พัฒนาการเด็ก ด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ที่คุณแม่ต้องติดตาม1000วันแรกของชีวิต

17 October 2017
5190 view

พัฒนาการเด็ก ด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ 

พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เป็นการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่ การคลาน การเดิน การวิ่ง การกระโดด การทำกิจกรรมพละต่างๆ ซึ่งพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่จะมีพัฒนาเป็นลำดับขั้นตอนที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งจะเริ่มมีการพัฒนาจากส่วนหัวไปสู่ส่วนขา คุณแม่ควรติดตามและส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอในทุก ๆ ช่วงวัย 

พัฒนาการเด็ก ด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ของทารกแรกเกิด

เด็กทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิดจะไม่มีกำลังกล้ามเนื้อมากนัก คุณแม่สามารถสังเกตได้จากศีรษะของลูกน้อย มีแนวโน้มตกไปด้านหลังเมื่อเวลาที่คุณแม่ดึงเขาขึ้นมานั่ง จึงต้องมีการประคองศีรษะของลูกน้อยวัยทารกให้ดีในขณะที่ยกหรืออุ้ม แขนของทารกจะเคลื่อนไหวในลักษณะที่ปราศจากการควบคุม จะเริ่มพัฒนาขึ้นเรื่อยๆเมื่ออายุครบ 1 เดือน

พัฒนาการเด็ก ด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ของเด็กอายุ 1-3 เดือน

เด็กอายุ 1 เดือน

กล้ามเนื้อของลูกจะเติบโตแข็งแรงขึ้น จะสามารถชันคอได้นานขึ้น จะมีการโบกแขนและปั่นจักรยานกลางอากาศด้วยขา คุณแม่สามารถสังเกตเห็นได้เมื่อเวลาลูกน้อยตื่นเต้น คุณแม่สามารถเสริมสร้างพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมันใหญ่ของลูกน้อยวัย 1 เดือนได้ด้วยการจับมือเขาขยับ อาจมีการนวดขาหรือฝ่าเท้า กอดและอุ้มเขาให้มากๆ เพราะเด็กวัยนี้ไม่มีคำว่ากอดหรืออุ้มมากเกินไปค่ะ

เด็กอายุ 2 เดือน

ร่างกายจะแข็งแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จะสามารถชันคอได้ 2-3 วินาที หลังจะตรงขึ้นเมื่ออยู่ในท่านั่งแม้ว่าจะยังนั่งด้วยตัวเองไม่ได้ เมื่อนอนคว่ำจะสามารถยกศีรษะขึ้นและแอ่นหลังได้ แต่ยังไม่สามารถกลิ้งตัวหรือใช้แขนยันพื้นได้

เด็กอายุ 3 เดือน

กล้ามเนื้อคอและหลังกำลังจะยืด สามารถชันคอ 2-3 นาที และนั่งโดยมีการประคอง เป็นระยะเวลานานขึ้นได้ ศีรษะและหลังตรง เด็กช่วงวัยนี้จะชอบนั่งมากกว่านอน คุณแม่ควรให้ลูกนอนคว่ำบ้างในแต่ละวัน เพราะเมื่อลูกนอนคว่ำลูกจะยกศีรษะขึ้นจากพื้น ลูกจะเริ่มกลิ้งตัวได้โดยกลิ้งจากนอนคว่ำเป็นตะแคงแล้วกลับมาคว่ำอีกครั้ง เป็นการเสริมสร้างพัฒนาการให้ลูกน้อยด้วยค่ะ

พัฒนาการเด็ก ด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ของเด็กอายุ 4-6 เดือน

เด็กอายุ 4-6 เดือน 

จะเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องแคล่วขึ้น เริ่มกลิ้งจากการนอนหงายเป็นนอนคว่ำได้ สามารถชันคอได้โดยไม่ต้องประคอง สามารถเคลื่อนที่ไปมาบนพื้นได้โดยการกลิ้งหรือดันตัวเองไปข้างหน้า ถึงจะเริ่มเคลื่อนที่ด้วยการคลาน คุณแม่สามารถเสริมสร้างพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ของลูกน้อยได้โดยประคองแขนให้อยู่ใต้รักแร้ของลูกน้อย ลูกก็จะกระโดยขึ้นลง-เด้งไปมา เป็นการพัฒนากล้ามเนื้อขาค่ะ และเมื่อลูกน้อยเริ่มคลาน คุณแม่ควรดูแลความปลอดภัยของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด อาจใช้เบาะรองคลานเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุได้ค่ะ

พัฒนาการเด็ก ด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ของเด็กอายุ 7-9 เดือน

เด็กอายุ 7-9 เดือน

ลูกจะมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้น สามารถนั่งหลังตรงได้โดยไม่ต้องประคอง พัฒนาการของลูกจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว เป็นอายุแห่งการเคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่วทั้งการคลาน ดึงตัวขึ้นและอาจรวมถึงยืนเดินรอบเครื่องเรือน  จำเป็นต้องป้องกันลูกจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ ควรดูแลบ้านให้มีความปลอดภัย

คุณแม่อย่าวิตกกังวลถ้าลูกน้อยไม่คลานสี่ขาเมื่อถึงอายุเท่านี้ หรือลูกน้อยอาจคลานถอยหลังเนื่องจากกล้ามเนื้อแขนแข็งแรงกว่ากล้ามเนื้อขา ควรจำไว้ว่า ทารกแต่ละคนมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน บางคนคลานทีหลัง หรือไม่คลานแต่เริ่มเดินเลย เป็นต้น

พัฒนาการเด็ก ด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ของเด็กอายุ 10-12 เดือน

เด็กอายุ 10-12 เดือน

ลูกจะสามารถคลานขึ้นบันไดได้ แต่การลงบันไดคุณแม่ต้องช่วยสอนทีละขั้นตอนและสอนซ้ำๆลูกถึงจะสามารถคลานลงบันไดได้ สามารถเดินได้เมื่อจับมือหรือเดินรอบเครื่องเรือนได้โดยการเกาะ เด็กบางคนอาจกลายเป็นนักคืบคลานผู้เชี่ยวชาญเนื่องจากสามารถเคลื่อนที่ด้วยการคลานได้อย่างรวดเร็ว เริ่มมีการปล่อยมือจากเครื่องเรือน ยืนประคองตัวเองเพื่อพร้อมเดิน เมื่อลูกน้อยอายุครบ 1 ปี ก็กลายเป็นเด็กวัยเตาะแตะ ลูกอาจยืนหรือเดินด้วยตัวเอง เด็กบางคนสามารถเดินได้เองก่อนอายุ 1 ปี ในขณะที่บางคนรอจน 1 ปีครึ่ง

พัฒนาการเด็กด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ของเด็กอายุ 1-3 ปี

เด็กอายุ 1-3 ปี

พัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่จะพัฒนาได้มากยิ่งขึ้น ในช่วง 1-3 ปี จึงเป็นช่วงที่เหมาะกับการเสริมพัฒนาการให้ร่างกายของลูกน้อยแข็งแรง คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกได้มีพื้นที่ในการสำรวจสิ่งต่างๆกว้างขึ้น เล่นนอกบ้านหรือสถานที่ที่แปลกใหม่ ควรส่งเสริมให้ลูกมีโอกาสเคลื่อนไหว เช่น เดินได้ด้วยตัวเอง, ลาก/ถือของเล่นเอง, ปีนป่ายขึ้นลงบันไดโดยใช้มือเกาะราวบันไดเอง ให้ลูกได้ใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของตนเองตามวัยและควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกใช้รถหัดเดิน เพราะนอกจากไม่ได้ช่วยลูกให้เดินได้ด้วยตัวเองแต่กลับยิ่งทำให้มีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ล่าช้า เพราะลูกมักเดินด้วยปลายเท้า เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ สำหรับพ่อแม่ที่ช่วยเหลือลูกมากจนเกินไป เช่น อุ้มลูกตลอดเวลา ไม่ให้ลูกคลานหรือเคลื่อนที่ด้วยตนเอง ไม่ให้โอกาสลูกในการเคลื่อนไหวอย่างเพียงพอ อาจทำให้ลูกมีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวล่าช้าได้ค่ะ

พัฒนาการเด็ก ด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ล่าช้าหรือเคลื่อนไหวผิดปกติ

วิธีการสังเกตพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ของลูกมีความล่าช้าหรือเคลื่อนไหวผิดปกติ ตัวอย่าง เช่น ลูกน้อยอายุ5 เดือนแล้วยังคอไม่แข็ง หรือมีพัฒนาการไวเกินไป เช่น พลิกคว่ำ/หงายได้ก่อนอายุ3 เดือน หรือมีความตึงตัวของกล้ามเนื้อน้อย เช่น รู้สึกว่าลูกตัวอ่อน หรือ มีความตึงตัวของกล้ามเนื้อมากเกินไป เช่น ตัวเกร็ง อุ้มจัดท่าได้ยาก เวลาจับยืนแล้วปลายเท้าชอบจิกพื้น มีการถนัดของการใช้แขนขาข้างใดข้างหนึ่งก่อนอายุ18เดือน คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกไปพบกุมารแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวางแผนการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมต่อไปค่ะ

บทความแนะนำ

1. เด็กอารมณ์ไม่ดี ส่งผลต่อ IQ ได้อย่างไร

2. 12วิธีเลี้ยงลูกให้ดี EQ สูง อารมณ์ดี เลี้ยงง่าย

3. 4เทคนิคฝึกลูกให้เป็นเด็กยิ้มเก่งและอารมณ์ดี๊ดี

เรียบเรียงโดย :  Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง :

1. ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย.คู่มือสำหรับพ่อแม่เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก.วัยเด็กเล็ก 0-3 ปี.เข้าถึงได้จาก http://www.thaipediatrics.org/Media/media-20171010123052.pdf .[ค้นคว้าเมื่อ 13 ตุลาคม 2560]

2. Dr A.J.R Waterston,MD,FRCP,FRCPCH,DRCOG,DCH.คัมภีร์การดูแลทารกและเด็กเล็ก.พัฒนาการเดือนต่อเดือนของลูก,หน้า 105-134.สำนักพิมพ์เอ็มไอเอส.กรุงเทพฯ.[ค้นคว้าเมื่อ 14 ตุลาคม 2560]

บทความแนะนำ

1. วิธีกระตุ้นพัฒนาการด้านการพูดของลูกน้อย

2. พัฒนาการลูกน้อย สร้างง่าย ๆ แต่ได้คุณภาพ

3. สร้างพัฒนาการความฉลาด ได้ด้วยธรรมชาติ