คู่มือนับลูกดิ้นสำหรับแม่มือใหม่ ลูกต้องดิ้นกี่ครั้งใน 1 วัน วิธีนับลูกดิ้นที่ถูกต้อง

16 November 2017
141303 view

นับลูกดิ้น 

เมื่อเวลาผ่านไปลูกน้อยในครรภ์ก็จะเจริญเติบโตขึ้น มีการงอและยืดแขนขา ทำให้คุณแม่รู้สึกว่าลูกถีบ หรือพลิกตัว เมื่อคุณแม่ตกใจลูกก็จะดิ้นตามอารมณ์หรือเสียงที่ดัง เมื่อคุณแม่ขยับหรือเคลื่อนไหว ถ้าลูกในครรภ์อยู่ในตำแหน่งที่ไม่สบาย ลูกก็จะเคลื่อนที่ ดิ้นเพื่อขยับตัวค่ะ

คุณแม่ตั้งครรภ์หลายๆคน สังสัยและมีความกังวลเกี่ยวกับลูกดิ้น วิธีการนับลูกดิ้นในแต่ละวัน รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับการดิ่้นของลูกในครรภ์ วันนี้ Mama Expert จึงมาคลายข้อสงสัยให้กับคุณแม่ ตามนี้เลยจ้า..

ลูกดิ้น สำคัญอย่างไร?

การดิ้นของทารกในครรภ์เป็นสิ่งสำคัญที่บ่งบอกว่าลูกน้อยมีชีวิตปกติดี และในทางตรงกันข้าม ถ้าลูกในครรภ์ของคุรแม่ไม่ดิ้นหรือดิ้นน้อยลง อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าลูกน้อยในครรภ์ของคุณแม่ อาจกำลังตกอยู่ในอันตราย โดยเฉพาะเมื่อใกล้ครบกำหนดคลอด ถ้าลูกดิ้นน้อยหรือดิ้นห่างลงไปเรื่อยๆ หรือหยุดดิ้น คุณแม่ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับลูก บางทีอาจร้ายแรงมากจนทำให้ลูกน้อยในครรภ์เสียชีวิตได้ 

นับลูกดิ้น ควรเริ่มนับเมื่อไหร่?

คุณแม่ควรนับการดิ้นของทารกในครรภ์ เมื่อตั้งครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์ขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบระหว่างตั้งครรภ์ 

สำหรับแม่มือใหม่อาจจะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นเมื่อตั้งครรภ์ไปได้ 18 - 20 สัปดาห์ แต่ในคุณแม่ที่มีประสบการณ์ในการตั้งครรภ์มาแล้ว จะสัมผัสได้ว่าลูกดิ้น ตั้งแต่ 14 สัปดาห์ขึ้นไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่สรีระของคุณแม่ด้วย คุณแม่ที่มีผนังหน้าท้องหนา อาจจะสัมผัสได้ช้า เกิน 20 สัปดาห์ขึ้นไป ไม่ต้องกังวลนะคะ แต่ถ้าเมื่อไหร่ 25 สัปดาห์แล้วยังสัมผัสไม่ได้ว่าลูกดิ้นแนะนำให้พบสูติแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดค่ะ

วิธีนับลูกดิ้นแต่ละแบบ 

วิธีการนับลูกดิ้นมีหลายวิธีด้วยกัน  แต่หลักการคล้าย ๆ กัน โดยวัตถุประสงค์ในการนับลูกดิ้นนั้น เพื่อให้คุณแม่ได้สังเกตุความผิดปกติของทารกในครรภ์ เพราะว่า ลูกดิ้น  =  มีชีวิต ซึ่งวิธีการนับลูกดิ้นมีดังนี้

วิธีนับลูกดิ้น แบบที่ 1

  • คุณแม่เริ่มนับลูกดิ้นเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์
  • ให้นับเวลาคุณแม่จะสะดวกหรือว่าง และนับช่วงเวลาเดียวกันทุกวันซึ่งวิธีการนับจะให้จำนวนลูกดิ้น 10 ครั้งเป็นหลัก จะไม่เจาะจงเวลา
  • การนับจะนอนหรือนั่งก็ได้ค่ะ ตามที่คุณแม่แต่สะดวกค่ะ ถ้าอายุครรภ์มากๆ คุณแม่อาจจะนอนหงายหรือไม่ก็นอนตะแคงซ้ายก็ได้
  • คุณแม่ควรจดลงบันทึก วันที่/ เดือน /พศ.พร้อมกับลงเวลาที่เริ่มนับไว้ เพื่อป้องกันการลืม
  • จังหวะการดิ้นของทารกในครรภ์ที่นับเป็น 1 ครั้งคือ  การถีบ การเตะ กระทุ้ง โก่งตัว หมุนตัว แต่ถ้าเป็นการ ตอดต่อเนื่องยาวๆ หรือการสะอึกไม่นับว่าเป็นการดิ้นค่ะ โดยให้คุณแม่นับไว้ เมื่อครบ 10 ครั้ง ให้ลงบันทึกเวลาที่ครบ โดยกำหนดเวลาเริ่มต้น จนถึงเวลาสิ้นสุด

วิธีนับลูกดิ้น แบบที่ 2

  • คุณแม่เริ่มนับลูกดิ้นเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์
  • คุณแม่นับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นใน 1 ชั่วโมง ช่วงไหนก็ได้ที่คุณแม่สะดวก โดยให้ตรงกันในทุกวัน
  • ลูกต้องดิ้นเท่ากับ 3 ครั้ง หรือมากกว่าใน 1 ชั่วโมงถือว่าลูกยังปกติดีอยู่
  • ถ้าใน 1 ชั่วโมงน้อยกว่า 3 ครั้ง ให้จับเวลาดูใหม่ ถ้ายังน้อยกว่า3 ครั้ง ถือว่าผิดปกติต้องไปพบแพทย์

วิธีนับลูกดิ้น แบบที่ 3

  • คุณแม่เริ่มนับลูกดิ้นเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์
  • คุณแม่นับลูกดิ้นเป็นเวลา 1 ชั่วโมงหลังอาหารเช้า กลางวัน และเย็น ถ้าดิ้นรวมกันมากกว่า 10 ครั้ง ถือว่าดิ้นปกติ การดิ้นถ้ามีการเคลื่อนไหว 1 ครั้ง ให้นับเป็น 1 ครั้ง แต่หากดิ้นหลายครั้งติดกันเป็นชุด ให้ถือเป็นการดิ้น 1 ครั้งค่ะ

ตารางนับลูกดิ้น

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

วิธีกระตุ้นให้ลูกดิ้น

วิธีที่กระตุ้นให้ลูกน้อยในครรภ์เคลื่อนที่หรือดิ้นได้ดีที่สุด คือ การสัมผัสค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการที่คุณแม่ลูบไล้หน้าท้องเบาๆ หรือการที่คุณพ่อลูบท้องคุณแม่แล้วคุยกับเจ้าตัวน้อยในครรภ์ ก็เป็นการกระตุ้นให้ลูกน้อยดิ้นหรือมีปฏิกิริยาตอบโต้กับการสัมผัสของคุณพ่อคุณแม่ได้ดีที่สุด อีกทั้งการลูบไล้หน้าท้องบ่อย ยังเป็นการกระตุ้นระบบประสาทและสมองส่วนรับรู้ความรู้สึกของลูกน้อยในครรภ์ให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ด้วยนะคะ ที่สำคัญการลูบหน้าท้อง คุณแม่ควรลูบหน้าท้องเป็นวงกลมจากบนลงล่างหรือจากล่างขึ้นบน บริเวณไหนก่อนก็ได้ค่ะ ยิ่งถ้าคุณแม่มีการพูดคุย หรือร้องเพลง ในขณะที่ลูบท้อง และทำในช่วงเวลาเดิมเป็นประจำ คุณแม่จะรู้สึกได้ว่า เมื่อถึงช่วงเวลานั้น ลูกน้อยในครรภ์ของคุณแม่จะดิ้นรอรับสัมผัสที่แสนจะอบอุ่นจากคุณแม่อยู่แล้วค่ะ

ลูกไม่ดิ้นทำอย่างไร?

การที่ลูกน้อยในครรภ์ของคุณแม่ไม่ดิ้นนั้น ก็ไม่ได้ความว่าลูกน้อยของคุณแม่มีความผิดปกติแต่อย่างใดค่ะ แต่อาจเป็นเพราะว่าลูกนอนหลับอยู่ โดยไม่เคลื่อนไหวใดๆ เลยก็ได้ แต่สำหรับคุณแม่บางรายหรืออาจเป็นคุณแม่ท้องแรก ที่พยายามสังเกตการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์แล้วพบว่า ลูกน้อยไม่ดิ้น อาจเป็นเพราะการขยับตัวที่เบามาก เนื่องจากแขนขาของลูกน้อยในครรภ์มีขนาดเล็ก คุณแม่อาจจะไม่รู้สึกว่าลูกดิ้น แต่ถ้าลูกไม่ดิ้นนานเกินไป (ภายใน 1 ชั่วโมง) หรือถ้าคุณแม่คิดว่าลูกน้อยของคุณแม่หยุดเคลื่อนไหวหรือเคลื่อนไหวน้อยลงและคุณมีอายุมากกว่า 28 สัปดาห์ คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรึกษาและหาสาเหตุต่อไปค่ะ

อุทาหรณ์เตือนใจ!!!ลูกไม่ดิ้นอย่าปล่อยผ่าน

คุณแม่ตั้งครรภ์ 34สัปดาห์ ครรภ์แรก มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตามนัด พยาบาลซักประวัติเบื้องต้นสอบถามอาการดิ้นของลูก คุณแม่ให้ประวัติว่าลูกไม่ค่อยดิ้น พยาบาลจึงสอบถามถึง ตารางนับลูกดิ้น คุณแมตอบว่าไม่ได้นำมาด้วย พยาบาลจึงสอบถามต่อว่า ลูกดิ้นครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ คุณแม่แจ้งว่า เมื่อวานช่วงเช้าๆค่ะเมื่อวาน ยุ่งๆลืมนับลูกดิ้น แต่ก่อนเข้านอนรู้สึกว่าลูกไม่ดิ้นเลย 

สามีกล่าวว่า... พยายายามที่จะพาภรรยามาพบแพทย์ ตั้งแต่เมื่อคืน 20 น. แต่ภรรยามีความเห็นว่า วันนี้แพทย์นัด รอมาวันนัดเลยดีกว่า จึงรีบมาแต่เช้า ภรรยาแย้งตนว่าอาจจะใกล้คลอด ลูกตัวโตจึงไม่ค่อยดิ้น 

พยาบาลหน้าห้องตรวจครรภ์รายงานแพทย์ทันที และให้คุณแม่ลัดคิวเพื่อพบแพทย์ ... เป็นเรื่องน่าเศร้ามาก เมื่อแพทย์ตรวจคุณแม่ทันที พบว่า ทารกในครรภ์ไม่ดิ้น เนื่องจากเสียชีวิตแล้ว  สามีเธอร้องไห้อย่างหนักเพราะ กว่าจะมีลูกต้องผ่านการช่วยด้วยเทคโนโลยีช่วยเจริญพัยธุ์เข้าช่วย เนื่องจากมีบุตรยาก   หลังจากนั้น แพทย์ให้คุณแม่รอคลอดทารกที่เสียชีวิตในครรภ์ ตลอดระยะเวาที่คุณแม่รอคลอดลูกน้อยที่เสียชีวิตออกมานั้น สุดจะทรมานใจมาก 

พยายาลผู้เล่า เป็นเวรรับเด็กคลอดในวันนั้นค่ะ  ทารกไร้ลมหายใจของคุณแม่ที่คลอดออกมานั้น หน้าตาน่ารัก ผิวดี น้ำหนักแรกคลอดดีมาก 3,900 กรัม น่าเสียดายที่แม่อุ้มท้องมานานแต่ไม่มีโอกาสให้ลูกน้อยได้ดูดนมของแม่  ฝากเป็นอุทาหรณ์เตือนใจ คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกๆ บ้าน หากพบความผิดปกติในกรณีทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลง ให้รีบพบแพทย์ในทันทีไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด ( ขอบคุณข้อมูล : นฤมล เปรมปราโมทย์ พยาบาลแผนกทารกแรกเกิด )


ไม่ว่ากรณีใดๆก็แล้วแต่ ทั้งหมดที่กล่าวมา หากคุณแม่ตั้งครรภ์กังวลและกลัว ให้รีบพบแพทย์หรือปรึกษาผู้เชียวชาญทันที อย่าเก็บความสงสัยไว้เพียงลำพังนะคะ นอกจากจะบั่นทอนสุขภาพจิตแล้ว ความผิดปกติดังกล่าวอาจส่งผลต่อชีวิตลูกน้อยในครรภ์ของคุณแม่ได้ค่ะ

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่  

1. ลูกดิ้นเมื่อไหร่ อาการลูกดิ้นเป็นอย่างไร?

2. อาการเจ็บครรภ์เตือน ความแตกต่างระหว่างเจ็บครรภ์เตือนและเจ็บครรภ์จริง

3. ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ แม่ท้องต้องระวัง

เรียบเรียงโดย :  Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง :

1. Fetel movement.เข้าถึงได้จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Fetal_movement . [ค้นคว้าเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2560]

2. BabyCenter. Fetal movement: Feeling your baby kick . เข้าถึงได้จาก https://www.babycenter.com/0_fetal-movement-feeling-your-baby-kick_2872.bc. [ค้นคว้าเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2560]