ความพิการแต่กำเนิดของทารกผนังหน้าท้องไม่ปิด(gastroschisis)

06 April 2012
12057 view

ผนังหน้าท้องไม่ปิด(gastroschisis)

โรคนี้เป็นความพิการแต่กำเนิดที่ทำให้มีรูโหว่ของผนังหน้าท้อง ทำให้มีลำไส้โผล่ออกมา  พบประมาณ 1 : 5,000 – 1: 20,000  ของทารกเกิดมีชีพ โดยมักเกิดกับมารดาอายุน้อย และเป็นท้องแรก ทารกมักมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าอายุครรภ์จริง หรือเป็นทารกคลอดก่อนกำหนด

สุขภาพทารกที่มีผนังหน้าท้องไม่ปิดหลังคลอดออกมาแล้ว

การมีลำไส้ยื่นออกมาจากช่องท้อง จะสัมผัสกับน้ำคร่ำโดยตรง ทำให้ผนังลำไส้บวมและอักเสบ นอกจากนี้ผู้ป่วย 10 – 15% จะมีลักษณะลำไส้อุดกลั้นอย่างสมบูรณ์ (Intestinal Artesia) ร่วมด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุให้ทารกไม่สามารถกินได้ แม้จะได้รับการผ่าตัดนำลำไส้เข้าช่องท้องแล้วก็ตาม เมื่อทารกเกิดจะเสี่ยงกับภาวะตัวเย็น สูญเสียน้ำและเกลือแร่ และเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้  ดังนั้น เมื่อวินิจฉัยได้แค่ก่อนคลอด หมอแนะนำให้คุณแม่มาคลอดที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการดูแลทารกที่มีปัญหานี้ได้ ได้แก่ มีทีมกุมารศัลยแพทย์ และกุมารแพทย์ทารกแรกเกิด เพื่อให้การดูแลหลังเกิด เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

การรักษาทารกผนังหน้าท้องไม่ปิด(gastroschisis)

การผ่าตัดรักษาโดยทั่วไป สามารถผ่าตัดเปิดหน้าท้องได้ในครั้งเดียว (~80%) ถ้าไม่สามารถทำได้ในครั้งเดียว เนื่องจากลำไส้บวมมาก หรือผนังหน้าท้องเล็กเกินไป ก็ต้องใส่ลำไส้ในถุงชนิดพิเศษ (artificial silo) ไปก่อน แล้วค่อยมาผ่าตัดปิดหน้าท้องในภายหลัง ซึ่งอาจกินเวลาประมาณ 7 วัน ปัญหาที่พบบ่อยหลังผ่าตัด คือ ภาวะติดเชื้อ และปัญหาเรื่องกินนม เพราะบางรายมีการผิดรูปของทางเดินอาหารร่วมด้วย หรือเกิดจากการทำงานของลำไส้ยังไม่ปกติ เนื่องจากบวมมานาน ในระหว่างนี้ก็จะให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำร่วมด้วยไปก่อน การพยากรณ์โรคค่อนข้างดีมาก เนื่องจากมักไม่มีความพิการที่รุนแรงร่วมด้วย

อัตราการรอดชีวิตในปัจจุบันจึงมากกว่า 90% ดังนั้น คำถามที่ว่าลูกจะอยู่โรงพยาบาลนานกี่วัน อันนี้ก็ขึ้นกับ ความรุนแรงของโรคและภาวะแทรกซ้อนที่พบร่วมกับตัวทารกเอง เข่น ถ้าเป็นเด็กคลอดก่อนกำหนด ก็อาจต้องอยู่นานกว่าปกติค่ะ ส่วนเรื่องนมแม่ ในระหว่างที่ไม่สามารถให้นมแก่ทารกได้ คุณแม่ควรบีบเก็บน้ำนมไว้ให้ลูกอย่างสม่ำเสมอทุกๆ 3 ชั่วโมง โดยเลียนแบบการดูดนมของลูกตามธรรมชาติ เพื่อคงการสร้างน้ำนมไว้ แล้วเมื่อไรที่ลูกพร้อมจะกินนมก็จะได้นำมาให้ได้ทันทีค่ะ