คลอดฉุกเฉิน คลอดก่อนถึงโรงพยาบาล ทำอย่างไร

01 February 2015
12885 view

คลอดฉุกเฉิน 

การคลอดก่อนถึงโรงพยาบาล ทางการแพทย์เรียกว่า Birth before arrival  คำย่อ  BBA   สถิติส่วนใหญ่พบว่า คลอดในรถยนต์  คลอดที่บ้าน  คลอดในห้องน้ำ ตามลำดับ  การคลอดดังกล่าว ถือว่าเป็นการคลอดที่ไม่ปกติ เนื่องจากมีการปนเปื้อน จากสิ่งแวดล้อม หรือบริเวณที่คลอดไม่สะอาดปราศจากเชื้อการตัดสายสะดือเด็กด้วยเอุปกรณ์ไม่ปราศจากเชื้อ ส่งผลต่อคุณแม่และคุณลูก เรื่องการติดเชื้อ เพราะฉะนั้น เมื่อถึงโรงพยาบาล ลูกของคุณแม่ต้องได้รับการดูแลอย่างพิเศษ ไม่นำไปรวมกับเด็ก สุขภาพดี หรือเด็ก Nursery ทารกบางรายต้องได้รับยาฆ่าเชื้อ กรณีที่แพทย์ตรวจวินิจฉัยว่าเสี่ยงต่อการติดเชื้อ  แต่หากผู้ทำคลอดเป็นเจ้าที่ตำรวจหน่วยพิเศษ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่มีอุปกรณ์ครบครัน ถือเป็นการคลอดปกติ สามารถนำเด็กไปดูแลรวมกับเด็กทั่วไปได้ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรมีความรู้เรื่องการเจ็บครรภ์จริงและเจ็บครรภ์เตือน จะได้ไปโรงพยาบาลได้ทันท่วงที ดังนี้ค่ะ

การเจ็บครรภ์จริงและเจ็บครรภ์เดือนก่อนคลอด

เจ็บครรภ์เตือน  

เป็นอาการเจ็บครรภ์ที่เกิดขึ้นก่อนคลอดพบได้ในไตรมาสสุดทายของการตั้งครรภ์มีอาการดังนี้

  1. ปวดถ่วงบริเวณท้องน้อยและทวารหนัก คล้ายปวดประจำเดือน
  2. มดลูกหดตัวแรงบ้าง เบาบ้างไม่แน่นอน มดลูกแข็งตัวห่างกันนาน 10 นาที หรือ 15 นาทีต่อครั้ง
  3. สังเกตว่าท้องเริ่มลดต่ำลง ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น
  4. ปวดหลังและรู้สึกท้องแข็ง เพราะมดลูกแข็งตัวเป็นก้อนที่บริเวณหน้าท้อง
  5. รู้สึกลูกดิ้นแรงขึ้น ในช่วงที่อาการท้องแข็งคลายตัวลงใหม่ๆ
  6. รู้สึกมีตกขาวออกมามากขึ้น ลักษณะเหนียวข้นและเป็นสีขาว

หากมีอาการตามที่กล่าวมาข้างต้น คุณแม่ไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด อาการเจ็บครรภ์เตือนดังกล่าว สามารถเกิดขึ้นตั้งแต่เข้าสู่ไตรมาสที่3 ของการตั้งครรภ์

อาการเจ็บครรภ์จริง

เป็นอาการที่คุณแม่ต้องไปโรงพยาบาล เพื่อประเมินการคลอด

  1. อาการเจ็บเริ่มที่หลังแล้วปวดร้าวมาที่ด้านหน้าบริเวณหัวหน่าวและท้องน้อย
  2. มดลูกหดรัดตัวแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และระยะเจ็บนานขึ้น
  3. มีมูกปนเลือดออกทางช่องคลอด มีลักษณะเป็นมูกปนเลือดสดหรือมีน้ำเดิน ( ใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น )

คุณแม่ตั้งครรภ์ ไม่จำเป็นต้องมีอาการครบทั้ง 3 ข้อ หากมีข้อใดข้อหนึ่งเช่น หากมีอาการเจ็บครรภ์ห่างกันทุกห้านาที สม่ำเสมอและแรงขึ้นเรื่อยๆจนนอนพักไม่ได้ หรือ มีน้ำไหลออกทางช่องคลอดในเวลาใดแม้ไม่เจ็บครรภ์ก็ตาม คุณแม่ก็จะต้องเตรียมตัวมาโรงพยาบาลได้เลยค่ะ เพื่อป้องกันการคลอดฉุกเฉินค่ะ

บทความแนะนำเพิ่มเติมสำหรับคุณแม่ 

1.  เช็คราคาแพคเกจคลอดปี 2018 

2.  คลอดรก… หลังคลอดลูกเป็นอย่างไรแม่ตั้งครรภ์ต้องรู้

3.  คลอดลูกแบบไหน ปลอดภัยกว่า?

เรียบเรียงโดย :  Mamaexpert Editorial Team