ลำดับเหตุการณ์คลอด เหตุการณ์สำคัญ ที่คุณแม่ต้องเจอในห้องคลอดธรรมชาติ

18 November 2016
91126 view

ลำดับเหตุการณ์คลอด

ลำดับเหตุการณ์คลอดในห้องคลอดธรรมชาติคุณต้องเจออะไรบ้าง

เมื่อคุณแม่มีสัญญาณคลอดแล้ว คือ ปากมดลูกเปิด8 เซ็นติเมตรในครรภ์หลัง และปากมาดลูกเปิดครบ10 เซนติเมตร ใรครรภ์แรก  พยาบาลจะทำการย้ายคุณแม่เข้าสู่ห้องคลอด เพื่อขึ้นขาหยั่งเบ่งคลอด แต่ละโรงพยาบาล ห้อคลอดจะจัดบรรยากาศแตกต่างกันออกไป ห้องคลอดเอกชนจะคลอดคนเดียว ส่วนห้องคลอดโรงพยาบาลรัฐบาลจะคลอดมากกว่า1เตียง ใกล้ๆกับเตียงของคุณแม่ จะมี warmmer เตียงสำหรับรับเด็ก ที่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตทารกแรกเกิดอย่างครบครัน และที่ผนังหัวมุมเตียงจะมีชุดออกซิเจน เครื่องดูดเสมหะ เครื่องมือดมยาพร้อมที่จะช่วยเหลือคุณแม่ ส่วนบนเพดานจะมีโคมไฟผ่าตัด (บางที่ก็ใช้โคมไฟตั้ง) ใกล้ ๆ ปลายเตียงจะมีโต๊ะวางเครื่องมือทำคลอดและชุดเย็บแผลที่ปลอดเชื้อและมีผ้าปลอดเชื้อสำหรับคลุมบริเวณหน้าท้องและขา รวมทั้งมีเสื้อคลุมสำหรับหมอสวมเวลาทำคลอด และอีกด้านหนึ่งของห้องจะมีรถรับเด็กและเครื่องมือช่วยเด็กเวลาที่ออกแล้วไม่ยอมร้องหรือไม่ยอมหายใจ

ลำดับเหตุการณ์คลอดกับวิธีเบ่งคลอดธรรมชาติ

เมื่อคุณแม่เข้าสู่ห้องคลอด พยาบาลจะสอนให้คุณแม่เบ่งคลอด และคุณแม่ควรจะรอจังหวะที่พยาบาลหรือแพทย์บอกให้เบ่งจึงค่อยเบ่งคลอด เพราะถ้าเบ่งคลอดเร็วเกินไป เบ่งเมื่อปากมดลูกยังเปิดไม่เต็มที่ ปากมดลูกจะบวมมากและคลอดได้ช้า การที่คุณแม่อยากเบ่งคลอดนั้นเกิดจากหัวเด็กเคลื่อนที่ต่ำลงมาในช่องเชิงกรานและมากดลำไส้ใหญ่เหมือนกับอุจจาระลงมาอยู่ในลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย จึงทำให้คุณแม่รู้สึกอยากเบ่งคลอด ซึ่งจะเป็นการช่วยเร่งให้เด็กเคลื่อนต่ำลงมาเร็วขึ้น “ยิ่งคุณแม่เบ่งลงไปที่ก้นอย่างเต็มที่เหมือนกับการเบ่งอุจจาระ และเบ่งแต่ละครั้งให้นานพอ เริ่มด้วยการหายใจเข้าให้เต็มปอด และเบ่งพร้อมกับการเจ็บท้องคลอด ก็จะช่วยให้หัวเด็กเคลื่อนลงมาเร็วและคลอดเร็วขึ้น คุณแม่อาจใช้มือทั้งสองข้างจับเหล็กข้างเตียงเพื่อช่วยยืดเวลาเบ่ง พร้อมทั้งยกศีรษะขึ้นเล็กน้อยให้คางจรดกับหน้าอก จะช่วยให้มีแรงเบ่งได้ดีขึ้น เมื่อหายเจ็บท้องคลอดก็หยุดเบ่ง เมื่อเจ็บท้องก็เบ่งใหม่ และใช้การหายใจช่วยตามวิธีที่ฝึกไว้” (หากเบ่งในขณะที่มดลูกไม่หดรัดตัวหรือเบ่งขึ้นหน้าจนหน้าตาแดงไปหมด หัวเด็กก็จะไม่เคลื่อน แม้จะเบ่งจนหมดแรงก็ไม่คลอดสักที)
 

ลำดับเหตุการณ์คลอด กับการจัดเตรียมเครื่องมือช่วยคลอด

ขณะที่คุณแม่กำลังเบ่งคลอดอยู่หมออาจมีความจำเป็นต้องรีบช่วยให้การคลอดสิ้นสุดโดยเร็ว เช่น แม่ไม่มีแรงเบ่ง เป็นโรคหัวใจหรือโรคครรภ์เป็นพิษ ความดันโลหิตสูงมาก เสียงหัวใจทารกเต้นช้ากว่าปกติ ฯลฯ ซึ่งถ้าปล่อยไว้นานอาจเป็นอันตรายได้ หมอก็จะช่วยคลอดโดยใช้เครื่องมือคลอดซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ คีมช่วยคลอด และ เครื่องดูดสุญญากาศ (เครื่องมือทั้งสองชนิดนี้หากใช้โดยหมอที่มีความชำนาญแล้วก็จะไม่มีอันตรายต่อแม่และเด็ก) ซึ่งการจะเลือกใช้เครื่องมือชนิดใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับความถนัดของแพทย์และตัวคุณแม่เอง ถ้าใช้เครื่องดูดสุญญากาศแม่จะต้องมีแรงเบ่งช่วยด้วย ไม่เช่นนั้นอาจจะคลอดไม่ได้ ส่วนคุณแม่ที่ดมยาสลบก็จะต้องใช้คีมเท่านั้น ไม่ใช้เครื่องดูดสุญญากาศ และในบางกรณีหมออาจจะต้องช่วยคลอดโดยการผ่าตัดทางหน้าท้อง
 

ลำดับเหตุการณ์คลอดกับขั้นตอนเตรียมทำคลอดธรรมชาติ

เมื่อคุณแม่เบ่งจนกระทั่งหัวเด็กเคลื่อนลงมาต่ำมากจนเห็นรำไร พยาบาลจะจัดท่านอนให้คุณแม่ใหม่ โดยให้ยกขาพาดบนขาหยั่ง แล้วเลื่อนเตียงส่วนปลายออกหรือสอดเข้าใต้เตียง จะทำให้ก้นอยู่ตรงขอบเตียงพอดี ซึ่งเป็นท่าที่หมอจะช่วยทำคลอดให้คุณแม่ได้สะดวก พยาบาลจะใช้ที่รัด รัดขาคุณแม่เอาไว้กับขาหยั่งเพื่อมิให้ขาหลุดลงมาจากเตียง (ส่วนคุณแม่ที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือหรือดิ้นตลอดเวลาก็อาจต้องถูกมัดแขนด้วย) หลังจากจัดเตียงแล้ว พยาบาลก็จะใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคฟอกทำความสะอาดบริเวณหัวหน่าว โคนขา และปากช่องคลอด เพื่อลดการอักเสบของแผลและการติดเชื้อแก่ลูก ต่อจากนั้นหมอจะฟอกมือ ใส่เสื้อคลุม ใส่ถุงมือ และปูผ้าสะอาดที่โคนขาทั้งสองข้าง หน้าท้อง และก้น (ถ้าคุณแม่ถ่ายปัสสาวะไม่ออกหรือหมอพบว่ากระเพาะปัสสาวะเต็ม หมอจะสวนปัสสาวะให้ก่อนการคลอด) เสร็จแล้วพยาบาลก็จะช่วยเชียร์ให้คุณแม่เบ่งต่อ
 

ลำดับเหตุการณ์คลอดขั้นตอนตัดฝีเย็บ (Episiotomy)

ต่อมาหมอจะฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณปากช่องคลอด แล้วก็ใช้กรรไกรตัดช่องคลอดเล็กน้อยเพื่อให้กว้างพอที่จะให้ศีรษะออกมาได้ ซึ่งเราเรียกว่า “การตัดฝีเย็บ“ ซึ่งการตัดฝีเย็บนี้จะช่วยทำให้ช่องคลอดไม่ขาดกะรุ่งกะริ่งเหมือนการคลอดเองที่บ้านหรือคลอดโดยหมอตำแย เมื่อเด็กและรกคลอดออกมาแล้วก็จะเย็บช่องคลอดเข้าที่ได้ง่าย รอยที่ตัดนั้นจะตัดจากช่องคลอดส่วนล่างสุดเฉียงไปทางซ้ายหรือขวา หรือหมออาจจะตัดตรงกลางไปในแนวใกล้ทวารหนัก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความถนัดของหมอแต่ละคน
 

ลำดับเหตุการณ์คลอดขั้นตอนคลอดธรรมชาติทารกคลอดหัว

เมื่อแพทย์ตัดช่องคลอดแล้วคุณแม่จะต้องช่วยเบ่งอีกครั้งเพื่อให้มีแรงดันให้หัวเด็กโผล่และคลอดออกมา เมื่อหัวเด็กคลอดออกมาแล้ว ความสำคัญของขั้นตอนนี้ก็คือคุณแม่จะต้องให้ความร่วมมือ หมอและพยาบาลจะสั่งให้คุณแม่หยุดเบ่ง เพื่อให้ผู้ทำคลอดใช้ลูกยางสีแดงดูดเมือกและน้ำคร่ำออกจากปากและจมูกของลูกออกให้หมดเสียก่อน 


ลำดับเหตุการณ์คลอดขั้นตอนคลอดธรรมชาติการทำคลอดตัวทารก

เมื่อเคลียทาเดินหายใจให้ทารกแล้แล้วจึงจะทำคลอดตัวเด็กออกมา ในขณะที่ทำคลอดตัวเด็กออกมานี้ก็จะให้ผู้ช่วยฉีดยาที่ช่วยการหดรัดตัวของมดลูก (ยากลุ่มเออร์กอด เช่น Ergometrine) เพื่อช่วยให้มดลูกหดรัดตัวดีขึ้น รกจะได้คลอดเร็วและเสียเลือดน้อย ในระยะการคลอดหัวและลำตัวนี้ปกติจะใช้เวลาเพียง 2-3 นาทีเท่านั้น เมื่อลำตัวคลอดออกมาแล้ว ผู้ทำคลอดก็จะผูกและตัดสายสะดือเพื่อแยกเด็กออกจากรก ยกตัวเด็กให้คุณแม่ดูหน้าตาและหันก้นให้ดูว่าเพศหญิงหรือเพศชาย แล้วก็อุ้มเด็กไปใส่ในรถเข็น ดูดเมือกและน้ำคร่ำออกจากลำคอเพื่อไม่ให้เด็กสำลักหรือหายใจเอาน้ำคร่ำเข้าไปในปอด ตัดและแต่งสายสะดือ แล้วหยอดตาทารกด้วยยาฆ่าเชื้อเพื่อลดการอักเสบของเยื่อตา เพราะอาจมีเชื้อโรคเข้าตาในขณะคลอดได้ จากนั้นพยาบาลก็จะผูกป้ายชื่อคุณแม่ไว้ที่ข้อมือหรือข้อเท้าทันทีเพื่อมิให้ผิดตัว


ลำดับเหตุการณ์คลอดขั้นตอนการประเมินสุขภาพเด็กด้วย APGAR Scoer

ลูกร้องแล้ว ใน 1 นาทีแรกหลังคลอดลูกก็จะร้องทันที ความทุกข์ทรมานตั้งแต่เริ่มตั้งท้อง แพ้ท้อง ปวดเมื่อย อึดอัด จนกระทั่งเจ็บท้องคลอด สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะหายไปหมดเมื่อลูกน้อยคลอดออกมาแล้วร้องเสียงดัง ซึ่งแสดงถึงความแข็งแรงสมบูรณ์ จากนั้นหมอจะใช้ลูกยางดูดเมือกและน้ำคร่ำในคอและในจมูกออก แต่ถ้าลูกไม่ร้องหรือร้องไม่ดังพอ ผู้ทำคลอดอาจจะให้ดมออกซิเจนและช่วยกระตุ้นบ้างตามความเหมาะสม เสร็จแล้วก็จะพามาให้คุณแม่เพื่อเริ่มสร้างสายสัมพันธ์กับลูกน้อย
 

ลำดับเหตุการณ์คลอดขั้นตอนคลอดธรรมชาติการทำคลอดรก

หลังจากคลอดตัวเด็กออกมาแล้ว หมอก็จะช่วยทำให้คลอดรกโดยที่คุณแม่อาจรู้สึกตึง ๆ ถ่วง ๆ เล็กน้อย และจะมีเลือดออกมาทางช่องคลอด แต่จะไม่เกิน 200-300 ซีซี ในขณะเดียวกันหมอก็ตรวจดูว่ารกออกมาครบหรือไม่ ถ้ามดลูกรัดตัวไม่ดีรกอาจจะไม่ลอกตัวและอาจจะตกเลือดมากก็ได้ ถ้ารกไม่ลอกตัวในระยะเวลาอันสมควร ประมาณ 10-15 นาที หมอก็อาจจะต้องเริ่มช่วยเหลือโดยการตามวิสัญญีแพทย์มาช่วยให้สลบ เพื่อใช้มือล้วงรกออกมาจากในโพรงมดลูก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเอารกออกมาได้ แต่จะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่รกฝังลึกในผนังมดลูกจนไม่สามารถเอาออกมาได้ด้วยการล้วงหรือขูดมดลูก ก็อาจจำเป็นต้องเข้าห้องผ่าตัดและผ่าตัดเอามดลูกพร้อมรกออก เพราะถ้าปล่อยไว้จะทำให้คุณแม่ตกเลือดมากจนเสียชีวิตได้
 

ลำดับเหตุการณ์คลอดขั้นตอนเย็บฝีเย็บ

เมื่อทำคลอดรกเรียบร้อยแล้วหมอก็จะเย็บแผลที่ช่องคลอดที่ตัดเอาไว้ การเย็บแผลอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งเพราะจะต้องเย็บเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อเป็นชั้น ๆ ให้เหมือนของเดิมมากที่สุด คุณแม่จึงอาจรู้สึกเมื่อยเพราะต้องอยู่บนขาหยั่งจนกว่าหมอจะเย็บแผลเสร็จ เมื่อเย็บเสร็จแล้วพยาบาลก็จะเอาขาคุณแม่ลงจากขาหยั่ง เช็ดหน้า เช็ดตัว และเปลี่ยนเสื้อผ้าให้

ลำดับเหตุการณ์คลอด ขั้นตอนย้ายไปห้องพักพื้น

จากนั้นก็จะย้ายคุณแม่ออกจากห้องคลอดไปยังห้องสังเกตอาการหลังคลอดต่อไป เพราะภายหลังการคลอดอาจมีการตกเลือดเกิดขึ้นได้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นทันทีหลังคลอดแต่รกยังไม่คลอด หรือเกิดขึ้นในขณะที่รกคลอดออกมา หรืออาจจะเกิดขึ้นในขณะที่เย็บแผล หรือหลังจากเย็บแผลเสร็จแล้วก็ได้ ดังนั้น จึงมีกฎว่าหลังการคลอดจะต้องให้คุณแม่อยู่ในห้องสังเกตอาการหลังคลอดเพื่อสังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นเวลา 2 ชั่วโมง แล้วจึงค่อยย้ายไปอยู่ตึกผู้ป่วยหลังคลอด

ในระหว่างที่ขั้นตอนการคลอดสิ้นสุดลง ความเสี่ยงยังไม่หมดเพียงเท่านี้ พยาบาลห้องคลอดจะดูแลอาการคุณแม่หลังคลอด จนแน่ใจแล้วว่า คุณไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆและมีสัญญาณชีพปกติ จะทำการย้ายคุณไปส่งที่แผนกหลังคลอด เพื่อรอลูกน้อยมาดูดนมในลำดับต่อไป

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
เรียบเรียงโดย : Mamexpert Editorial Team