โรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็ก
โรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็กหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรคหนูน้ำหนวก เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย แต่จะพบได้มากในทารกและเด็กเล็ก (4 เดือนถึง 4 ขวบ) เนื่องจากภูมิต้านทานยังน้อยและยังเจริญไม่เต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทารกที่ไม่ได้กินนมมารดาการสัมผัส คลุกคลีกับบุคคล และสถานที่ต่าง ๆ จึงเกิดภาวะติดเชื้อ เป็นหวัดได้บ่อย ซึ่งจากโรคหวัดที่เป็นลุกลาม ก็มีโอกาสที่จะเกิดการอักเสบต่อเนื่องไปยังท่อปรับความดันหูชั้นกลาง มีผลทำให้เกิดหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันได้
โรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็กเกิดจากสาเหตุอะไร
เป็นโรคอันตรายที่พบบ่อยในเด็กเล็กซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสและเชื้อเอ็นทีเอชไอ สองเชื้อร้ายนี้เป็นเชื้อที่พบได้ในลำคอหรือโพรงจมูกของเด็กๆ หากเด็กได้รับเชื้อจนกระทั่งเชื้อเติบโตและแพร่กระจายก็อาจทำให้เป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน และยังพบว่า 80% ของเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี มีโอกาสเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบอย่างน้อย 1 ครั้ง สาเหตุของโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งพบได้ในคอหรือโพรงจมูก หรือเชื้อไวรัส (มักมาจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ) หรือ เกิดจากโรคภูมิแพ้ และเมื่อเชื้อกระจายตัวสู่ท่อยูสเตเชี่ยนจนมีน้ำหนองไหลซึมออกมาก็อาจทำให้เยื่อแก้วหูทะลุได้ หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจทำให้เด็กมีปัญหาต่อการได้ยิน และเป็นโรคอันตรายที่รุนแรงมากขึ้น เช่น ผีในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือทำให้เด็กมีปัญหาในการเรียนรู้ และพัฒนาการด้านต่างๆ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็ก
- การสูดควันบุหรี่
- มีภูมิต้านทานน้อยหรือไม่ดี เช่น ในทารกที่ไม่ได้กินนมมารดา
- ภาวะที่ท่อยูสเตเชียนอุดตัน เช่น เป็นไข้หวัด การใส่สายป้อนอาหารทางจมูก
- ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่
- การเลี้ยงลูกด้วยนมขวด การใช้จุกนมปลอม การนอนหงายดูดนม
- การส่งเด็กไปเลี้ยงที่ศูนย์เลี้ยงเด็ก
- การสั่งน้ำมูกแรง ๆ การดำน้ำ การว่ายน้ำ ในขณะที่มีการอักเสบในโพรงจมูกหรือโพรงหลังจมูกจะทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อในหูชั้นกลางได้ง่ายขึ้น
อาการของโรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็ก
- โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักมีอาการเกิดขึ้นอย่างฉับพลันหลังจากเป็นไข้หวัด เจ็บคอ หรือเป็นโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจอื่น ๆ โดยจะมีอาการปวดในรูหู หูอื้อ การได้ยินลดลง มีไข้สูง หนาวสั่น และบางรายอาจมีอาการบ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเดินได้ด้วย ส่วนในทารกและเด็กเล็กจะมีอาการตื่นขึ้นร้องกวนเวลากลางดึกด้วยอาการเจ็บปวดหู และร้องไห้งอแงเกือบตลอดเวลา บางรายอาจเอามือดึงใบหูตัวเองข้างที่ปวด เด็กมักจะมีไข้สูง บางรายอาจมีอาการชักเนื่องจากไข้สูง และเด็กมักมีอาการของไข้หวัดหรือมีอาการไอร่วมด้วย
- โรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง สำหรับเด็กที่เป็นหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง เด็กมักจะไม่ค่อยมีอาการแสดงออกชัดเจน ยกเว้น หูอื้อ หรือ มีการได้ยินลดลง หรือ ถ้าเป็นเด็กเล็กๆ พ่อแม่จะมาปรึกษาด้วยปัญหาว่า ลูกชอบพูดเสียงดังหรือเปิดโทรทัศน์เสียงดัง เรียกไม่ค่อยได้ยิน ตรวจหู จะเห็น แก้วหูมีสีเหลืองหรือสีทึบกว่าปกติบางครั้งจะเห็น ฟองอากาศ ในหูชั้นกลางได้ ตรวจการได้ยินที่เรียกว่า audiogram เพื่อวัดระดับการได้ยิน ส่วนใหญ่จะสูญเสียระดับการได้ยินประมาณ 27 dB. และยังมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงต่าง ๆ ตามมา เช่น ใบหน้าเป็นอัมพาต เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีในสมอง และติดเชื้อรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
การรักษาโรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็ก
การรักษาหูชั้นกลางอักเสบ คือ การให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน โคไตรม็อกซาโซล อีริโทรไมซิน เป็นต้น ซึ่งมักจะให้ติดต่อกันนานอย่างน้อย 10-14 วัน ร่วมกับยาแก้ปวด ลดบวม และรักษาโรคอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของหูอักเสบร่วมไปด้วย เช่น จมูกหรือไซนัสอักเสบ หากรักษาแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ แพทย์อาจแนะนำให้รักษาโดยการผ่าตัดเจาะเยื่อแก้วหู ผ่านทางรูหู เพื่อดูดน้ำในหูชั้นกลางออกและใส่ท่อปรับความดันไว้ในแก้วหู
วิธีป้องกันโรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็ก
- ควรให้ทารกกินนมมารดาอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบ
- หลีกเลี่ยงการใช้จุกนมปลอม เพราะจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหูชั้นกลางอักเสบประมาณ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับควันบุหรี่ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะเด็กที่ได้รับควันบุหรี่จะมีอัตราป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจได้สูงกว่าปกติที่จะนำไปสู่หูชั้นกลางอักเสบได้
- เวลาเด็กดื่มนมและรับประทานอาหารพยายามให้ลูกของท่านอยู่ในท่านั่งหรือศีรษะสูงกว่าลำตัว
- ระมัดระวังอย่าให้เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุกับหู หลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนบริเวณหูและบริเวณใกล้เคียง เพราะอาจทำให้แก้วหูทะลุและฉีกขาดได้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ที่เป็นไข้หวัด และโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team
อ้างอิง :
- ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ผศ.พญ.นันทิการ์ สันสุวรรณ. โรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็กเล็กภัยร้ายใกล้ตัวที่พ่อแม่มักละเลย. เข้าถึงได้จาก https://www.clipmass.com/story/35677. [ค้นคว้าเมื่อ 19 กันยายน 2560].
- รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. ศาสตราจารย์คลินิกครรชิตเทพ ตั่นเผ่าพงษ์. รู้จักโรคหูน้ำหนวก. เข้าถึงได้จาก http://med.mahidol.ac.th/ramachannel/old/index.php/knowforhealth-20141209-4/. [ค้นคว้าเมื่อ 19 กันยายน 2560].
- ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (Acute Otitis Media)”. รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน. เข้าถึงได้จาก www.si.mahidol.ac.th. [ค้นคว้าเมื่อ 19 กันยายน 2560].
- หูชั้นกลางอักเสบ (หูน้ำหนวก). เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/owFgoN. [ค้นคว้าเมื่อ 19 กันยายน 2560].
- โรคร้าย หูชั้นกลางอักเสบในเด็กเล็ก. เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/PTRRhk. [ค้นคว้าเมื่อ 19 กันยายน 2560].
-
Muhammad Waseem. Otitis Media. เข้าถึงได้จาก http://emedicine.medscape.com/article/994656-overview. [ค้นคว้าเมื่อ 20 กันยายน 2560].