การดูแลสุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์ เรื่องสำคัญที่แม่ท้องต้องรู้

08 August 2012
7471 view

สุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ระหว่างการตั้งครรภ์ร่างกายอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง อาการแพ้ท้องจะมีมากใน 3 เดือนแรก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย เมื่อตื่นนอน จะมีอาการมึนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน บางคนอาจมีอาการมาก รับประทานอาหารไม่ได้ หลังตื่นนอนตอนเช้า ควรดื่มน้ำผลไม้ และรับประทานขนมปังกรอบทันที จะทำให้รู้สึกดีขึ้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นฉุนจัด เพราะอาจทำให้คลื่นไส้มากขึ้น นอกจากนี้อาจอยากรับประทานอาหารแปลกๆ รสเปรี้ยว ซึ่งสามารถรับประทานได้

อาการปวดหลังพบได้บ่อยเกือบครึ่งหนึ่งของสตรีมีครรภ์ โดยมักปวดที่หลังส่วนล่าง ระหว่างก้นทั้งสองข้าง ร้าวลงไปที่ต้นขา มักเป็นช่วงท้ายๆ ของการตั้งครรภ์ การยืนนานๆ ในท่าที่ไม่ถูกต้อง หรือยกของหนักเกินไป ทำให้ปวดหลังได้ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ ทำให้ข้อกระดูก และเอ็นต่างๆ คลายตัวหลวมมากขึ้น ความแข็งแรงของข้อลดลง จึงทำให้ปวดหลังได้ ควรพยายามนอนพื้นเรียบ ใช้หมอนหนุนหลังเวลานั่ง อย่าก้มหยิบของ ควรใช้วิธีนั่งหยิบแทน และควรใส่รองเท้าส้นเตี้ย อาจให้สามีช่วยนวดหลังเบาๆ นอกจากจะคลายปวดแล้ว ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ด้วย

สุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์ในเรื่อง น้ำหนักตัวในระหว่างตั้งครรภ์

  •     โดยทั่วไปแพทย์มักจะแนะนำหญิงตั้งครรภ์ว่าควรมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10 กิโลกรัมตลอดการตั้งครรภ์ แต่ถ้ามีน้ำหนักตัวเพิ่มไม่ถึงเกณฑ์กำหนดมักจะพบว่าทารกที่เกิดมาจะมี น้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่าปกติ หรือทารกน้ำหนักน้อย ตัวเล็กผิดปกติ ขณะเดียวกันหญิงตั้งครรภ์ถ้ากินมากเกินไปจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาก และทำให้เกิดปัญหาต่อการตั้งครรภ์หลายประการ เช่น ทารกตัวโตคลอดลำบาก หญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวมากจะทำให้เหนื่อยง่าย ปวดหลังมากขึ้น เส้นเลือดขอดมากขึ้น และทำให้แผลผ่าตัดติดช้า เกิดภาวะตกเลือดหลังคลอดได้ง่าย
  •     บางครั้งหญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากๆ มิได้หมายความว่าทารกในครรภ์จะตัวโตเสมอไป อาจจะได้ทารกน้ำหนักน้อยก็มี ทั้งนี้เนื่องจากภาวะโภชนาการที่ไม่เหมาะสม โดยเน้นที่ปริมาณมากกว่าคุณภาพ การเพิ่มน้ำหนัก 10 กิโลกรัมต่อการตั้งครรภ์ เป็นน้ำหนักโดยเฉลี่ยที่ต้องพิจารณาตามรูปร่าง และขนาดตัวของหญิงตั้งครรภ์ เช่น ผู้ที่มีรูปร่างเล็ก และมีขนาดตัวก่อนการตั้งครรภ์น้อยกว่า 5 กิโลกรัม การเพิ่มของน้ำหนักตัวตลอดการตั้งครรภ์ อาจจะน้อยกว่า 10 กิโลกรัมได้ ทั้งนี้น้ำหนักที่เพิ่มจะเป็นน้ำหนักของทารก 3 กิโลกรัม และเป็นน้ำหนักของรก น้ำหล่อเด็ก เนื้อเยื่อที่ยืดขยายของเต้านม มดลูก เป็นต้น อีก 5-6 กิโลกรัม
  •     หญิงตั้งครรภ์ที่ควรจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากเป็นกรณีพิเศษ คือผู้ที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากเป็นกรณีพิเศษ คือผู้ที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานในขณะก่อนตั้งครรภ์ โดยในระยะไตรมาสแรกควรจะพยายามปรับให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเท่ามาตรฐาน แล้วใช้เวลาในระยะ 6 เดือนต่อมาเพิ่มน้ำหนักให้ได้เท่าที่ต้องการตลอดการตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานก่อนการตั้งครรภ์ ต้องระวังดูแลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่เหมาะสม โดยเลือกกินอาหารเป็นพิเศษ
  •     ระยะเวลาตลอดการตั้งครรภ์ไม่ใช่เวลาที่จะควบคุมน้ำหนักด้วยการงดอาหารอย่าง เด็ดขาด ทั้งนี้เพราะทารกจะได้พลังงานจากการเผาผลาญไขมันของหญิงตั้งครรภ์เท่านั้น แต่จะไม่ได้สารอาหารใดๆ ทั้งสิ้น หญิงตั้งครรภ์แฝดสอง หรือแฝดสาม มิได้หมายความว่าจะต้องมีน้ำหนักเพิ่มเป็นสอง หรือสามเท่าตามจำนวนทารกในครรภ์ แต่อาจจะเพิ่มน้ำหนักโดยเฉลี่ย 5 กิโลกรัมต่อทารก 1 คน โดยกินอาหารภายใต้การดูแลของแพทย์
  •     อัตราการเพิ่มของน้ำหนักตัว โดยเฉลี่ยน้ำหนักตัวของหญิงตั้งครรภ์จะมีการเพิ่มน้อยในช่วงระยะไตรมาสแรก คือประมาณ 1-2 กิโลกรัมเท่านั้น และจะมีน้ำหนักเพิ่มอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาสที่สองจนถึงต้นไตรมาสที่สาม คือในอายุครรภ์ 3-8 เดือน น้ำหนักจะเพิ่มโดยเฉลี่ย 1/2 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ และในระยะเดือนสุดท้ายน้ำหนักจะคงที่หรือลดลงบ้างเล็กน้อยประมาณ 1/2 กิโลกรัมดังนั้นในไตรมาสที่สามน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นเพียง 2-3 กิโลกรัมเท่านั้น

สุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์ในเรื่อง การพักผ่อน

  • ระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่จะรู้สึกเหนื่อย และอ่อนเพลียง่าย กลางคืนควรนอนหลับให้เต็มอิ่ม ประมาณ 8-10 ชั่วโมง และควรหาเวลานอนพักในตอนบ่ายอีกอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
  • การลดจำนวนการดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม ให้เหลือน้อยที่สุด ควรงดดื่มน้ำ หรืออาหารเหลว หรือรับประทานอาหารอิ่มจนเกินไปก่อนที่จะเข้านอนสองสามชั่วโมง
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหักโหมก่อนเข้านอน แต่ให้ทำอะไรที่เบาๆ และผ่อนคลายแทน และหากเป็นตะคริวที่ขา การกดเท้าแรงๆ ลงกับผนังห้องหรือลุกขึ้นยืนอาจช่วยได้
  • ถ้านอนไม่หลับ ให้ลุกขึ้นมาหาอะไรทำ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูโทรทัศน์ หรือหากิจกรรมอื่นๆ ที่เพลิดเพลินทำแทน แล้วในที่สุดก็จะเหนื่อย และนอนหลับได้เอง

สุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์ ในเรื่องการดูแลเต้านม

ขณะตั้งครรภ์เต้านมจะขยายขึ้น เพื่อเตรียมสร้างน้ำนมให้ลูกน้อย ควรเปลี่ยนยกทรงให้มีขนาดพอเหมาะใส่สบาย คุณแม่บางคนอาจจะมีน้ำนมไหลซึมออกมา ไม่ต้องกังวลใจ เวลาอาบน้ำให้ล้างเต้านมด้วยน้ำสะอาด ไม่ควรฟอกสบู่เพราะจะทำให้ผิวแห้งมาก อาจใช้โลชั่นทานวด เมื่อรู้สึกผิวแห้งตึง หรือคัน ถ้ามีปัญหาหัวนมสั้น หัวนมบอด หรือผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลที่ฝากครรภ์ก่อนที่จะคลอด มิฉะนั้นอาจจะมีอุปสรรคต่อการให้นมลูก

การดูแลปากและฟันก็เป็นอีกเรื่องของสุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์

หญิงตั้งครรภ์มักมีปัญหาฟันผุ และเหงือกอักเสบได้ง่าย ในบางท่านอาจรู้สึกคลื่นไส้ และอาเจียน ส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมา และอาจกัดกร่อนฟันได้ ควรแปรงฟันอย่างถูกวิธีวันละ 2 ครั้ง และบ้วนปากด้วยน้ำสะอาด หรือแปรงฟันทุกครั้งหลังอาหาร ในระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่บางท่านอาจรู้สึกว่าอยากทานอาหารแปลกๆ และส่งผลให้เหงือกอาจจะอักเสบ หรือบวมได้ และอาจรู้สึกขยับปากลำบาก จึงอาจละเลยเรื่องการรักษาสุขอนามัยภายในช่องปาก จึงส่งผลให้มีคราบสะสมภายในช่องปาก และมีโอกาสเกิดฟันผุได้มากขึ้น บางครั้งอาจเกิดโรคเหงือกอักเสบในระหว่างตั้งครรภ์ หลอดเลือดฝอยในบริเวณเหงือกมีฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้เกิดเลือดคลั่งในเหงือก และเหงือกมีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อลดลง หรือที่รุนแรงกว่านั้น คือทำให้เกิดเนื้องอกที่เหงือก แต่เนื้องอกหรืออาการเลือดออกจะค่อยๆ หายไปเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายของการตั้งครรภ์ ไม่แนะนำให้ตัดเนื้องอกนี้ทิ้ง นอกจากว่าจะเกิดแผลในช่องปากหรือมีปัญหาในการเคี้ยวอาหาร และหากมีโรคเกี่ยวกับเยื่อหุ้มฟันอยู่แล้ว อาการอาจรุนแรงขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์

สุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์ ในเรื่อง การมีเพศสัมพันธ์

ไม่มีข้อห้ามในผู้ตั้งครรภ์ปกติ แต่ควรงดเว้นใน 1 เดือน สุดท้ายก่อนคลอด
ในรายที่เคยแท้ง ควรงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
ในรายที่มีปัญหาอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์ หรือพยาบาลผู้ตรวจครรภ์

อาหารและเครื่องดื่มที่ควรหลีกเลี่ยง เพื่อสุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์

การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของอาหาร ที่ควรหลีกเลี่ยงและอาหารที่ควรรับประทาน อาหารบางชนิดอาจทำอันตรายต่อลูกน้อยและทำให้คุณแม่ป่วย  ดังนั้น  ความปลอดภัยของอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้นๆ โดยคุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงอาหารดังต่อไปนี้โดยเด็ดขาด

  •     ไข่ดิบหรือไข่ที่ปรุงไม่สุกหรืออาหารที่ทำจากไข่เหล่านั้น โดยไข่ที่ทานได้ ควรผ่านการปรุงให้สุก ไม่ควรอยู่ในสภาพที่เป็นของเหลว
  • เนื้อหรือปลาที่ปรุงไม่สุก หรือเกือบดิบ โดยเนื้อที่ทานได้ต้องไม่มีสีชมพูเหลืออยู่
  • ปลาหรือเนื้อที่เสิร์ฟดิบๆ เช่น ซูชิ สเต็กบางชนิด ปลาแซลมอนรมควัน หอยนางรม
  • ฃนมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อและ เนยแข็ง
  • ตับบดหรืออาหารประเภทตับ โดยอาหารพวกนี้จะมีวิตามินเออยู่สูงมาก ซึ่งอาจทำอันตรายต่อลูกน้อย ของคุณ
  • อาหารที่ผ่านการปรุงบางชนิด เช่น สลัดมันฝรั่ง หรือโคสลอว์ บางครั้งอาจมีเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า Listeria อยู่เป็นจำนวนมาก
  • ก่อนจะรับประทาน ตรวจดูให้แน่ใจว่าอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารที่อุ่นซ้ำนั้นผ่านความร้อนทั่วถึงดีแล้วหรือยัง
  • ระมัดระวังการทานบาร์บีคิว เพราะเนื้อมักจะถูกวางทิ้งไว้ ก่อนจะนำมารับประทาน
  • ปลาดาบเงิน ปลากระโทงแทง และปลาฉลาม ปลาเหล่านี้มีสารปรอทตามธรรมชาติอยู่ในระดับที่อาจไม่ปลอดภัย ซึ่งอาจทำอันตรายต่อระบบประสาทที่กำลังพัฒนาของลูกน้อยในครรภ์ ปลาทูน่าก็มีสารปรอทเช่นกัน คุณแม่จึงควรจำกัดปริมาณการรับประทานอยู่ที่กระป๋องขนาดกลาง (น้ำหนักไม่รวมน้ำ 140 กรัมต่อกระป๋อง) หรือเนื้อปลา 2 ก้อน (สูงสุด 170 กรัม ต่อก้อน) ต่อสัปดาห์
  • ควรหลีกเลี่ยงการทานถั่วลิสงระหว่างตั้งครรภ์และการให้นม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีประวัติการเป็นภูมิแพ้ในครอบครัว เช่น โรคหอบหืด โรคเรื้อนกวางหรือโรคแพ้ละอองเกสร
  • แอลกอฮอล์ การได้รับปริมาณแอลกอฮอล์มากเกินไป เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหามากมายกับลูกน้อยในครรภ์ โดยเฉพาะลูกอ่อนที่อายุน้อยกว่า 8 สัปดาห์ และแม้จะบริโภคแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อย ก็ยังอาจมีผลกระทบต่อการพัฒนาสมองของลูกในครรภ์ได้

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. ข้อบ่งชี้ในการตรวจเจาะน้ำคร่ำในแม่ตั้งครรภ์

2. ภาวะแท้งคุกคาม

3. โรคอันตรายระหว่างตั้งครรภ์

เรียบเรียงโดย : พว.นฤมล  เปรมปราโมทย์