วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่พบมากในหญิงไทยเป็นอันดับที่ 2 รองจากมะเร็งเต้านม การป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV จึงเป็นแนวทางการป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด หลักการที่สำคัญคือควรฉีดตั้งแต่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์และร่างกายอยู่ในวัยที่สร้างภูมิคุ้มกันได้ดีเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบขึ้นไปจนถึงอายุ 26 ปี นอกจากป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกในเด็กผู้หญิงแล้ว วัคซีนยังป้องกันโรคหูดหงอนไก่และมะเร็งทวารหนักในเด็กผู้ชายได้อีกด้วยค่ะ Mama Expert จึงนำเกร็ดความรู้เรื่องวัคซีนเสริมไวรัสฮิวแมนแปปิลโลมา (เอชพีวี) หรือวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก มาฝากคุณพ่อคุณแม่เพื่อให้ศึกษา และตระหนักถึงความสำคัญของวัคซีนนี้ ดังนี้ค่ะ
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกคืออะไร
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีนเอชพีวี คือ วัคซีนป้องกันปากมดลูกจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อ ไวรัสเอชพีวี (HPV หรือ Human papilloma virus/ฮิวแมนแป๊บปิลโลมาไว รัส) ซึ่งการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูก เพราะทำให้เซลล์ปากมดลูกอักเสบเรื้อรังและอาจกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้
ใครบ้างต้องฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนในเด็กหญิงที่กำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หรือเด็กหญิงวัย 11 ปี ซึ่งถือเป็นวัยที่เหมาะที่สุดในการได้รับวัคซีน HPV เนื่องจากเป็นวัยที่ยังไม่เคยมีกิจกรรมทางเพศ และเด็กหญิงทุกคนควรได้รับการป้องกันก่อนที่จะติดเชื้อ
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกฉีดอย่างไร
- ประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก จะสูงขึ้นหากฉีดในวัยที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน
- ฉีดในวัยที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี จากงานวิจัยพบว่า ร่างกายของเด็กผู้หญิงสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสนี้ได้ดีในช่วง 9-15 ปี ซึ่งสามารถฉีดวัคซีนเพียง 2 ครั้ง แต่ได้ประสิทธิภาพเทียบเท่าการฉีด 3 ครั้ง
- ผู้หญิงอายุ 9-26 ปี ควรฉีดวัคซีน HPV โดยเน้นให้ฉีดช่วงอายุ 11-12ปี
- เด็กผู้ชายอายุ 9-26 ปี สามารถฉีดวัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์เพื่อป้องกันโรคหูดหงอนไก่และมะเร็งทวารหนัก เน้นให้ฉีดช่วงอายุ 11-12 ปี
การฉีดวัคซีน HPV ต้องฉีดให้ครบถ้วนทั้งหมด 3 ครั้ง
ครั้งที่ 1 : ฉีดในวันที่กำหนดเลือก
ครั้งที่ 2 : ฉีดหลังจากเข็มแรก 1-2 เดือน
ครั้งที่ 3 : ฉีดหลังจากเข็มที่แรก 6 เดือน
ในเด็กผู้หญิง หากฉีดเข็มแรกก่อนอายุ 15 ปี สามารถฉีดวัคซีนเพียง 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือนค่ะ
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก มีผลข้างเคียงอย่างไร
จริง ๆ แล้ววัคซีน HPV มีความปลอดภัยสูง แต่ในบางคนอาจได้รับผลข้างเคียงคล้าย ๆ กับการฉีดวัคซีนชนิดอื่น ๆ เช่น รู้สึกปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีดยา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เป็นไข้ คลื่นไส้ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่รุนแรง และจะหายไปได้เองเมื่อผ่านไป 2-3 วัน
ใครบ้างที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้
- หญิงมีครรภ์ แต่หากพบว่าตั้งครรภ์ขณะกำลังได้รับวัคซีนแต่ยังฉีดไม่ครบ ให้ฉีดวัคซีนเข็มที่เหลือต่อในช่วงหลังคลอด
- ผู้ที่แพ้ส่วนประกอบในวัคซีน เช่น ยีสต์
- ผู้ที่มีอาการที่บ่งชี้ว่าเคยแพ้ หรือมีภาวะไวเกินหลังจากการฉีดวัคซีนครั้งแรก
ราคาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
ในปัจจุบันวัคซีน HPV ยังมีราคาสูงอยู่เมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดอื่น ๆ ที่ใช้ป้องกันโรค คือโดยเฉลี่ยเข็มละ 2,000-4,000 บาท ซึ่งมีโรงพยาบาลหลายแห่งจัดเป็นแพ็กเกจ ฉีด 2 เข็ม (สำหรับเด็กอายุ 9-14 ปี) ในราคาประมาณ 4,000-6,000 บาท หากฉีด 3 เข็ม (สำหรับคนอายุเกิน 14 ปี) ในราคาประมาณ 6,000-10,000 บาท ขึ้นอยู่กับว่าเป็นวัคซีนชนิดกี่สายพันธุ์ แต่หากเป็นโรงพยาบาลของรัฐ ราคาจะถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชน ลองสอบถามค่าบริการได้จากแผนกสูตินรีเวชของโรงพยาบาลที่เราสะดวกเข้ารับการฉีดวัคซีน หรือตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ของแต่ละโรงพยาบาล
สรุปแล้วก็คือ วัคซีน HPV ไม่สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ 100% เพราะยังมีเชื้อ HPV บางสายพันธุ์ที่ป้องกันไม่ได้ แต่ก็เป็นด่านป้องกันได้ระดับหนึ่ง ซึ่งการจะฉีดวัคซีนหรือไม่ก็ต้องพิจารณาหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องทุนทรัพย์ด้วย เพราะราคาวัคซีน HPV ค่อนข้างสูง และควรปรึกษาแพทย์ก่อนค่ะ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังจำเป็นต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามแพทย์แนะนำ แม้จะไม่มีอาการผิดปกติก็ตามค่ะ
คุณพ่อคุณแม่พึ่งรู้ว่า ไวรัส HPV ไม่เพียงแต่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกนะคะ แต่ยังรวมไปถึงมะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด และหูดอวัยวะเพศด้วย ดังนั้นการป้องกันโรคด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) ให้ครบถ้วนตั้งแต่อายุยังน้อยย่อมช่วยให้ห่างไกลโรคได้เป็นอย่างดีค่ะ อย่าลืมพาลูกน้อยไปรับวัคซีนนะคะ
ด้วยรักและห่วงใย Mama Expert
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
2. ชุดตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team
อ้างอิง :
1. โรงพยาบาลกรุงเทพ (Bangkok hospital).ฉีดวัคซีน HPV ตั้งแต่เด็ก ลดเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/m8XL2U [ค้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560]
2. สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย.โอฬาร พรหมาลิขิต และคณะ.“วัคซีน….น่ารู้”.วัคซีนมะเร็งปากมดลูก ข่าวดีสำหรับคุณผู้หญิง;หน้า 65-68.กรุงเทพฯ.[ค้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560]