รู้ลึก รู้จริงเกี่ยวกับจุกนมของลูก เลือกแบบไหนดี เปลี่ยนเมื่อไหร่ แบบไหนเรียกเสื่อมสภาพ

04 April 2015
73905 view

จุกนม

จุกนม ปัจจุบันมีมากมายหลากหลายยี่ห้อให้เลือกซื้อ แบบแพงมาก – ถูกมาก ข้อคิดอีก1อย่างในการเลือกซื้อจุกนม ราคาแพงใช่ว่าจะดีที่สุดเสมอไป คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ต้องทราบรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับจุกนมและทดลองใช้ก่อนก่อนตัดสินใจซื้อทีละมากๆ เรพาะคุณอาจเสียเงินฟรีๆซื้อมาแล้วลูกไม่ดูด

จุกนม แบบไหนเหมาะกับเด็กมากที่สุด

 จุกนม ที่เหมาะกับลูกเรามากที่สุดแน่นอนค่ะว่า ต้องเป็นจุกนมคล้ายคลึงกับ จุกนม แม่มากที่สุด เด็กที่กินจุกตั้งแต่เเรกอาจไม่มีปัญหาในจุดนี้ แต่เด็กที่เลี้ยงนมแม่อย่างเดียวมาตลอดแล้วต้องเปลี่ยนมาดื่มนมแม่จากขวด สร้างความสับสนให้เด็กอยู่ไม่น้อย เพราะฉะนั้นลุกของคุณต้องชอบดูดจุกที่คล้ายคลึงกับหัวนมแม่และนิ่มค่ะ การดื่มนมจากอกคุณแม่ เด็กจะต้องอ้าปากเพื่องับนมแม่ที่มีฐานกว้าง ระหว่างที่ดูดนมก็ต้องขยับเคลื่อนไหวกรามและลิ้นเพื่อให้น้ำนมไหลออกมา ดังนั้นเด็กที่ดูดนมแม่จึงมีการขยายของกราม ทำให้ลดปัญหาเกี่ยวกับการเรียงตัวของฟัน และลดโอกาสที่จะต้องจัดฟันในอนาคต

นอกจากนี้ การขยับกรามและลิ้นขณะดูดนมแม่ ยังส่งผลสำคัญต่อการพูดและออกเสียงของเด็กในอนาคต ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่าคุณพ่อ-คุณแม่นั่นต้องการให้ลูกน้อยพูดและออกเสียงได้ชัดเจนมากกว่า 1 ภาษาอย่างแน่นอน และการขยับกรามและลิ้นขณะดูดนมแม่ก็เป็นการสร้างพื้นฐานที่ดีของการพูดและการออกเสียง ทำให้ออกเสียงได้ดีกว่าเด็กที่ดูดนมจากจุกนมทั่วไป เนื่องจากการดูดนมจากจุกนมทั่วไป เด็กไม่จำเป็นต้องอ้าปากกว้างและไม่ต้องขยับกรามและลิ้นมาก ก็สามารถดื่มนมได้แล้ว ดังนั้น สิ่งสำคัญในการเลือกจุกนมให้แก่ลูกน้อยคนสำคัญของคุณก็คือ การเลือกจุกนมเสมือนนมแม่ หรือจุกนมที่มีฐานกว้าง และเน้นที่เด็กต้องขยับปาก กรามและลิ้นจึงมีน้ำนมไหลออกมา เพื่อเลียนแบบลักษณะของการดูดนมแม่นั่นเอง
 

ควรเปลี่ยนจุกนมเมื่อไหร่ดี

การเปลี่ยน จุกนม อาจเป็นคำถามที่คุณพ่อ-คุณแม่หลายคนสงสัยว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน จำเป็นต้องเปลี่ยนตามอายุที่ระบุบนตัวผลิตภัณฑ์หรือไม่ คำตอบคือ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตามอายุบนตัวผลิตภัณฑ์ แต่ควรจะต้องพิจารณาอยู่ 2 ปัจจัยหลัก สำหรับการเปลี่ยน จุกนม นั่นคือ
  1. ความต้องการต้องการของลูกน้อยของคุณ
  2. การเสื่อมสภาพของจุกนม 
อายุที่อยู่บนตัวผลิตภัณฑ์เป็นเพียงข้อแนะนำ หรือเป็นการประมาณช่วงอายุที่ควรจะเปลี่ยนจุกนม เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีน้ำหนักตัวไม่เท่ากัน ความแรงที่จะใช้ในการดูดนมก็ต่างกัน ดังนั้น คุณพ่อ-คุณแม่ควรหมั่นสังเกตว่าปริมาณการไหลของน้ำนมจากจุกนมขนาดนั่น ๆ ยังเพียงพอต่อความต้องการของเด็กหรือไม่ โดยหากจุกนมเล็กเกินไปจนปริมาณน้ำนมไหลไม่เพียงพอต่อความต้องการของเด็กแล้ว ลูกน้อยของคุณจะส่งสัณญาณบางอย่างบอกคุณ เช่น
  1. เด็กน้อยเริ่มออกแรงมากในการดูดนม หรือสังเกตง่าย ๆ ว่าเด็กจะออกแรงดูดจนแก้มบุ๋ม หรือ
  2. เจ้าตัวน้อยดูดนมไปได้สักพักแล้วร้องโยเย เสียงร้องนั่นก็อาจเป็นการบอกคุณพ่อ-คุณแม่ว่าน้ำนมไหลไม่ทันใจหนูเลย หรือ
  3. ลูกน้อยดูดนมไปเพียงนิดเดียวก็หอบเหนื่อยและหลับไป โดยอีกไม่นานก็ตื่นอีกเพราะหิว หากมีสัณญาณจากลูกน้อยแล้ว คุณพ่อ-คุณแม่ก็ควรเปลี่ยนขนาดจุกนม เพื่อให้ปริมาณน้ำนมไหลทันใจเจ้าตัวเล็ก
การเปลี่ยนจุกนมใหม่ นอกจากจะดูที่ความต้องการของเด็กแล้ว ยังจะต้องหมั่นตรวจสอบคุณภาพของจุกนม ทุก ๆ 2 - 3 เดือน เพื่อในแน่ใจว่าจุกนมสำหรับลูกอันเป็นที่รักนั่นยังอยู่ในสภาพดี เนื่องจากอายุการใช้งานของจุกนมขึ้นอยู่กับชนิดและลักษณะการใช้งาน ควรเปลี่ยนจุกนมหากจุกนมมีลักษณะดังนี้
  1. โดยปกติแล้วน้ำนมที่ไหลออกจากจุกนมจะต้องไหลออกมาเป็นหยด หากมีน้ำนมไหลออกมาเป็นสาย หรือไหลออกมาไม่สม่ำเสมอ ก็แสดงว่าจุกนมนั่นเสื่อมสภาพ เพราะรูของจุกนมนั้นใหญ่เกินไป
  2. จุกนม เมื่อใช้ไปนาน ๆ ผ่านการต้มฆ่าเชื้อโรคบ่อย ๆ ตัวยางจะบางลง และเสียรูปทรง สามารถทดสอบได้โดยการดึง จุกนม ออกมาตรง ๆ แล้วปล่อย ถ้าจุกนมหดกลับสู่สภาพเดิมก็แสดงว่าจุกนมยังอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ แต่ถ้าไม่กลับไปอยู่ในรูปเดิมก็เป็นการบอกว่า จุกนมนั่นเสื่อมสภาพ
  3. สังเกตจากลักษณะของจุกนม หากจุกนมบวม เนื้อยางบวมนิ่ม เวลาที่ลูกดูด จุกนม จะแบนจนน้ำนมไม่ไหล แสดงว่าจุกนมเสื่อมสภาพแล้ว
  4. หากจุกนมมียางแตกหรือขาด ต้องเลิกใช้ทันที เพราะอาจมีเศษยางหลุดปนเข้าไปในปากขณะที่ลูกดูดนม เศษยางอาจจะไปติดหลอดลม เกิดอันตรายต่อเด็กได้

การทำความสะอาดจุกนมที่ถูกต้อง

เมื่อลูกดูดนมเสร็จ ไม่ควรปล่อย จุกนม ทิ้งไว้ ควรรีบนำไปแช่น้ำอุ่นทันที แล้วใช้แปรงล้างขจัดคราบนมออกให้หมด หรืออาจจะใช้เกลือป่นช่วยถูด้านในของหัวนมยางเพื่อล้างคราบนม เพราะการปล่อยจุกนมทิ้งไว้นาน จะทำให้ล้างคราบน้ำนมออกยาก อาจทำให้จุกนมตันเพราะคราบนมไปอุดอยู่ เมื่อล้างจุกนมแล้วก็นำไปฆ่าเชื้อโรค โดยอาจสามารถทำได้หลายวิธีตามที่คุณพ่อ-คุณแม่สะดวก เหมือนกับการทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคขวดนม
บทความแนะนำเพิ่มเติม
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team