การแบ่งไตรมาสของการตั้งครรภ์ และข้อควรระวังของแม่ท้องแต่ละไตรมาส

16 November 2016
122802 view

การแบ่งไตรมาสของการตั้งครรภ์

ทางการแพทย์แบ่งการตั้งครรภ์ออกเป็น 3 ไตรมาส รวมระยะเวลาการตั้งครรภ์ทั้งหมด 9 เดือนหรือ 40 สัปดาห์ หรือ 280 วัน แต่คุณแม่บางคนอาจตั้งครรภ์อาจยาวนานถึง 42 สัปดาห์หรือ 294 วัน ซึ่งในแต่ละไตรมาสนั้นมีความเสี่ยงของการตั้งครรภ์แตกต่างกันออกไป



การแบ่งไตรมาสของการตั้งครรภ์

  • ไตรมาสที่ 1 เริ่มนับตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1 ถึงสัปดาห์ที่ 13
  • ไตรมาสที่ 2 นับจากสัปดาห์ที่ 14 ถึงสัปดาห์ที่ 28
  • ไตรมาสที่ 3 นับจากสัปดาห์ที่ 29 ถึงสัปดาห์ที่ 42

ความเสี่ยงที่คุณแม่ต้องเฝ้าระวังในไตรมาสที่1

  1. แพ้ท้องหนักอาเจียนบ่อย รับประทานอาหารไม่ได้ หากคุณแม่ตั้งครรภ์อาเจียนจนรับประทานไม่ได้เลย เสี่ยงต่อทารกในครรภ์ไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นในการบำรุงสมอง และคุณแม่อาจมีภาวะไม่สมดุลย์ของสารน้ำและเกลือแร่ภายในร่างกาย จำเป็นอย่างมากที่ต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อเข้าน้ำเกลือปรับสมดุลย์ของเกลือแร่ในร่างกาย
  2. มีเลือดออกทางช่องคลอด หากคุณแม่มีเลือดออกทางช่องคลอดต้องรีบพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด เพราะเลือดออกทุกช่วงอายุครรภ์เสี่ยงต่อชีวิตของลูกน้อยในครรภ์อย่างมาก ต้องเข้ารับการตรวจให้เร็วที่สุด
  3. ปวดท้องน้อยรุนแรง อาการปวดท้องน้อยนับเป้นอาการปกติที่เกิดขึ้นและพบได้ในแม่ท้องทุกคน เกิดจากการยืดขยายตัวของกล้ามเนื้อมดลูก เพื่อรองรับตัวอ่อนในครรภ์และยืดขยายตามอายุครรภ์ แต่ถ้าปวดเรื้อรัง ปวดถี่ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย เพราะคุณแม่อาจมีภาวะอื่นแทรกซ้อนได้

ความเสี่ยงที่คุณแม่ต้องเฝ้าระวังในไตรมาสที่ 2

ไตรมาสแรกผ่านพ้นไปแล้ว แต่ความเสี่ยงต่างๆกลับไม่ลดลงค่ะ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในไตรมาสที่2 ตรวจพบว่ามีความเสี่ยงต่อโรคต่างๆได้แก่

  • มีภาวะแท้งคุกคาม (Threatened abortion) ภาวะนี้มีโอกาสแท้งบุตรได้สูงเช่น มีเลือดออกทางช่องคลอด
  • มีภาวะที่ปากมดลูกไม่แข็งแรงที่เป็นสาเหตุการแท้งบุตรได้
  • เป็นโรคเบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดี 
  • มีความดันโลหิตสูง
  • มีโรคหัวใจ
  • มีรกเกาะต่ำ
  • มีอาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด

ความเสี่ยงมีมากกว่าไตรมาสอื่นๆ คุณแม่ในไตรมาสสองนี้ ควรออกกำลังกายให้พอเหมาะพอดีไม่ควรหักโหมมากจนเกินไป สำหรับคุณแม่ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ ยาบำรุงที่คุณแม่จะได้รับจากโรงพยาบาลได้แก่แคลเซียมวันละ 1,000 มิลลิกรัม ไอโอดีนวันละ 150 ไมโครกรัม และธาตุเหล็ก 60 มิลลิกรัม

ความเสี่ยงที่คุณแม่ต้องเฝ้าระวังในไตรมาสที่ 3

  1. อาการของการมีการแตกหรือรั่วซึมของถุงน้ำคร่ำ บางรายอาจมีน้ำที่มีลักษณะที่ไม่ใช่ตกขาว แต่เป็นน้ำใสที่มีลักษณะคล้ายน้ำปัสสาวะ แต่ต่างกันตรงที่ไม่สามารถกลั้นได้ อาจมีปริมาณมากหรือน้อยแล้วแต่กรณี ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจว่ามีการแตกหรือรั่วซึมของถุงน้ำคร่ำเกิดขึ้นหรือไม่
  2. ครรภ์เป็นพิษ การที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากหรือบวมขึ้นมากโดยเฉพาะบริเวณหนังตาอาจเป็นอาการเริ่มต้นของครรภ์เป็นพิษ ควรพบแพทย์เพื่อวัดความดันโลหิต/ความดันเลือด นอกจากนี้บางรายอาจจะมีอาการปวดศีรษะมาก ตาพร่ามัว หรือจุกเสียดลิ้นปี่ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งเมื่อมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
  3. เลือดออกจากช่องคลอด หากมีเลือดออกจากช่องคลอดอาจเป็นอาการแสดงของการที่มีรกเกาะต่ำ หรือมีภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด หรือภาวะอื่นๆที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อการตั้งครรภ์ ดังนั้นจึงควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
  4. ทารกไม่ดิ้น การดิ้นของทารกในครรภ์นั้นบ่งบอกถึงสภาวะสุขภาพของทารกว่าแข็งแรงดีหรือไม่ หากสังเกตว่าทารกดิ้นลดลง ควรนับการดิ้นของทารกโดยแนะนำนับในช่วงเวลาเดิมทุกๆวัน เวลาที่เหมาะสมคือหลังอาหารเย็น ควรนับในขณะที่นอนอยู่ในท่านอนตะแคงซ้าย ควรมีกระดาษปากกาหรือดินสอเพื่อจดเวลาเริ่มต้นและบันทึกการดิ้นของลูกน้อยในครรภ์ การนับนั้นนับทั้งการดิ้นที่รู้สึกได้ การพลิกตัว ความรู้สึกว่าโดนเตะหรือต่อย ควรนับให้ได้ครบ 10 ครั้งและบันทึกเวลาสิ้นสุดการนับ โดยปกติทารกควรดิ้นอย่างน้อย 10 ครั้งภายใน 2 ชั่วโมง
  5. อาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด หากรู้สึกว่าท้องแข็งตัวหรือหดรัดเกร็งเป็นระยะๆ ลองนอนพักดูก่อน หากอาการยังคงเป็นมากขึ้นถี่ขึ้นหรือแรงขึ้น อาจเป็นอาการแสดงของการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ควรต้องรีบพบแพทย์

การดูแลครรภ์เป็นสิ่งที่คุณแม่ตั้งให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการไปฝากครรภ์ตามนัด เพราะการตรวจครรภ์แต่ละครั้งอาจพบความผิดปกติได้ การได้รับการรักษาอย่างทันท่วงดีสามารถช่วยแก้ไขความผิดปกติบางอย่างให้เป็นปกติได้  

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. ลูกดิ้นเมื่อไหร่ อาการลูกดิ้นเป็นอย่างไร คุณแม่มือใหม่ต้องรู้

2. คู่มือนับลูกดิ้นสำหรับคุณแม่มือใหม่

3. อุทาหรณ์เตือนใจ ลูกไม่ดิ้นอย่าปล่อยผ่าน

เรียบเรียงโดย : Mama Expert Editorial Team