เด็กตัวเหลือง
เด็กตัวเหลือง เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิดและเด็กเล็ก เกิดจากร่างกายมีสารสีเหลืองที่มีชื่อว่า บิลิรูบิน (Bilirubin) ในกระแสเลือดมากกว่าปกติและไปจับอยู่ตามเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย เช่น ที่ผิวหนังและที่ตาจึงทำให้ผิวทารกและตาขาวเป็นสีเหลือง ที่อันตรายคือ บิลิรูบินที่สูงเกินสำหรับทารกนั้น ไปจับกับเซลล์สมองอาจทำให้ทารกมีอาการผิดปกติ ปัญญาอ่อน พิการหูหนวกตามมาได้ จึงจำเป็นต้องให้การวินิจฉัยและการรักษาในเวลาที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของลูกค่ะ
เด็กตัวเหลือง มีอาการอย่างไร
เด็กแรกเกิดมักเริ่มมีภาวะตัวเหลืองและตาเหลืองในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด โดยอาการเริ่มจากใบหน้าเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน ก่อนลามไปส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ลำตัว ท้อง แขน ขา และอาจมีสีเหลืองชัดขึ้นเมื่อใช้ปลายนิ้วกด รวมถึงมีอาการอื่น ๆ ที่สังเกตได้ ดังนี้
- ตาขาวเป็นสีเหลือง
- เหงือกเหลือง
- ฝ่ามือ ฝ่าเท้าเหลือง
- ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม (ปกติปัสสาวะของเด็กแรกเกิดจะไม่มีสี)
- อุจจาระมีสีขาวซีดเหมือนสีชอล์ก (ผิดจากปกติที่ควรเป็นสีเหลืองหรือสีส้ม)
คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที หากสังเกตพบอาการต่อไปนี้
- ตัวเหลืองและมีไข้สูงร่วมด้วย
- ไม่ยอมดูดนม น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น
- แขน ขา และท้องเหลือง
- เซื่องซึม
- ร้องไห้เสียงแหลม
- มีอาการตัวเหลืองมากขึ้นเรื่อยๆ
- มีอาการตัวเหลืองนานกว่า 3 สัปดาห์
เด็กตัวเหลือง มีสาเหตุเกิดจากอะไร
เด็กตัวเหลืองส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากระดับสารบิลิรูบินหรือสารสีเหลืองในเลือดที่สูงมากเกินไป นอกจากนี้ ภาวะเด็กตัวเหลืองอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้เช่นกัน ดังนี้
1. เด็กตัวเหลือง เป็นภาวะปกติที่ไม่ใช่โรค (Physiologic jaundice)
ส่วนใหญ่จะพบในทารกหลังคลอด วันที่ 3-4 เนื่องจากขณะอยู่ในครรภ์มารดาทารกมีจำนวนเม็ดเลือดแดงในระดับสูง เมื่อเม็ดเลือดแดงส่วนนี้ถูกทำลายตามอายุของเม็ดเลือดแดง สารฮีมภายในถูกเปลี่ยนเป็นบิลิรูบิน แม้ทารกที่มีสุขภาพแข็งแรงดีประมาณ 50-60% ก็อาจมีตัวเหลืองได้ในระดับไม่สูงมาก และมักจะหายเหลืองไปเองเมื่ออายุประมาณ 5-7 วัน หรืออย่างมากไม่เกิน 10 วัน ในเด็กคลอดครบกำหนด แต่เด็กคลอดก่อนกำหนด อาการตัวเหลืองจะหายไปภายในประมาณ 2 สัปดาห์
2. เด็กตัวเหลือง ที่เกิดจากการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น
เด็กตัวเหลืองที่เกิดจากการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น เช่น
- หมู่เลือดของแม่และทารกไม่ตรงกัน มักพบในคุณแม่หมู่เลือดโอและทารกหมู่เลือดเอหรือบี หรือในคุณแม่ที่มีหมู่เลือด Rh ลบ โดยที่ทารกมี Rh บวก ฯลฯ เป็นต้น
- ทารกที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง หรือขาดเอ็นไซม์บางอย่างในเม็ดเลือดแดง เช่น ภาวะพร่องเอนไซม์ จี6พีดี หรือ ธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกได้
- ทารกมีเม็ดเลือดแดงจำนวนมากโดยเฉพาะทารกที่คลอดจากแม่ที่เป็นเบาหวาน
- ทารกมีเลือดออกหรือเลือดคั่งเฉพาะส่วน เช่น บวม โนที่ศีรษะจากการคลอด ทารกหน้าคล้ำหลังคลอด เป็นต้น
- การติดเชื้อในทารกแรกเกิด ซึ่งมักมีอาการซึม ไม่ดูดนม อาจมีท้องอืด อาเจียน มีไข้ หรือไม่มีก็ได้ ฯลฯ
3. เด็กตัวเหลือง ที่เกิดจาก
สาเหตุอื่นๆ
- เด็กทารกที่ดูดนมแม่อาจพบมีภาวะตัวเหลืองในปลายอาทิตย์แรก และอาจเหลืองนานเกิน 1-4 สัปดาห์ ในระดับที่ไม่มีอันตราย
- ภาวะพร่องฮอร์โมนจากต่อมไธรอยด์
- โรคอื่นๆ ที่พบน้อยมาก เช่น มีการอุดตันในทางเดินอาหาร ในกระเพาะอาหาร ลำไส้ หรือท่อน้ำดี
- ทารกที่คลอดก่อนกำหนด เนื่องจากตับทำงานได้ไม่ดีเท่าทารกที่คลอดครบกำหนด จึงอาจพบภาวะตัวเหลืองได้สูงกว่าปกติ
เด็กตัวเหลือง เพราะกินนมแม่จริงหรือไม่
เด็กตัวเหลือง รักษาอย่างไร
เด็กตัวเหลืองสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการลดระดับของบิลิรูบินในเลือดด้วยวิธีมาตรฐานที่นิยมใช้ดังนี้
1. เด็กตัวเหลือง รักษาด้วยการส่องไฟรักษา
คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจเข้าใจผิดว่าหลอดไฟธรรมดาสามารถรักษาภาวะตัวเหลืองได้ แต่แท้จริงแล้วหลอดไฟที่ใช้ในการรักษาเป็นหลอดไฟชนิดพิเศษที่มีความยาวคลื่นแสงเหมาะสมกับการรักษาเท่านั้น หากระดับของบิลิรูบินในเลือดสูงเกิน 12-15 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร ต้องนำทารกมาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเท่านั้นเพราะไม่สามารถใช้หลอดไฟที่มีอยู่ตามบ้านหรือแสงแดดในการรักษาภาวะตัวเหลืองได้
2. เด็กตัวเหลือง รักษาด้วยการถ่ายเลือดร่วมกับการส่องไฟรักษา
ถ้าหากระดับของบิลิรูบินในเลือดสูงมากจนอาจจะเกิดการสะสมในเนื้อเยื่อสมอง หรือแสดงอาการเฉียบพลันทางสมองเบื้องต้นแล้ว ควรใช้วิธีการถ่ายเลือดร่วมกับวิธีการส่องไฟรักษาเพื่อลดระดับของบิลิรูบินในร่างกายของทารกได้อย่างทันท่วงที
3. เด็กตัวเหลือง รักษาด้วยยา
ยาที่สามารถรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดได้คือยาชีววัตถุ เช่น อิมมูโนโกลบูลินชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous immunoglobulin)
เด็กตัวเหลือง มีวิธีดูแลอย่างไร
1. หากพบทารกมีภาวะตัวเหลืองตั้งแต่แรกคลอด คุณหมอจะทำการรักษาตามวิธีมาตรฐานอยู่แล้วและอาจจะมีการนัดตรวจติดตาม บทบาทของคุณพ่อคุณแม่มือใหม่เพียงแค่พาลูกน้อยมาตรวจตามที่คุณหมอนัด
2. หากลูกน้อยเริ่มแสดงอาการตัวเหลืองหลังจากกลับไปอยู่บ้าน ให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตอาการเบื้องต้น เพื่อตรวจสอบว่าทารกตัวเหลืองคือไม่ตามวิธีข้างต้น หากพบว่ามีอาการตัวเหลืองเพิ่มขึ้นควรนำลูกมาตรวจที่โรงพยาบาลทันที
3. สังเกตสีของอุจจาระหรือปัสสาวะของทารก หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น อุจจาระมีสีซีด หรือ ปัสสาวะมีน้ำตาลเข้มควรมาพบแพทย์อย่างทันท่วงที
4. อาการหรือความผิดปกติอื่น ๆ เช่น มีไข้ ซึม ไม่ดูดนม หรือท้องอืด ควรพาลูกน้อยมาพบแพทย์ทันที
5. เลี้ยงทารกด้วยน้ำนมแม่ หากคุณแม่มือใหม่ประสบปัญหาในการให้นมลูกน้อย เช่น ลูกดูดนมยาก ลูกดูดนมน้อยหรือยังให้นมลูกไม่ถูกต้อง ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการเลี้ยงทารกด้วยนมแม่ในสถานพยาบาลเพื่อเสริมพัฒนาการที่ดีของทารก
เด็กตัวเหลือง ป้อนน้ำป้อนน้ำช่วยลดอาการเหลืองได้จริงหรือ
การป้อนน้ำไม่ช่วยลดอาการเหลือง ส่วนการงดนมแม่ จะต้องพิจารณาถึงสาเหตุและระดับของสารสีเหลืองในทารกแต่ละราย และสารสีเหลืองพวกนี้ ไม่ละลายในน้ำ ต่อให้กินน้ำมากแค่ไหน ก็ไม่ช่วยค่ะ
ไม่ว่าลูกจะเจ็บป่วยด้วยภาวะอาการใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่ไม่ควรทำคือเข้าใจและรักษากันเอง เพราะนั่นจะไม่ได้ช่วยให้ลูกหายป่วยแล้ว ยังจะเป็นการทำให้ลูกเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้ ง่ายๆ ค่ะถ้าลูกแรกเกิดมีอาการผิดปกติขึ้น ให้คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันทีค่ะ
..ด้วยรักและหวงใย จากใจ Mama expert...
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
3. โคลอสตรุ้มนมแม่ น้ำนมสีเหลือง
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team
อ้างอิง
1. มหาวิทยาลัยมหิดล คณเภสัชศาสตร์.ดร.คณิสส์ เสงี่ยมสุนทร.ลูกตัวเหลือง เรื่องไม่เล็กของเด็กเปลี่ยนสี.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/ceEkb0 .[ค้นคว้าเมื่อ 3 มีนาคม 2561]
2. โรงพยาบาลสมิติเวช.ภาวะเด็กตัวเหลือง.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/85tSLT .[ค้นคว้าเมื่อ 3 มีนาคม 2561]
3. มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย.ลูกตัวเหลือง..เข้าถึงได้จาก http://www.thaibreastfeeding.org/page.php?id=105 .[ค้นคว้าเมื่อ 3 มีนาคม 2561]