รศ. นพ. สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์ เตือน!!! โรคแผลในปากชนิด Herpangina ระบาด

09 December 2016
4003 view

Herpangina

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Herpangina

รศ. นพ. สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์ อนุกรรมการผู้เชี่ยวชาญอนุสาขาวิชาโภชนาการในเด็ก ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยผ่านเพจคลีนิกหมอสังคม (Sungkom Clinic) ว่าในรอบสังดาห์นี้ มีผู้ป่วยเด็กมาพบคุณหมอที่คลินิค ด้วยอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร กินได้น้อย ปวดต้นคอ และมีตุ่มนูนแดง ซึ่งเป็นอาการของโรค เฮอร์แปงไจน่า (Herpangina) คุณหมอชื่อดัง จึงแชร์ความรู้เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้ระมัดระวังโรคดังกล่าว ไว้ดังนี้ 

สาเหตุการเกิดโรค Herpangina

Herpangina สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส coxsackie virus A แต่อาจเกิดจากไวรัส coxsackievirus B or echoviruses ได้ มักเป็นในทารกและเด็กเล็ก แต่อาจพบในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ได้บ้าง


อาการของโรค Herpangina

ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ขึ้นสูงทันที เจ็บคอ เบื่ออาหาร กินได้น้อย ปวดต้นคอ และมีตุ่มนูนแดง ซึ่งต่อมาจะเป็นตุ่มพองใสแล้วแตกเป็นแผลขนาดเล็ก 2-4 มม.จำนวน 2-6 แผลที่บริเวณด้านหลังของช่องปาก เช่น ที่เพดานอ่อน (soft palate) บริเวณขอบทอนซิล (tonsillar pillars) ทอนซิล ลิ้นไก่และลิ้น แผลจะหายเองภายใน 7-10 วัน ข้อแตกต่างระหว่างโรคนี้กับโรคมือ เท้า ปาก คือ โรคนี้ตำแหน่งแผลมักเกิดที่บริเวณด้านหลังของช่องปาก และจะไม่มีตุ่มแผลที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ในขณะที่โรคมือ เท้า ปาก แผลมักเป็นที่ด้านหน้าของช่องปากและมีตุ่มแผลที่ฝ่ามือและเท้า

การรักษาโรค Herpangina

เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่มียารักษาโดยตรง และโรคจะหายไปเองภายใน 7-10 วัน โดยการรักษาแบบประคับประคอง เช่น การให้ยาลดไข้ แก้ปวด paracetamol, ibuprofen แต่ห้ามให้ยา aspirin สามารถใช้ยาชา viscous lidocaine ทาแผลเพื่อให้หายเจ็บแผลจะช่วยให้รู้สึกสบายและกินอาหารได้มากขึ้น การให้กินน้ำหรือนมแช่เย็นหรือไอศครีมจะช่วยให้ไม่รู้สึกเจ็บแผลมากและทำให้เด็กได้รับน้ำและสารอาหารดีขึ้น

การป้องกันโรค Herpangina

เนื่องจากโรคนี้ติดต่อโดยการได้รับเชื้อไวรัสที่ออกมากับอุจจาระและหรือละอองเสมหะของผู้ป่วย ป้องกันได้โดยการแยกผู้ป่วย ไม่สัมผัสกับผู้ป่วย ไม่พาเด็กไปในที่ชุมชน รักษาสุขอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ดี ทำความสะอาดเครื่องใช้และของเล่น หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกัน ล้างมือให้สะอาดหลังสัมผัสผู้ป่วยหรืออุจจาระหรือเสมหะของผู้ป่วยหรือล้างมือให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ

การล้างมือบ่อยๆ นานๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เป็นการป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ หากไม่มันใจว่าลูกรักของคุณเป็นโรคหรือหรือเปล่า แนะนำให้ปรึกษากุมารแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยด่วนค่ะ

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. ไวรัสก่อโรคเฮอร์แปงไจนา คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้

2. โรคมือ เท้า ปาก อันตรายคุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง!!!

3. อาการหวัดในเด็กเล็ก อีกเรื่องที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

ขอบคุณข้อมูล : คลีนิกหมอสังคม (Sungkom Clinic)