กลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์
กลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ (Asperger Syndrome) คือ กลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติทางการทำงานของระบบประสาท ที่จัดอยู่ในกลุ่มของโรคกลุ่มออทิสติค (Autistic spectrum disorders) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการของโรคที่มีปัญหาทางด้านพฤติกรรม และพัฒนาการทางด้านการพูด เช่น โรคออติสติค (Autism) และพฤติกรรมแปลกอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายออทิสติค
กลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ คืออะไร ?
กลุ่มอาการส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชายที่มีความเฉลียวฉลาด และสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติ แม้แต่การพัฒนาการด้านการใช้ภาษา ก็ดูเป็นปกติ แต่เด็กเหล่านี้มีปัญหาค่อนข้างมาก ในด้านทักษะการเข้าสังคม โดยเฉพาะการสื่อสารกับผู้อื่นให้เข้าใจ และการปฏิบัติตนร่วมกับคนอื่นๆอาการแสดงของแอสเพอร์เกอร์ มักจะเริ่มแสดงออกมาในช่วงเด็กอายุประมาณ 3 ขวบ และส่วนใหญ่ กว่าจะมีอาการต่างๆให้เห็นชัดเจนวินิจฉัยได้ ก็มักจะเป็นในช่วงอายุประมาณ 5-9 ปี
กลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ มีการอย่างไร
การแสดงของกลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ ที่พบในเด็กที่พบได้บ่อย มีดังนี้คือ
- การมีปฎิสัมพันธ์โต้ตอบกับคนอื่นๆ อย่างไม่เหมาะสมกับวัย หรือไม่ชอบที่จะเข้าสังคมกับคนอื่นๆ
- เรื่องที่พูดคุย มักจะเกี่ยวกับเรื่องของตนเอง มากกว่าเรื่องอื่นๆ
- มักชอบพูดซ้ำๆ เรื่องเดิมๆ ด้วยคำพูดเหมือนเดิม
- มักจะไม่ค่อยมีปฎิพานไหวพริบ ในเรื่องธรรมดาทั่วๆไป
- มักมีปัญหาในการใช้ทักษะทางด้าน การอ่าน, คณิตศาสตร์ และการเขียน
- มักจะสนใจหมกมุ่นกับเรื่องบางเรื่อง หรือสิ่งที่ค่อนข้างมีความซับซ้อน เช่น ลวดลายแพทเทิน, วงจรไฟฟ้า หรือดนตรีคลาสสิค
- การพูดและทักษะในการใช้ภาษาพูด อยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือดีกว่าเกณฑ์ กล่าวคือ เด็กจะรู้คำศัพท์ต่างๆได้มาก และพูดได้ถูกหลักไวยากรณ์ แต่ในแง่ของเนื้อหา และการสื่อความหมายในเรื่องที่เขาพูดนั้น อาจไม่เหมือนเด็กปกติ
- ทักษะทางด้านอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้ภาษาพูดจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือต่ำกว่าเกณฑ์
- มีการเดิน หรือการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ดูงุ่มง่าม หรือไม่คล่องตัว
- มีพฤติกรรมแปลกๆ หรือดูไม่ค่อยมีมารยาท เมื่อเข้าสังคม
เด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์นั้น จะแตกต่างจากเด็กที่เป็นออทิสซึ่ม เพราะเด็กแอสเพอร์เกอร์ในช่วงแรก มักจะมีการพัฒนาด้านภาษาได้ตามเกณฑ์อายุ มีความสามารถในการใช้รูปประโยค และคำศัพท์ต่างๆ ในการพูดได้ค่อนข้างดีเป็นปกติ แต่เมื่ออายุมากขึ้น จะเริ่มมีปัญหาในการใช้ภาษา เมื่อเข้าสู่สังคม และต้องพูดคุยโต้ตอบกับคนอื่นๆ โดยทั่วไปเด็กเหล่านี้ มักจะสติปัญญาดี มีความสามารถในการช่วยเหลือตนเองในเรื่องต่างๆ ที่ต้องทำในชีวิตประจำวัน เช่น การใช้ช้อนทานข้าวเอง และการแต่งตัวใส่เสื้อผ้า ได้เหมือนเด็กปกติ บางคนอาจมีปัญหาเรื่องสมาธิ ที่ไม่สามารถมีสมาธิ กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นานนัก หรือมีปัญหาในการจัดลำดับเรื่องต่างๆ ในการจัดการอะไรบางอย่าง และมีทักษะในบางเรื่อง ที่อาจจะดูดีกว่าเด็กอื่น แต่สำหรับทักษะบางด้านอาจจะด้อยกว่า แต่โดยรวมแล้วเด็กเหล่านี้จะมีระดับสติปัญญาที่เป็นปกติ หรืออาจจะดีกว่าปกติด้วยซ้ำ
กลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ มีสาเหตุจากอะไร
ในปัจจุบันยังไม่ทราบว่า อะไรเป็นสาเหตุของกลุ่มอาการออทิสติค และกลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า น่าจะมีหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด อาจพบร่วมกับโรคทางจิตประสาทอื่นๆ ด้วย เช่น โรคซึมเศร้า หรือ โรคจิตบางประเภท เนื่องจากเด็กเหล่านี้ อาจมีพฤติกรรมที่แปลกๆ บางครั้งดูหยาบคาย ไม่เหมาะสม ทำให้เคยมีการเข้าใจผิดว่า ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้องเช่น การขาดความรักความอบอุ่นในครอบครัว หรือขาดการอบรมสั่งสอนที่ถูกต้องจากพ่อแม่ แต่จากการศึกษาดูครอบครัวของเด็กเหล่านี้กลับพบว่า ส่วนใหญ่ได้รับความรักเอาใจใส่ จากพ่อแม่เป็นอย่างดี และมีการเลี้ยงดูที่ถูกต้องเหมาะสม ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่มาจากกเลี้ยงดูที่ผิดของพ่อแม่ แต่เป็นจากปัญหาด้านการทำงานที่ผิดปกติของสมอง ที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
กลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ รักษาได้หรือไม่
ในปัจจุบันยังไม่มียาใดที่จะใช้รักษาอาการเหล่านี้ ให้หายเป็นปกติ แต่พบว่า เด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่เมื่อได้รับการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง และให้ความรู้ความเข้าใจ และ คำแนะนำแก่พ่อแม่รวมทั้งทางโรงเรียนในการปรับตัว และปรับพฤติกรรมของเด็ก ก็สามารถช่วยให้เด็กเหล่านี้ อยู่ร่วมในสังคมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และประสบความสำเร็จในชีวิตได้ดีพอควร
การให้ความช่วยเหลือเด็กกลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่พบว่ามีปัญหา จะมีผลทำให้เด็กสามารถปรับตัวเข้าสู่สังคมได้ง่ายขึ้น เพราะยังเป็นช่วงที่สมองของเด็ก ยังมีการพัฒนาได้ค่อนข้างมาก คุณพ่อคุณแม่ตั้งหมั่นสังเกตและติดตามพัฒนาการลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพที่ดีของลูกค่ะ
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. 8 สิ่งผิดปกติของลูกรักที่บ่งบอกว่าลูกเป็นเด็กพัฒนาการล่าช้า
2. เทคนิค 8 ข้อ ในการเลี้ยงลูกให้มีพัฒนาการสมวัย
3. ผลกระทบของโทรทัศน์ต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการในเด็ก
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team