อาการน้ำตาลตก ในคนท้อง
.
.
การตั้งครรภ์จัดเป็นเรื่องที่น่ายินดีของหลาย ๆ ครอบครัวเพราะเป็นหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกว่าครอบครัวนั้น ๆ กำลังจะมีสมาชิกคนใหม่เกิดขึ้นมาเติมเต็มความรักความอบอุ่นภายในครอบครัว เมื่อคุณแม่ทราบว่าตนตั้งครรภ์แล้วก็มักมีการฝากครรภ์กับคุณหมอเพื่อจะได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตนเมื่อตั้งครรภ์อย่างถูกวิธีและเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะที่ไม่พึงประสงค์ขณะที่คุณแม่ตั้งครรภ์ โดยหนึ่งในภาวะไม่พึงประสงค์ที่สามารถพบได้ในคุณแม่ตั้งครรภ์หลายท่านคือ อาการน้ำตาลตก สำหรับบทความนี้เราจะขอพาคุณแม่ตั้งครรภ์ไปทำเข้ารู้จักและเข้าใจกับภาวะนี้ว่าเกิดจากอะไร เมื่อเกิดภาวะนี้ควรทำอย่างไร รวมถึงมีวิธีป้องกันได้อย่างไรบ้าง
สาเหตุของ อาการน้ำตาลตก ในคนท้อง
อาการน้ำตาลตก หรือ น้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) เป็นภาวะที่ร่างกายคุณแม่ตั้งครรภ์มีน้ำตาลในเลือดหรือกลูโคสอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าปกติของร่างกาย ซึ่งมีสาเหตุเกิดได้จาก 3 ปัจจัยหลัก คือ
1.คุณแม่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) นำมาซึ่งภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
2.คุณแม่เป็นโรคเบาหวานก่อนการตั้งครรภ์ และ โรคเบาหวานดังกล่าวเป็นอย่างต่อเนื่องมาจนกระทั่งตั้งครรภ์ก็ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
3.คุณแม่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานมาก่อนการตั้งครรภ์ และ ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ แต่เกิดอาการน้ำตาลตก ในข้อนี้มีสาเหตุได้หลากหลาย อาทิเช่น
- การเจ็บป่วยจากโรคอื่นๆ ทำให้เกิดอาการน้ำตาลตกตามมา
- การอดอาหารที่มากเกินไป
- การรับประทานอาหารที่ไม่เพียงพอโดยเฉพาะอาหารที่ให้สารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต
- การออกกำลังกายอย่างหักโหมและมากเกินไป
- การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ
- การดื่มเครื่องดื่ม Alcohol ขณะตั้งครรภ์
ขณะตั้งครรภ์ อาการน้ำตาลตก เป็นอย่างไร
เมื่ออาการน้ำตาลตกเกิดขึ้น หรือ คุณแม่สงสัยว่ามีอาการดังกล่าวจะสามารถสังเกตได้จาก
- คุณแม่รู้สึกกระสับกระส่าย ฉุนเฉียว และหงุดหงิดง่าย
- คุณแม่มีใบหน้าซีด และ ปากซีด
- คุณแม่รู้สึกมึนงง และ วิงเวียนศีรษะ
- คุณแม่รู้สึกร้อนอย่างไม่ทราบสาเหตุ
- คุณแม่ตาพร่าหรือเห็นภาพซ้อน
- คุณแม่ไม่สามารถยืนตัวตรงได้ด้วยตนเอง
- คุณแม่ชัก
- คุณแม่หมดสติ
คนท้องน้ำตาลตก อันตรายหรือไม่
เราจะเห็นได้ว่าอาการน้ำตาลตกที่เกิดขึ้นจะมีอาการใกล้เคียงกับอาการของคนที่กำลังจะเป็นลม หากคุณแม่มีอาการไม่รุนแรง อาการเหล่านี้จะสามารถดีขึ้นได้เองตามลำดับ เมื่อคุณแม่ได้รับน้ำตาลในปริมาณที่เพียงพอทำให้ระดับน้ำตาลหรือระดับกลูโคสในร่างกายคงอยู่ในระดับปกติ แต่หากคุณแม่มีอาการรุนแรง อาทิเช่น เกิดอาการชัก หรือ อาการหมดสติ ในส่วนนี้จะเป็นอันตรายค่อนข้างสูง เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ได้
วิธีการดูแลรักษาเมื่อน้ำตาลในเลือดต่ำ
เราคงหลีกเลี่ยงภาวะน้ำตาลตกนี้ไม่ได้ แต่เมื่อเป็นแล้วคุณแม่ตั้งครรภ์ หรือ ผู้ที่ดูแลคุณแม่สามารถดูแลรักษาคุณแม่ได้ ดังนี้
1.ตั้งสติ เมื่อเกิดอาการดังกล่าวมักเกิดการตกใจตามมาทำให้ขาดสติ และทำให้การช่วยตัวเองของคุณแม่เกิดขึ้นได้ช้า หรือ แม้แต่การช่วยเหลือจากผู้ใกล้ชิดและผู้ที่ดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ที่น้ำตาลตกอาจดูแลอย่างผิดวิธีได้ ดังนั้นสิ่งแรกที่ทุกคนพึงมีเลยก็คือสตินั่นเอง
2.เมื่อมีอาการให้รีบทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือด จากนั้นแบ่งออกเป็น 3 กรณี คือ
2.1 กรณีที่อาการไม่รุนแรง และคุณแม่รู้สึกตัวสามารถตอบสนองได้เป็นอย่างดี ให้คุณแม่รีบเติมน้ำตาลโดยรับประทานอาหารมื้อหลักหากใกล้ช่วงเวลาอาหารหลัก และ ให้รับประทานอาหารว่างที่ช่วยเพิ่มหรือเติมน้ำตาล อาทิเช่น ผลไม้ หรือ ขนมปังแผ่น เป็นต้น
2.2 กรณีที่อาการรุนแรงปานกลาง และคุณแม่รู้สึกตัวสามารถตอบสนองได้เป็นอย่างดี ให้คุณแม่รีบเติมน้ำตาลที่สามารถแปลงเป็นกลูโคสได้อย่างรวดเร็ว อาทิเช่น ลูกอม หรือ น้ำผลไม้ หรือ น้ำผึ้ง หรือ น้ำตาลทราย เป็นต้น จากนั้นให้รับประทานอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน อาทิเช่น ข้าว หรือ ขนมปังปอนด์ หรือ ก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น
2.3 กรณีที่อาการรุนแรง และคุณแม่ไม่รู้สึกตัว ให้รีบนำส่งคุณแม่ไปโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว ในส่วนนี้หากคุณแม่ไม่รู้สึกตัวและหมดสติไป ห้ามให้คุณแม่รับประทานหรือดื่มเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้เกิดการสำลักแล้วอาหารหรือเครื่องดื่มไปอุดหลอดลมหรือทางเดินอาหาร ซึ่งนับว่าอันตรายเป็นอย่างมาก
ป้องกันภาวะน้ำตาลตกได้อย่างไร
แม้อาการน้ำตาลตกมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในคุณแม่หลาย ๆ ท่าน แต่ก็มีวิธีป้องกันได้เช่นกัน ดังนี้
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารอย่างเพียงพอ และ เหมาะสม
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- หากคุณแม่มีอาการของโรคเบาหวานทั้งก่อนและขณะตั้งครรภ์ให้แจ้งและรีบทำการปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด
อาการน้ำตาลตกในคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นอาการที่สามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ตามบทความข้างต้น อย่างไรก็ดีเมื่อเกิดอาการดังกล่าวขึ้นคุณแม่ตั้งครรภ์ก็สามารถรักษาให้หายได้ ในบางรายก็สามารถดีขึ้นได้เอง แต่ในบางรายก็อาจเป็นอันตรายรุนแรงทั้งต่อตัวคุณแม่เองและทารกในครรภ์ได้ ในส่วนนี้ก็เกิดจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งคุณพ่อหรือผู้ที่ดูแลคุณแม่ควรสังเกตอาการของคุณแม่อย่างใกล้ชิดเพื่อลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับคุณแม่และทารกน้อยในครรภ์
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. เบาหวานขณะตั้งครรภ์ แม่ท้องต้องระวัง!!
2. อาหารลดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีอะไรบ้าง ที่คุณแม่ควรกิน
3. อาการโรคเบาหวาน ในคนท้องเป็นอย่างไร เช็คก่อน รู้ทัน รักษาได้เร็ว
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team