เทคนิคการชมลูก ชมอย่างไรลูกไม่เหลิง

13 November 2016
5286 view

เทคนิคการชมลูก



พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ในสังคมไทยมักไม่ค่อยชอบชมเด็ก ส่วนใหญ่เวลาที่มาพบหมอ เมื่อต้องเล่าเรื่องของเด็กให้ฟัง สิ่งที่พูดขึ้นมาเป็นเรื่องแรกๆ จะเป็นเรื่องที่เด็กทำไม่ดี โดยเฉพาะพ่อแม่ในสมัยก่อน หรือในครอบครัวที่เน้นกฏระเบียบมากๆ มักใช้การตำหนิ หรือจับผิดในสิ่งที่เด็กทำ เมื่อถามว่าเวลาที่เด็กทำอะไรได้ดีเคยชมเชยบ้างหรือไม่ พ่อแม่ส่วนใหญ่จะตอบว่าไม่ค่อยได้ชม

เทคนิคการชมลูกเพื่อเสริมแรงทางบวก

เมื่อถามว่าเพราะอะไรจึงไม่ค่อยได้ชมเด็ก ก็จะตอบคล้ายๆ กันว่า กลัวเด็กจะเหลิงหรือได้ใจ หรือถ้าชมก็อาจจะเป็นลักษณะชมแบบเหน็บแนมหรือพูดดักไว้ก่อน เช่น “ก็ดีที่คราวนี้สอบได้ที่สอง บอกตั้งนานแล้วว่า ถ้าเล่นเกมน้อยลงก็จะเรียนดีขึ้น แต่ถ้าเล่นเกมเหมือนเดิม ไม่ยอมอ่านหนังสืออีก คราวหน้าถ้าสอบได้ที่โหล่ แม่จะสมน้ำหน้าให้” ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ กำลังใจหรือแรงเสริมทางบวกเป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้คนๆ นั้นทำในสิ่งที่ดีๆ ต่อไปได้เรื่อยๆ หากพ่อแม่สามารถใช้คำชมเชยหรือแรงเสริมทางบวกอย่างถูกวิธีและถูกเวลา ก็จะทำให้การเกิดประสิทธิภาพและความสำเร็จมีมากยิ่งขึ้น ในการเรียนหรือแม้กระทั่งในชีวิตประจำวัน รวมทั้งสามารถทำให้สัมพันธภาพระหว่างกันเป็นไปด้วยดี และทำให้ อีกฝ่ายรู้สึกมีกำลังใจ เห็นคุณค่าในตัวเองและสิ่งที่ทำอยู่อีกด้วย คำชมเชย เป็นหนึ่งในแรงเสริมทางบวก (Positive Reinforcement) ซึ่งเป็นวิธีบำบัดทางจิตวิทยาที่ใช้ปรับพฤติกรรม (Behavior Modification) แรงเสริมทางบวกคืออะไรก็ตามที่เมื่อเกิดขึ้นตามหลังพฤติกรรมใดๆ แล้วจะทำให้พฤติกรรมนั้นเกิดมากขึ้นในอนาคต

เทคนิคการชมลูก ควรยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพ

เช่น เด็กชายบีช่วยแม่ล้างจานและ เช็ดโต๊ะ เมื่อแม่เห็นจึงตรงเข้าไปหาและพูดชมเด็กชายบีว่า “บีมีน้ำใจมากที่ช่วยแม่ล้างจานและเช็ดโต๊ะ ทำให้แม่เหนื่อยน้อยลงเยอะเลย แม่ชื่นใจจริงๆ” พร้อมทั้งยิ้มให้และลูบศีรษะ หลังจากนั้นพบว่าเด็กชายบีช่วยแม่ล้างจานและเช็ดโต๊ะทุกวัน คำชมของแม่ที่ให้กับเด็กชายบี ทำให้เกิดพฤติกรรมล้างจานและเช็ดโต๊ะต่อเนื่อง ก็คือ แรงเสริมทางบวก ที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่ดีให้เกิดต่อเนื่องสม่ำเสมอ

เทคนิคการชมลูกด้วยคำชม

คำชมเชยที่เป็นลักษณะคำพูด (คำพูดชม) และคำชมเชยที่เป็น การกระทำ (การยิ้มและการลูบศีรษะ) เมื่อทำอย่างเหมาะสมก็จะทำให้พฤติกรรมที่เราปรารถนาให้เกิด มีโอกาสเกิดมากขึ้นในอนาคตเมื่อเราเห็นพฤติกรรมดีๆ ของเด็กและอยากให้เด็กทำเช่นนั้นต่อไปเรื่อยๆ เราก็จะต้องให้แรงเสริมทางบวก การให้แรงเสริมที่ได้ผลมากที่สุด จะต้องทำทันที หลังจากพฤติกรรมนั้นๆ หากปล่อยเวลานานเกินไป ผลลัพธ์ก็จะไม่ดีเท่าการให้แรงเสริมไปอย่างทันที แรงเสริมทางบวกนั้น อาจเป็นคำชมเชยที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ รางวัล โบนัส และนามธรรม ได้แก่ คำชมเชย หรือการกระทำ (เช่น รอยยิ้ม ท่าทางการแสดงออก การสัมผัส กอด โอบ ลูบศีรษะ)

คำชมเชยที่ได้ผลมากที่สุด ต้องมีองค์ประกอบครบสามอย่าง คือ

1. คำชมเชย
2. คำพูดบอกถึงพฤติกรรมที่เราเห็นว่าดีและอยากให้เกิดมากขึ้น
3. คำพูดที่บอกผลกระทบในทางบวกที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมนั้น อย่างในกรณีของเด็กชายบี
     1. คำชมเชย ก็คือ “บีมีน้ำใจมาก”
     2. พฤติกรรมที่แม่เห็น ว่าดี ก็คือ “…ที่ช่วยแม่ล้างจานและเช็ดโต๊ะ”
     3. ผลกระทบในทางบวกที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมนั้น ก็คือ “…ทำให้แม่เหนื่อยน้อยลงเยอะเลย แม่ชื่นใจจริง” สิ่งสำคัญคือ เราจะต้องพูดชมเชยด้วยความจริงใจในสิ่งที่ดีๆ ที่เด็กทำและสิ่งนั้นทำให้เรารู้สึกดี ไม่ใช่ว่าพูดชม ทุกเรื่องไปทั่วโดยที่เราก็ไม่ได้คิดว่าดีเท่าไหร่ เด็กจะรู้สึกได้ว่าเราไม่ได้รู้สึกแบบนั้นจริงๆ ในคราวแรกๆ อาจจะค่อนข้างยากและดูกระดาก ไม่คุ้นเคย แต่เมื่อลองทำไปแล้ว ก็จะทำได้เรื่อยๆ จนเป็นความเคยชิน

เทคนิคการชมลูกด้วยภาษาท่าทาง

ภาษาท่าทางที่ประกอบคำชมเชยก็มีความสำคัญ คำชมเชยควร จะต้องมีรอยยิ้มที่จริงใจ การมองหน้าสบตาอีกฝ่าย และที่สำคัญมาก คือ จะต้องไม่มีคำพูดประชดประชันเหน็บแนม เช่น “เอทำงานชิ้นนี้สำเร็จ พ่อเห็นเลยว่า เอมีความพยายามและความตั้งใจ พ่อรู้สึกประทับใจมากๆ แต่ขอให้เอทำแบบนี้ได้ตลอดนะ ไม่ใช่งานนี้งานเดียวแล้วจอด” ซึ่งคำพูดประชดประชันเช่นนี้ จะลดประสิทธิภาพของแรงเสริมทางบวกลงไป อย่างมาก โดยที่ผู้พูดลืมคิดไป

ลองคิดย้อนกลับมาที่ตัวเรา หากคิดจินตนาการดูในชีวิตเราที่ผ่านมา เรามีข้อดีอะไรบ้าง และชื่นชมในข้อดีของตัวเอง การที่เราชื่นชมตัวเองก็เป็นการให้กำลังใจตัวเองได้ดีวิธีหนึ่ง ขนาดเวลาเราชมเชยตัวเองยังรู้สึกดีขึ้นมาได้ แล้วเวลาที่เราไปชมเชยคนอื่นด้วยความจริงใจ คำพูดและ การกระทำของเราที่ส่งต่อไปนั้นจะมีพลังขนาดไหน เริ่มต้นที่คนใกล้ชิด ของเราเอง อย่างลูกๆ นอกจากการชมเชยจะทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดีเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรดีๆ ได้ นำไปสู่ความรู้สึกรับรู้ถึงคุณค่าในตัวเอง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เด็กโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพจิตดีและประสบความสำเร็จ เวลาที่เจอกับอุปสรรคในชีวิต ความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองก็จะเป็นพลังใจที่จะนำมาใช้ผลักดันและ เผชิญหน้ากับปัญหาที่เกิดขึ้น

“ภาษาท่าทางที่ประกอบคำชมเชยก็มีความสำคัญ คำชมเชยควรจะต้องมี รอยยิ้มที่จริงใจ จะต้องไม่มีคำพูดประชดประชันเหน็บแนม”

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. เคล็ดลับสอนลูกให้ฉลาด

2. เทคนิค 8 ข้อ ในการเลี้ยงลูกให้มีพัฒนาการสมวัย

3. พัฒนาการเด็ก แต่ละช่วงวัยพ่อแม่ตอบสนองให้ตรงจุด

เรียบเรียงโดย    : Mamaexpert Editorial Team

ขอบคุณบทความ  :  หมอมินบานเย็น