เต้านมคัด สาเหตุเต้านมคัด และวิธีรับมือกับอาการเต้านมคัดให้หายทันใจ

25 November 2017
29106 view

เต้านมคัด

เต้านมคัด เป็นปัญหาที่คุณแม่ทุกคนต้องประสบพบเจอหลังคลอด ที่ทำให้คุณแม่เกิดอาการปวด ไม่สบายตัว มีไข้ เป็นสาเหตุในการให้นมได้ไม่ดี การแนะนำการปฏิบัติจากบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ใหญ่ในครอบครัวและเพื่อนผู้มีประสบการณ์มีความเห็นที่แตกต่างและหลากหลายทำให้คุณแม่ยากที่จะตัดสินใจว่าจะปฏิบัติตัวที่เหมาะสมอย่างไร เพื่อจะทำให้รู้สึกสบายตัวและให้นมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่ๆมาดูข้อมูลเรื่องเต้านมคัดกันเลยจ้า

สาเหตุเต้านมคัด

สาเหตุของเต้านมคัดหรือนมคัด มีดังนี้

  1. ร่างกายสร้างน้ำนมได้มากกว่าปริมาณที่ลูกกิน
  2. แม่ทิ้งช่วงการให้ลูกกินนมนานเกินไป ให้นมลูกไม่บ่อยพอ จำกัดเวลาการให้นมลูก หรือไม่ได้บีบออกในช่วงที่ลูกไม่ได้ดูด ทำให้มีน้ำนมสะสมในเต้ามาก
  3. ให้ลูกดูดนมไม่ถูกวิธี ทำให้การระบายไม่ดีเท่าที่ควร

อาการเต้านมคัดอาจนำไปสู่ภาวะท่อน้ำนมอุดตันหรือเต้านมอักเสบ ดังนั้นควรพยายามป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น หากปฏิบัติได้ถูกต้องอาการควรหายไปภายใน 1-2 วัน

อาการเต้านมคัด

อาการเจ็บเต้านมคัด ระยะเวลาที่เกิดจะเป็นหลังวันที่ 7 ไปแล้ว อาจมีอาการเต้านมแข็ง บางครั้งน้ำนมไม่ไหลออกมาเวลาปั๊มหรือบีบ คุณแม่บางท่านอาจมีอาการร้อนของเต้านม บางครั้งมีอาการเหมือนเป็นไข้

วิธีแก้ไขเต้านมคัด

วิธีแก้ไขปัญหาเต้านมคัด ดังนี้

  1. ประคบเต้านมด้วยผ้าอุ่นจัดอย่างน้อย 10 นาทีก่อนที่จะให้นมลูก ควรใช้ผ้าขนหนูผืนใหญ่พอที่จะหุ้มเต้านมได้โดยรอบ ตามด้วยการนวดและคลึงเต้านมเบาๆ จากฐานลงไปที่หัวนม 
  2. บีบน้ำนมออกจนลานหัวนมนุ่มลง จะช่วยให้ลูกงับลานหัวนมง่ายขึ้น
  3. ให้ลูกดูดน้ำนมบ่อยมากขึ้น อย่างน้อยทุก 2 – 2 ½ ชั่วโมง ดูดให้ถูกวิธี เพื่อระบายน้ำนมออกจากเต้าให้ได้มากที่สุด และต้องให้ดูดในเวลากลางคืนด้วย มิฉะนั้นเต้านมจะคัดในเช้าวันรุ่งขึ้นอีก อีก ถ้าไม่สามารถให้นมลูกได้ตามเวลา ควรบีบน้ำนมออกเก็บไว้
  4. หลังให้นมลูกเสร็จ ประคบเต้านมด้วยความเย็นเพื่อลดความเจ็บปวด
  5. ถ้าแม่เจ็บมากจนให้ลูกดูดนมไม่ได้ อาจต้องพัก ระบายน้ำนมออกโดยบีบหรือปั๊มออก และป้อนนมแม่จากถ้วยให้ลูกแทน
  6. รับประทานยาแก้ปวด ตามความจำเป็นเช่น พาราเซทตามอล
  7. ควรใส่เสื้อชั้นในเพื่อพยุงเต้านมไว้
  8. บีบเอาน้ำนมออกได้เรื่อย ๆ ถ้าจำเป็น เพื่อจะได้คลายความเจ็บปวดจนกว่าอาการเต้านมคัดจะดีขึ้น
  9. หากอาการคัดเป็นรุนแรงมาก ควรปรึกษาคลินิกนมแม่ 

ถ้าหากคุณแม่ยังมีอาการเจ็บหัวนม เต้านมคัดเกิน 2 วัน หลังจากพยายามรักษาด้วยตัวเองแล้ว หรือทำตามคำแนะนำต่างๆแล้ว คุณแม่ควรไปพบผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการอบรมด้านการให้นมแม่โดยเฉพาะค่ะ

เต้านมคัด บรรเทาด้วยการทานยาได้หรือไม่ 

เมื่อคุณแม่ต้องการแก้ไขปัญหาเต้านมคัดด้วยการทานยา โดยคุณแม่สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ ตามความจำเป็นเช่น พาราเซทตามอล ค่ะ

การป้องกันเต้านมคัด

การป้องกันเต้านมคัดคุณแม่สามารถทำได้ดังนี้ค่ะ 

  1. ไม่ควรทิ้งระยะให้นมลูกนานเกินไป หากมีธุระไม่สามารถให้นมลูกได้ตามเวลา ควรบีบน้ำนมออกมาเก็บไว้เพื่อให้ลูกทานด้วยถ้วย
  2. ให้ลูกดูดนมบ่อยๆ ดูดถูกวิธี และดูดจนเกลี้ยงเต้า

ในกรณีที่คุณแม่คัดและปวดเต้านมมากจนแตะไม่ได้ วิธีที่ช่วยได้คือ นำกะละมังใส่น้ำอุ่นจัดที่พอทนได้วางบนโต๊ะ แล้วก้มตัวลงโดยใช้ข้อศอกยันโต๊ะไว้ ให้เต้านมจุ่มลงในน้ำสักพักใหญ่ๆ แล้วกระตุ้นการหลั่งน้ำนม(ทำจี๊ด)โดยโดยนวดเต้านมเบาๆ หรือใช้หลังนิ้วลูบเบาๆ จากนั้นจึงแช่เต้าในกะละมังอีกครั้งค่อยๆ ใช้มือบีบน้ำนมออกทีละน้อยเท่าที่จะทนเจ็บได้ค่ะ

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. สาเหตุที่ทำให้หัวนมแตกและวิธีป้องกันหัวนมแตก

2. 12 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับนมแม่

3. เทคนิคเพิ่มน้ำนมแบบง่ายๆ

เรียบเรียงโดย :  Mamaexpert Editorial Team 

อ้างอิง

1. มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.).เต้านมคัด ปวดมาก จะทำอย่างไรดี.เข้าถึงได้จาก http://www.thaibreastfeeding.org/page.php?id=87 [ค้นคว้าเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2560]

2. Babycenter.Engorged breasts.เข้าถึงได้จาก https://www.babycenter.com/0_engorged-breasts_231.bc .[ค้นคว้าเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2560]

3. Hospital Recommended.รวมปัญหาเกี่ยวกับหัวนม “อาการเต้านมคัด” เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/8k2cS2.[ค้นคว้าเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2560]