อาการโรค RSV
Respiratory Syncytial Virus (RSV) เชื้อไวรัสที่มักมาพร้อมกับหน้าฝน RSV เป็นสาเหตุให้ระบบทางเดินหายใจติดเชื้อ และอาการเบื้องต้นของคล้ายกับอาการไข้หวัดแทบแยกไม่ออก วันนี้ Mamaexpert นำวิธีสังเกตอาการของโรค RSV มาฝากกัน พร้อม 4 อาการรุนแรงที่ต้องระวัง ที่อาจทำให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้หากรักษาไม่ทันท่วงที มีอาการอะไรบ้างตามมาค่ะ
อาการโรค RSV มีกี่ระยะ?
1.อาการโรค RSV ระยะติดเชื้อ : โรค RSV สามารถติดเชื้อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย ไอ จาม หรือจากการสัมผัสอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ฯลฯ เชื้อ RSV สามารถอยู่ได้หลายชั่วโมง และผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อแล้วจะมีการแพร่กระจาย 3-8 วัน
2.อาการโรค RSV ระยะฟักตัว : RSV มีระยะฟักตัว 4-6 วัน ในระยะ 1-2 วันแรกอาการโรค RSV จะคล้ายอาการของไข้หวัดธรรมดา คือไข้ต่ำ จาม น้ำมูกไหล (น้ำมูกใส)
3.อาการโรค RSV ระยะหลักฟักตัว : ในระยะหลังฟักตัวเชื้อ RSV เติบโตจะส่งผลให้ทางเดินหายใจอักเสบ หลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ และปอดอักเสบ ในผู้ใหญ่และเด็กโตอาการจะไม่รุนแรง ขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ รวมทั้งเด็กที่มีโรคประจำตัวเช่นโรคหัวใจ หรือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ จะมีอาการรุนแรงที่สามารถสังเกตได้หลักๆ 4 ข้อ เป็นสัญญาณบอกว่าต้องรีบไปหาหมอทันที
4 อาการโรค RSV อันตรายต้องรีบไปหาหมอ
จากกรณีของ พญ. พรนิภา ศรีประเสริฐ (กุมารแพทย์) แนะวิธีสังเกตอาการโรค RSV ผ่านแฟนเพจ “เรื่องเด็กๆ by หมอแอม” ชี้ถึงอันตรายของอาการรุนแรงโรค RSV บอกว่าลูกกำลังเหนื่อยหอบ ต้องรีบพาไปหาหมอทันที โดยสังเกตได้จากอาการ 4 ข้อ ดังนี้
- หายใจเร็ว หอบแฮ่กๆ
- หายใจแรง พุงกระแทก
- อกบุ๋ม ซี่โครงบุ๋มเป็นร่องๆ
- ปีกจมูกบาน
หากลูกมีอาการตรงกับ 4 ข้อข้างต้น ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที หากปล่อยไว้นาน อาจทำให้ลูกเหนื่อยมากขึ้น นำไปสู่ระบบหายใจล้มเหลว หรือหยุดหายใจ สำหรับแม่ๆที่ยังนึกภาพไม่ออก สามารถสังเกตอาการรุนแรงของ RSV ได้จากคลิปวีดิโอประกอบด้านล่างนี้เลยค่ะ
คลิป : อาการอันตรายของโรคRSV
อาการโรค RSV มีความคล้ายกับอาการไข้หวัดธรรมอย่างที่ทราบกันไปแล้ว แม้ในผู้ใหญ่และเด็กโตจะมีอาการที่ไม่รุนแรง แต่ในเด็กเล็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต้องระวัง และสังเกตอย่างใกล้ชิด จาก 4 อาการรุนแรงข้างต้น เพราะหากได้รับการรักษาไม่ทัน อาจส่งผลให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้ ทั้งนี้การป้องกัน โดยการดูแลสุขภาพให้ห่างจากโรคถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่เมื่อป่วยแล้วก็ต้องรีบเข้ารับการรักษาให้ถูกต้อง ด้วยความห่วงใยจาก Mamaexpert
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team
ขอบคุณข้อมูล : พญ.พรนิภา ศรีประเสริฐ (กุมารแพทย์) แฟนเพจ “เรื่องเด็กๆ by หมอแอม”
ติดตามเรื่องเด็กๆ by หมอแอม ตอบทุกปัญหาเกี่ยวกับเด็ก
โดย พญ.พรนิภา ศรีประเสริฐ (กุมารแพทย์)
ในรูปแบบ VDO "ทุกวันพฤหัสบดี" ได้ที่ youtube : Mamaexpert official