ลูกมีไข้
ลูกมีไข้เรื่องใหญ่ ทำอย่างไรให้เป็นเรื่องเล็ก
เมื่อลูกเป็นไข้ การให้ยาลดไข้ทานเพียงอย่างเดียวนั้น อาจจะไม่เพียงพอที่จะลดไข้ได้ เนื่องจากยาที่ทานเข้าไป จะต้องใช้เวลาประมาณ 30 นาที จึงจะออกฤทธิ์ทำให้ไข้ลดลง ระหว่างที่รอให้ยาออกฤทธิ์ เด็กบางคนอาจจะเกิดอาการชักจากไข้ขึ้นสูงได้ จึงควรเช็ดตัวเพื่อช่วยลดไข้ ทำให้ลูกน้อยสบายตัว โดยใช้ผ้าเช็ดหน้าผืนพอเหมาะ 2 ผืน ชุบน้ำอุ่นหรือน้ำก๊อกธรรมดาบิดให้แห้งหมาดๆ ผืนหนึ่งเช็ดตัวทั่วไป อีกผืนหนึ่งวางประกบบริเวณที่เลือดไหลเวียนมาก เช่น บริเวณหน้าผาก ซอกคอ ซอกรักแร้ และขาหนีบ สลับกันไป การเช็ดตัวเพื่อลดไข้นั้นสามารถทำได้บ่อยๆ ถ้าพบว่าลูกน้อยตัวร้อนจัด เช็ดประมาณ 10-15 นาที เสร็จแล้วรีบเช็ดตัวให้แห้งและสวมเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับอากาศ การเช็ดตัวจะช่วยนำความร้อนออกจากร่างกาย ทำให้ไข้ลดลงได้ดีกว่าการเอาแผ่นเจลเย็นมาแปะที่หน้าผาก
ลูกมีไข้ ใช้น้ำเย็น หรือน้ำอุ่นเช็ดตัวดี
น้ำอุ่น จะทำหน้าที่คล้ายเหงื่อ เมื่อเราเอามาเช็ดตัวลูก ก็จะระเหยพาความร้อนไปด้วย น้ำอุ่นช่วยให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวได้ดี เลือดสามารถไหลมาสู่ผิวได้ดี เป็นการนำความร้อนจากภายในร่างกายมาสู่ผิวได้ดีขึ้น น้ำอุ่นไม่ทำให้ลูกรู้สึกถึงความแตกต่างของอุณหภูมิขณะเช็ดตัวมากเกินไป ไม่สะดุ้ง ไม่ผวา กล้ามเนื้อไม่สั่น
น้ำเย็น ทำให้เกิดความแตกต่างของอุณหภูมิมาก ลูกจะสะดุ้ง ผวา และรู้สึกไม่สบายตัว ความแตกต่างของอุณหภูมิที่มีมากนี้ อาจทำให้ลูกชักได้ด้วย และความเย็นจะทำให้กล้ามเนื้อสั่น ซึ่งจะทำให้เกิดความร้อนมากขึ้น น้ำเย็นทำให้เส้นเลือดฝอยหดตัว ร่างกายจะไม่สามารถสูบฉีดเลือดจากภายในมาที่ผิวหนังเพื่อถ่ายเทความร้อนได้ การถ่ายเทความร้อนอาจมีได้เฉพาะในช่วงสั้นๆ เท่านั้นการเช็ดตัวด้วยน้ำเย็นจึงไม่ได้ช่วยลดไข้แต่อย่างใด ใช้น้ำอุ่นนะคะ
สาเหตุสำคัญของการทำให้ลูกมีไข้
ไข้ เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก เกิดขึ้นร่วมกับความเจ็บป่วยในร่างกาย แสดงว่าเกิดการสูญเสียความสมดุลภายในร่างกาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย ผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ถ้ามีไข้ 39 – 40 องศาเซลเซียส อาจเกิดอาการชักจากไข้สูงได้ อาการชักส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงแรกที่เริ่มมีไข้ถ้าอาการชักเกิดขึ้นในวันหลังๆมักมีสาเหตุอื่นร่วม ด้วย เช่น ภาวะติดเชื้อระบบประสาท เป็นต้น
1. การติดเชื้อ เช่น การอักเสบของทางเดินหายใจ หูชั้นกลางอักเสบ ปอดบวม ทางเดินปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น
2. การที่ร่างกายทำปฏิกิริยากับสิ่งแปลกปลอม เช่น หลังการฉีดวัคซีน
3. ร่างกายขาดน้ำ เช่น อุจจาระร่วง อุณหภูมิภายนอกร่างกายสูงมากๆ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก
4. ได้รับบาดเจ็บ มีบาดแผล
สาเหตุเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้มีการหลั่งสารกระตุ้นสมองส่วนหน้าให้ตั้งระดับ อุณหภูมิสูงขึ้น ร่างกายตอบสนองโดยพยายามเพิ่มอุณหภูมิและเพิ่มความร้อนจากการเพิ่มอัตราการ เผาผลาญของเซลล์และการสั่นของกล้ามเนื้อ และลดการระบายความร้อนออกจากร่างกายโดยการตีบตัวของหลอดเลือดใต้ผิวหนัง ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นจนมีค่าเท่ากับที่ตั้งไว้ใหม่ คือ ทำให้เกิดอาการไข้
ขั้นตอนการเกิดไข้ มี 3 ระยะ
- ระยะหนาวสั่นเป็น ระยะเริ่มต้นของการมีไข้ หยุดการขับเหงื่อ เกิดการกระตุ้นกลไกการสร้างความร้อนให้ทำงานมากขึ้นโดยการสั่นของกล้ามเนื้อ ร่วมกับการหดตัวของหลอดเลือดที่ผิวหนัง ดังนั้น ขณะสั่นจึงรู้สึกหนาวร่วมด้วย เพราะอุณหภูมิผิวหนังลดลงเนื่องจากเลือดไหลมาน้อย โดยเฉพาะปลายมือปลายเท้าจะเย็น ระยะเวลาในการสั่นอาจแค่ 2-3 นาที หรือนานเป็นชั่วโมงขึ้นกับสาเหตุ เมื่ออุณหภูมิสูงถึงระดับที่กำหนดใหม่แล้วกลไกดังกล่าวจะหยุดทำงาน ไม่เกิดความรู้สึกร้อนหรือหนาวทั้งๆที่อุณหภูมิร่างกายสูง
- ระยะไข้ เมื่อมีการเพิ่มอุณหภูมิของร่างกาย ผิหนังอุ่น หน้าแดง รู้สึกร้อน การเผาผลาญมาก ทำให้หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว ร่างกายขาดน้ำ หากเกิดเป็นเวลานานเนื้อเยื่อร่างกายถูกทำลายจะอ่อนเพลียปวดเมื่อย กล้ามเนื้อไม่มีแรง เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน อาจมีอาการซึม กระสับกระส่าย ปวดศีรษะ เพ้อ ประสาทหลอนและมีอาการชักได้
- ระยะไข้ลดเมื่อสาเหตุของไข้ถูกกำจัดไปแล้ว อุณหภูมิร่างกายจะลดลง ลดการสร้างความร้อนภายในร่างกาย เลือดไปเลี้ยงผิวหนังมากขึ้น มีการหลั่งเหงื่อมากขึ้น
ลูกมีไข้ ส่งผลเสียอย่างไร
- ผลกระทบต่อระบบประสาท ทำให้ปวดศีรษะ ซึม กระสับกระส่าย ในเด็กอาจมีอาการชักจากไข้สูงได้ และอาการชักอาจส่งผลกระทบต่อสมองได้ หากอาการชักจากไข้สูงเกิดเป็นเวลานาน หรือชักบ่อย จะทำให้สมองขาดออกซิเจน สมองพิการ มีความผิดปกติของการเคลื่อนไหวและการรับความรู้สึก
- ผลกระทบต่อระบบไหลเวียน อัตราการบีบตัวของหัวใจมากขึ้น เพิ่มการทำงานของหัวใจ
- ผลกระทบต่อระบบย่อยอาหาร เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน การเคลื่อนไหวของลำไส้ลดลง การดูดซึมอาหารไม่ดี เสียน้ำทางเหงื่อและทางการหายใจมากขึ้น ทำให้มีอาการท้องผู
- ผลกระทบต่อระบบทางเดินปัสสาวะ พบว่าปัสสาวะน้อยละเนื่องจากเสียน้ำมากจากกระบวนการระบายความร้อนออกจากร่างกาย
- ผลกระทบต่อการเผาผลาญของร่างกาย เพิ่มมากขึ้น
5 วิธีช่วยให้ไข้ลดอย่างมีประสิทธิภาพ
- การให้ยาลดไข้ ยาลดไข้ที่ดีที่สุดคือยาพาราเซตามอง เพราะมีฤทธิ์ข้างเคียงน้อย และไม่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ส่วนยาจูนิเฟนมีผลดีในการลดไข้และป้องกันการชักจากไข้สูงได้ดีกว่าพาราเซตา มอล แต่มีฤทธิ์ข้างเคียง คือ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้
- การเช็ดตัวลดไข้ควรเช็ดตัวด้วยน้ำ อุ่นหรือน้ำธรรมดา ไม่ควรใช้น้ำเย็นจัด เพราะจะทำให้หลอดเลือดตีบและระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ยาก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการหนาวสั่นได้ ควรป้อนยาลดไข้ทันทีเมื่อมีไข้ร่วมกับการเช็ดตัวลดไข้ ยาลดไข้จะออกฤทธิ์ลดไข้หลังรับประทานยา 30 นาทีและออกฤทธิ์สูงสุด 1 ชั่วโมง คงสภาพได้ 4 ชั่วโมง ดังนั้นหากไข้สูงระหว่างมื้อยา ให้เช็ดตัวลดไข้ หากมีอาการหนาวสั่นควรให้ความอบอุ่นก่อนแล้วจึงเช็ดตัว
- ดื่มน้ำมากๆ ควรเป็นน้ำอุ่นหรือน้ำผลไม้ กระตุ้นให้ดื่มน้ำบ่อยๆเพื่อชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไปจากพิษไข้
- ใส่เสื้อผ้าโปร่ง สวมใส่สบาย ประเภทผ้าฝ้าย ไม่ควรใส่เสื้อผ้ายืดเพราะไม่ระบายความร้อน ไม่ควรใส่เสื้อผ้าหนาหรือห่มผ้าหนาๆ
- อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
เรื่องไข้เรื่องใหญ่มากสำหรับเด็ก หากดูแลไม่ถูกวิธี ลูกของคุณอาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ คุณแม่ควรใส่ใจกับภาวะไข้ของลูกน้อยทุกครั้ง อย่างไรก็ตามหากปฐมพยาบาลเบื้องต้อนแล้ว ไข้ยังคงอยู่ที่ 38 องศาเซลเซียส แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อความปลอดภัย
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. รู้ได้ยังไงว่าลูกมีไข้ และวิธีรับมือเบื้องต้น
2.เช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำอุ่นผสมมะนาว
3.สัญญาณอันตรายเมื่อลูกมีไข้ร่วมกับ15อาการต้องพบแพทย์ด่วน
เรียบเรียงโดย : Mama Expert Editorial Team