้
3. มีผ้า หรือหมอนอยู่ใกล้ ๆ เมื่อเด็กขยับตัวอาจจะไปปิดหน้าเด็ก ทำให้เด็กหายใจไม่ออก
4. กดทับกระเพาะอาหาร น้ำนมอาจจะยังย้อนออกมา และสำลักเข้าไปในปอดได้
คุณพ่อคุณแม่บางคนนิยมให้ลูกนอนคว่ำ เพราะอยากให้รูปหัวของลูกรักสวยทุย ไม่แบน ในขณะที่บางคนก็กลัวลูกผวา อยากให้ลูกนอนนาน ๆ ก็จะให้ลูกนอนคว่ำในขณะที่พ่อแม่หลายคนและทางทางการแพทย์แนะนำให้เด็กนอนหงายเพราะหายใจโล่งสะดวก แต่ก็มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเพราะเด็กกลุ่มนอนหงายตลอด รูปกระโหลกแบนไม่สวยงาม เพื่อความสบายใจและความปลอดภัยของลูก เมื่อคุณพ่อคุณแม่ให้ลูกนอนในท่าต่างๆ ควรดูแลให้ถูกต้องดังนี้
1. ให้ลูกนอนหงาย ก็ต้องระวังเรื่องน้ำนมอาจไหลย้อนขึ้นมา และทำให้ลูกสำลักได้เช่นกัน ฉะนั้นหลังให้นมทุกครั้งคุณแม่ควรอุ้มลูกพาดบ่า หรือจับลูกนั่งหลังตรง ก่อนสัก 5 - 15 นาที เพื่อให้ลูกเรอ เป็นการไล่ลมในกระเพาะอาหาร ก่อนแล้วจึงให้นอน
2.ให้ลูกนอนตะแคง การนอนตะแคงก็มีข้อควรระวังอยู่เช่นกัน ถึงแม้ว่าไม่มีรายงานว่าการนอนตะแคง จะทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับเหมือนกับการนอนคว่ำก็ตาม และ สิ่งที่ต้องระวังก็คือเมื่อให้ลูกนอนตะแคง ต้องดูตำแหน่งแขนด้านล่างของลูกว่าไม่ทับไปทั้งแขน ต้องดูด้วยว่าแขนลูกด้านล่าง อยู่ต่ำ และยื่นไปข้างหน้ามากพอที่จะไม่พลิกตัวนอนคว่ำหน้าลงไปได้เอง ทางที่ดีคุณอาจจะหาหมอนข้าง หรือนำผ้าขนหนูมาม้วนๆ ดันหลังลูกเอาไว้
3. ให้ลูกนอนท่าคว่ำหน้า สามารถทำได้ แต่ควรจัดให้ลูกนอนคว่ำในช่วงเวลาที่ลูกตื่นอยู่ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของลูก ให้ได้ชันคอ ฝึกพลิกตัว และเป็นการนวดท้องไปในตัว ที่สำคัญต้องมีผู้ใหญ่อยู่ใกล้ชิดลูกตลอดเวลา
ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เกี่ยวกับเรื่องการนอนอย่างปลอดภัย มาฝากเพื่อนผู้อ่านถึงเรื่องการดูแลเรื่องท่านอนของเจ้าหนูน้อยวัยทารกอย่างถูกวิธี
1.จัดให้ลูกนอนท่าหงาย
2.เด็กอายุ 2 ปีแรกควรนอนเตียงเด็กที่ได้มาตรฐาน หากไม่ใช้เตียง ให้ใช้เบาะนอนเด็กแยกนอนจากเบาะผู้ใหญ่
3.เบาะนอนที่ดีต้องมีความแข็ง ไม่หนาและอ่อนนุ่มจนเกินไป เพราะเมื่อเด็กพลิกคว่ำอาจกดทับการหายใจ โดยเฉพาะเด็กอายุ 4-6 เดือนที่คว่ำเองได้ แต่หงายเองไม่ได้
4. หมอนต้องไม่อ่อนนุ่ม และใบใหญ่เกินไป เพราะอาจกดทับหน้า ปิดจมูกได้
5. การจัดวางระหว่างเบาะกับกำแพงต้องไม่มีช่องว่างมากกว่า 6 เซนติเมตร ซึ่งอาจเกิดการติดค้างของศีรษะได้
6. อย่าวางผ้าห่ม หรือกองผ้าไว้ใกล้ศีรษะเด็ก
เพื่อความปลอดภัยของลูก คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกนอนวัยแบบเบาะที่ยังคอไม่แข็งนอนคนเดียว เพราะอาจเกิด เรื่องที่ไม่คาดคิดขึ้นกับลูกรักได้
บทความแนะนำเพิ่มเติม
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team