เมื่อเวลา 13.10 น. ของวันที่ 12 ก.พ.58 คุณแม่วัย 27 ปี อายุครรภ์ 7 เดือนเท่านั้น ได้ให้กำเนิดทารกเพศชาย น้ำหนัก 2000กรัม เจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิสว่างโรจนธรรมสถานสัตหีบ จ.ชลบุรี ได้เข้าไปช่วยเหลือ พบว่าคุณแม่คลอดบุตรในห้องน้ำด้วยภาวะฉุกเฉิน คุณแม่เล่าว่าไม่ได้มีอาการเจ็บครรภ์คลอดแต่รู้สึกว่ามีอาการปวดท้องคล้ายกับปวดอุจจาระและเนื่องจากอายุครรภ์เพิ่ง 7 เดือนยังไม่ถึงกำหนดคลอดจึงไม่ชะล่าใจ เข้าไปทำธุระในห้องน้ำ ขณะที่เบ่งอุจจาระนั้นทารกก็พรุ่งพรวดออกมา จึงได้เรียกให้สามีและชาวบ้านให้มาช่วยเหลือ และเจ้าหน้าที่กูภัยภัยมูลนิธิสว่างโรจนธรรมสถานสัตหีบ จ.ชลบุรี ได้เข้ามาให้การปฐมพยาบาลและนำส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ในเวลาต่อมา อาการคลอดดังกล่าวทางการแพทย์เรียกว่า ภาวะคลอดเฉียบพลัน
ภาวะคลอดเฉียบพลัน (Precipitate labor) หมายถึงการคลอดที่เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติและเสร้จสิ้นภายใน3 ชั่วโมงพบได้ประมาณร้อยละ 2 ของการคลอดทั้งหมด เกิดขึ้นกับมารดาตั้งครรภ์ครั้งหลังมากกว่าครั้งครรภ์แรก ร้อยละ93
สาเหตุภาวะคลอดเฉียบพลัน สาเหตุที่แท้จริงทางการแพทย์ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกิดจากปัจจัยส่งเสริม ดังนี้
1. เนื้อเยื่อของช่องทางคลอดมีแรงเสียดทานต่ำ
2. การหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก และกล้ามเนื้อหน้าท้องแรงผิดปกติ
3. การตั้งครรภ์หลัง
4. สภาพเชิงกรานกว้าง
5. มีประวัติการคลอดเฉียบพลัน
6. มารดาไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดจากการคลอด
7. ทารกตัวเล็ก
8. การได้รับยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกมากเกินไป
ผลกระทบของการคลอดเฉียบพลันต่อมารดา ได้แก่
1. เกิดการฉีกขาดของช่องทางคลอด และปากมดลูกมาก
2. เกิดการตกเลือดหลังคลอด
3. การหดรัดตัวของมดลูกที่รุนแรง ร่วมกับมีการแตกของถุงน้ำคร่ำ อาจทำให้เกิดภาวะน้ำคร่ำ
อุดกั้นหลอดเลือดในปอด (amniotic fluid embolism) ได้
ผลกระทบของการคลอดเฉียบพลันต่อทารก
1. การหดรัดตัวของมดลูกอย่างรุนแรง ทำให้การไหลเวียนเลือดในมดลูกไม่ดี ทำให้ทารกเกิดการขาดออกซิเจน (asphyxia)ได้
2. ศีรษะทารกที่ผ่านเข้าในช่องทางคลอดอย่างรวดเร็ว ขาดการปรับตัวอาจทำให้ทารกเกิดการบาดเจ็บได้
3. ศีรษะทารกได้รับอันตรายจากการรับไม่ทัน ทำให้ทารกตกลงบนพื้น
4. ทารกไม่ได้รับการดูดเสมหะหรือน้ำคร่ำในปากและจมูก ทำให้ทารกสำลักน้ำคร่ำเกิดภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินหายใจได้
5. ทารกมีเลือดออกในสมอง เนื่องจากศีรษะได้รับการกระทบกระเทือนจากการผ่านเข้าในช่องทางคลอดอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีการปรับศีรษะให้สัมพันธ์กับช่องทางคลอดตามกลไกการคลอด
6. อาจเกิดการติดเชื้อ เนื่องจากไม่ได้รับการเตรียมทำความสะอาดก่อนคลอด
7. ทารกเสียเลือด เนื่องจากสายสะดือขาด
การป้องกันภาวะคลอดเฉียบพลันในคุณแม่ตั้งครรภ์ทั่วไปคือ ไปตรวจครรภ์ตามนัดและหมั่นสังเกตภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น เจ็บครรภ์ก่อนกำหนดคลอด ปวดท้องน้อย ท้องเเข็ง หากมีอาการดังกล่าว คุณแม่ไปพบแพทย์ก่อนนัดทันทีโดยไม่ต้องลังเล เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์