เครียดตอนท้อง ส่งผลต่อลูกในครรภ์อย่างไร

08 September 2014
61696 view

เครียดตอนท้อง

ความเครียดของแม่ส่งผลต่อลูกในครรภ์ อย่างไร

คุณแม่ตั้งครรภ์เบื่อไหมคะที่หลายๆคนมักจะบอกว่า อย่าเครียดนะ อย่ากังวล  อย่าคิดมากๆ หรือชักจูงคุณแม่ให้คิดบวกขณะตั้งครรภ์ อย่าเบื่อเลยนะคะเพราะคำแนะนำดังกล่าวเป็นผลดีต่อแม่และลูกในครรภ์ค่ะ คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอารมณ์ขุ่นเคือง เครียด อยู่ตลอดเวลา ทำให้ร่างกายมีการหลั่งฮอร์โมน คอร์ติซอล  ออกมาในปริมาณมาก ส่งผลต่อร่างกายของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ดังต่อไปนี้

ผลกระทบเมื่อเครียดตอนท้อง

ความเครียดที่เกิดขึ้นกับแม่ท้องมีทั้งความเครียดหงุดหงิดทั่วไป เครียดแบบฉับพลัน ไปจนถึงการสะสมความเครียดไว้เนิ่นนาน จนกลายเป็นความเครียดเรื้อรัง ส่งผลให้ร่างกายแม่เกิดความเจ็บป่วย ไม่แข็งแรง คลื่นไส้ ปวดหัว กินไม่ได้นอนไม่หลับ และอ่อนเพลียไร้ซึ่งกำลังวังชา การดำเนินชีวิตต่างไปจากเดิมเมื่อไหร่ก็ตามที่แม่ตั้งครรภ์รู้สึกเครียด อาจจะเกิดหัวใจเต้นเร็ว เจ็บท้องก่อนกำหนด หลอดเลือดตีบลง ความดันโลหิตสูง ทั้งที่โดยปกติแล้วแม่ท้องก็มีโอกาสเกิดความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว ความดันที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ก็อาจส่งผลต่อร่างกายแม่ท้องได้แล้วค่ะ

เครียดตอนท้องส่งผลต่อทารกในครรภ์อย่างไร

ลูกน้อยสามารถรับรู้ถึงอารมณ์ต่างๆ ของคุณแม่ได้จากสารเคมีที่แม่หลั่งออกมาในกระแสเลือด หากแม่ตั้งครรภ์อารมณ์ดี ร่างกายก็จะหลั่งสารแห่งความสุขหรือสารเอ็นโดรฟินออกมา ทำให้ลูกเติบโตมีพัฒนาการที่ดี แต่หากคุณแม่ตั้งครรภ์รู้สึกเครียด โกรธ หงุดหงิด กระทั่งหวาดกลัว ร่างกายแม่จะหลั่งสารแห่งความเครียดหรือสารอะดรีนาลิน ส่งผ่านความรู้สึกไปยังลูก และแน่นอนว่าลูกรู้สึกเครียดตามไปด้วย ส่งผลต่อพัฒนาการให้ล่าช้าได้ยิ่งเครียดมากและรู้สึกแบบนี้บ่อยๆ อาจทำให้เกิดผลเสียหลายอย่างกับลูก

  1.  น้ำหนักตัวน้อยเมื่อแรกคลอด
  2. เด็กคลอดก่อนกำหนด
  3. มีการเรียนรู้และปรับตัวได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น มีพื้นฐานทางอารมณ์ที่ไม่ค่อนดี
  4. อาจทำให้เป็นเด็กเลี้ยงยาก
  5. งอแง ขี้งอน โมโหง่าย ร้องไห้เก่ง และมีปัญหาอื่นๆ
  6. แต่หากว่าแม่เกิดความเครียดเพียงเล็กน้อยจะส่งผลตรงกันข้ามเลยค่ะ นั่นคือ การที่ลูกรู้จักอดทนต่อความเครียดระหว่างการคลอดได้ดีขึ้น ใช่ว่าความเครียดจะมีผลเสียเสมอไป เพียงแต่คุณต้องระวังให้มีอย่างพอเหมาะ ไม่มากเกินไปเท่านั้นเองค่ะ

เครียดตอนท้องทำไงดี 

  1. จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของภาวะอารมณ์ได้ คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจ ยอมรับและรู้จักหาวิธีผ่อนคลายค่ะ เพื่อลดความเครียดความกังวลในใจ และเสริมสร้างความสุขสดชื่น เพื่อตัวเองลูกน้อยในครรภ์
  2. เข้าใจอารมณ์ที่เปลี่ยนไป เป็นการเตรียมความพร้อมที่ดีในการรับมือกับอารมณ์ต่างๆ เมื่อคุณแม่รู้แล้วว่าการตั้งครรภ์ส่งผลต่ออารมณ์อย่างไรบ้าง ก็จะเข้าใจตัวเอง เข้าใจภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้น นี่เป็นวิธีการรับมือเบื้องต้นที่ได้ผลดีค่ะ การรับรู้ว่าตัวเองเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ทำให้คุณแม่ไม่วิตกกังวลเกินความจำเป็น เพราะรู้สาเหตุอยู่แล้ว
  3. วิธีผ่อนคลายมีมากมายหลายอย่างหลายกิจกรรมที่ไม่ต้องหาที่ไหนไกล อยู่ใกล้ๆ ตัวอย่างการฟังเพลงสบายๆ อ่านหนังสือเล่มโปรด หรือกระทั่งการได้ดูหนังสนุกๆ ก็สร้างความสุขให้แม่ท้องได้แล้ว หรือว่าจะทำงานศิลปะเก๋ๆ วาดรูป จัดดอกไม้ ได้ผลงานน่าภูมิใจ และผ่อนคลายได้ อาจหาดอกไม้มาเติมความสดชื่นให้กับมุมต่างๆ ในบ้านได้ดี
  4. การออกกำลังกาย ยังเป็นอีกกิจกรรมที่อยากให้แม่ท้องทำเป็นประจำ เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุข ทำให้คุณอารมณ์ดีแล้ว ยังทำให้สุขภาพของทั้งคุณและลูกในท้องดีอีกด้วย เสริมด้วยการนั่งสมาธิในบางวัน เพื่อจิตที่สงบผ่อนคลาย ไม่เครียดและเพิ่มพลังสมาธิให้กับตัวคุณเอง
  5.  เปลี่ยนบรรยากาศซ้ำซากจำเจด้วยการออกไปนอกบ้านบ้าง อาจจะนัดเพื่อนๆ มานั่งกินข้าวเมาท์แตก หรือนัดรวมญาติที่อาจจะไม่ได้เจอกันบ่อยนักมาดินเนอร์นอกบ้าน และที่พลาดไม่ได้คือการชอปปิง เดินเล่นดูของลองนู่นนี่ไปเรื่อย ความสุขที่ผู้หญิงเราโปรดปรานค่ะนานๆ ครั้งชวนคุณสามีไปพักผ่อนสูดอากาศบริสุทธิ์และสัมผัสธรรมชาติที่ต่างจังหวัดก็ช่วยได้เช่นกันค่ะ
  6. หาตัวช่วย ตัวช่วยสำคัญที่ช่วยรับมือกับอารมณ์ของแม่ท้องได้ดีที่สุดคือ ความเข้าใจจากบรรดาพ่อๆ ซึ่งควรจะมีข้อมูลถึงการเปลี่ยนแปลงทางภาวะอารมณ์ของแม่ท้อง เพื่อทำความเข้าใจและดูแลเอาใจใส่ไม่ห่าง นอกจากพ่อแล้ว คนใกล้ชิดก็มีส่วนช่วยได้ไม่น้อย นอกจากช่วยดูแลเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพใจของแม่แล้ว ยังเป็นเพื่อนคุยให้แม่ๆ ไม่เหงา และรับฟังสิ่งที่แม่ๆ เป็นกังวลได้ดีอีกด้วย

ไม่ว่าอารมณ์ในช่วงตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงง่ายแค่ไหน หากคุณรู้ เข้าใจ และมีวิธีรับมือที่ดีแล้ว ก็สามารถช่วยให้คุณแม่ลดความตึงเครียดเหล่านั้นลงได้ค่ะ Mama Expert ขอให้คุณแม่ทุกคนมีความสุขในการตั้งครรภ์ ลูกน้อยในครรภ์สุขภาพแข็งแรงนะคะ

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. แบบทดสอบสุขภาพจิตแม่ตั้งครรภ์ 16 ข้

2. กระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์ด้วยแสงจากไฟฉาย

3. อาหารบำรุงครรภ์ แบ่งตามอายุครรภ์ 1- 40 สัปดาห์

เรียบเรียงโดย  : Mamaexpert Editorial Team