ห๊ะ!!!ในนมผงเด็กมีน้ำมันพืชผสมด้วยจริงหรือ?

11 October 2018
3299 view

ไขมันเป็นสารอาหารสำคัญต่อการเจริญเติบโตของทารก และแหล่งไขมันที่ดีที่สุดคือ ไขมันจากนมแม่ คุณแม่ทราบหรือไม่ในอุตสาหกรรมนมผงมีการเติมไขมันพืชลงไปในนมผงด้วย ทำไมถึงต้องเติม? ไขมันจากพืชที่เติมในนมผงเด็ก VS ไขมันจากนมแม่สามารถเทียบเคียงกันได้มากน้อยแค่ไหน? เด็กที่กินนมผงเติมไขมันพืชจะได้รับผลดีหรือผลกระทบอย่างไร เป็นอีกเรื่องที่คุณแม่ต้องรู้ ตามมาค่ะ ...

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับไขมันในน้ำนมที่ลูกดื่ม

ไขมันจากน้ำนมแม่ มีปริมาณที่แตกต่างกันออกไปตามกาลเวลา คุณแม่หลายคนมีความเข้าใจผิดอยู่มากว่า แม่อวบน้ำนมจะดีมีไขมันในน้ำนมมากกว่าคุณแม่ผอมเพรียว ความจริงแล้วไขมันในน้ำนมมาจากอาหารที่คุณแม่รับประทานเข้าไปในแต่ละวัน  จากการศึกษาพบว่าไขมันในนมแม่มีปริมาณที่แตกต่างส่วนหนึ่งมาจากระยะเวลาด้วย กล่าวคือ

  • ในช่วง 3 วันแรกที่คลอด  เต้านมจะผลิตน้ำนมเหลือง ( Colostrum ) ที่อุดมไปด้วยสารอาหารครบถ้วนเปรียบเสมือนวัคซีนป้องกันโรค และในน้ำนมเหลืองยังพบปริมาณไขมันที่สูงกว่าน้ำนมช่วงอื่นๆ อีกด้วย
  • เดือนที่ 3 ของการคลอด พบว่าในน้ำนมมีปริมาณไขมันเพิ่มมากขึ้นกว่าเดือนแรกๆ ที่คลอด
  • หลัง 3 เดือนขึ้นไป พบว่าเป็นช่วงที่นมแม่มีปริมาณไขมันที่สูงที่สุด

การเลี้ยงลูกของแม่แต่ละคนแตกต่างกันออกไป คุณแม่หลายบ้านมีความจำเป็นต้องเลี้ยงลูกด้วยนมผง ซึ่งไขมันที่ได้จากนมผงนั้นมีที่มาต่างกัน และชนิดของไขมันก็แตกต่างกันออกไปด้วย  คุณแม่ไม่ควรพลาดในรายละเอียด ตามไปดูในหัวข้อต่อไปเลยค่ะ

ไขมันจากนมแม่ VS ไขมันจากนมผงเด็ก แตกต่างกันอย่างไร

ไขมันจากแหล่งที่มาต่างกัน คุณภาพย่อมมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะไขมันจากน้ำนมแม่ยากที่จะเลียนแบบ คุณแม่ควรมีความรู้เรื่องไขมันจากนมชนิดต่างๆ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวแม่ลูกอ่อนมากถึงมากที่สุดเลยทีเดียว

  • ไขมันจากน้ำนมแม่ เป็นไขมันธรรมชาติมีทั้งชนิดอิ่มตัวและไม่อิ่มตัว กรดไขมันไม่อิ่มตัว⁽¹⁾ในนมแม่ประกอบด้วยกรดไขมัน DHA , ARA มีส่วนช่วยในการทำงานของเยื่อหุ้มเซลล์⁽²⁾  หากได้รับในปริมาณที่เพียงพอจะทำให้สมองของทารกพัฒนาได้ดีตามช่วงวัย และกรดไขมันชนิดอิ่มตัวในนมแม่ก็มีเช่นกันคือ กรดไขมันปาล์มิติกซึ่งมีเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ย่อยไขมันช่วยให้นมแม่ย่อยง่ายมากขึ้น⁽¹⁾
  • ไขมันจากนมผงที่ผลิตจากนมวัว ไขมันที่ได้จากนมวัว เป็นกรดไขมันอิ่มตัวที่มีห่วงโซ่ชนิดสั้น ดูดซึมยาก มีกรดไขมันไม่เหมือนในน้ำนมแม่ ในอุตสาหกรรมนมวัว ได้คิดค้นพัฒนาให้นมวัวมีไขมันชนิดเดียวกับนมแม่จึงเติมน้ำมันพืช เช่น น้ำมันปาล์ม ลงไปเพื่อให้มีกรดปาล์มิติกเช่นเดียวกับนมแม่ แต่การเติมไขมันพืชลงไปนั้น ทำให้นมเกิดไคลสบู่ ไม่ถูกดูดซึม ซ้ำยังขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมอีกด้วย  เด็กที่ดื่มนมผงที่ผลิตจากนมวัว จึงมักมีอาการถ่ายอุจจาระแข็ง และยังขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมเสี่ยงต่อร่างกายขาดแคลเซียมอีกด้วย
  • ไขมันจากนมผงที่ผลิตจากนมแพะ  ไขมันจากนมแพะเป็นไขมันได้จากธรรมชาติมี MCT Oil ซึ่งเป็นไขมันสายปานกลาง (Medium Chain Triglycerides) ซึ่งสูงกว่านมวัวถึง 40%⁽³⁾ และมีกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว (polyunsaturated fatty acid) ที่มากกว่านมวัว⁽⁴⁾  นมแพะมี DHA, ARA, โอเมก้า 3,6,9  ซึ่ง DHA ช่วยในการบำรุงสมอง ส่วน EPA ที่มีอยู่ในโอเมก้า 3 ช่วยทำให้เม็ดเลือดไม่เกาะตัว กรดเลโนเลอิกในโอเมก้า 6 มีส่วนช่วยในการป้องกันไม่ให้คลอเลสเตอรอลสะสมที่ผนังหลอดเลือด โอเมก้า 9 ช่วยรักษาระดับคลอเลสเตอรอลไม่ให้สูงและช่วยส่งเสริมในเรื่องของพัฒนาการทางสมองและสายตา³⁾ นอกจากนั้นกรดไขมันปาล์มิติกที่มีอยู่ในนมแพะจะมีเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ย่อยไขมัน ช่วยลดอาการท้องผูกในเด็กที่ดื่มนมแพะได้เป็นอย่างดี  

นมแม่ ดีที่สุดเหมาะที่สุดสำหรับการใช้เลี้ยงทารก ถึงแม้จะมีนมผงเด็กที่พยายามดัดแปลงให้มีสารอาหารและกรดไขมันต่างๆ ที่เทียบเคียงหรือใกล้เคียงกับนมแม่ แต่ใช่ว่านมผงนั้นๆจะเหมาะกับเด็กทุกคน การเลือกนมให้ลูกจึงเป็นงานใหญ่สำหรับคุณแม่ Mamaexpert นำความรู้ดีๆ มาฝากคุณแม่ทุกบ้าน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลในวันนี้จะเป็นตัวช่วยที่ดีในการเลือกสรรนมสำหรับลูกในวันที่ลูกต้องดื่มนมผงนะคะ

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง :

  1. พญ.ชนิกานต์ ทิพากรโรจนกิจ กุมารแพทย์ด้านโภชนาการ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ :ไขมันชั้นดีในนมแม่. (2557).รักลูก,ปีที่ 32 ฉบับที่ 381.
  2. Chang CY1, Ke DS, Chen JY.Essential fatty acids and human brain.เข้าถึงได้จาก https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/20329590.[ค้นคว้าเมื่อ 7 กันยายน 2561]
  3. มารู้จักนมแพะ.เข้าถึงได้จาก https://www.dgsmartmom.com/about-the-goat-milk/.[ค้นคว้าเมื่อ 7 กันยายน 2561]
  4. ทศพร นามโฮง.นมแพะ : ทางเลือกใหมเพื่อสุขภาพ. เข้าถึงได้จาก file:///C:/Users/Administrator/Downloads/98900-Article%20Text-247436-1-10-20170913%20(1).pdf.[ค้นคว้าเมื่อ 7 กันยายน 2561]