พัฒนาการเด็ก 37–42 เดือน
เทคนิคกระตุ้นพัฒนาการเด็ก 37 – 42 เดือน ด้านการเคลื่อนไหว
พัฒนาการด้านร่างกายของเด็กวัย 37-42 เดือน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเลี้ยงดูเด็กในช่วงวัยนี้จึงมีผลต่อคุณภาพการเจริญเติบโตของร่างกาย ทั้งการเคลื่อนไหว การทรงตัวเเละความแข็งเเรง กิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวเด็กวัย 37-42 เดือน เด็กจะสามารถยืนด้วยขาข้างเดียวได้ โดยไม่เกาะ นาน 3 วินาที มีวิธีการกระตุ้นพัฒนาการดังนี้
- ผู้ปกครองและเด็กยืนหันหน้าเข้าหากันและจับมือเด็กไว้ทั้งสองข้าง
- ผู้ปกครองยกขาข้างหนึ่งขึ้นแล้วบอกให้เด็กทําตาม จากนั้นค่อยๆ ปล่อยมือเด็กทีละข้าง
- เปลี่ยนเป็นยกขาอีกข้างหนึ่งโดยทําเช่นเดียวกัน
- ฝึกจนเด็กสามารถยืนข้างเดียวได้ด้วยตนเอง
หมายเหตุ ขณะทำผู้ปกครองอาจจะร้องเพลงประกอบไปด้วยก็ได้ เพื่อให้เด็กเกิดความสนุกสนาน
เทคนิคกระตุ้นพัฒนาการเด็ก 37 – 42 เดือน ด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา
การกระตุ้นพัฒนาการทางด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กเเละการใช้สติปัญญาของเด็กวัย 37-42 เดือน เด็กสามารถเขียนรูปวงกลมตามแบบได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานของพัฒนาการที่มีความซับซ้อนมากขึ้นตามวัยและตามความสามารถของเด็ก อุปกรณ์ที่ผู้ปกครองต้องเตรียม สีเทียน กระดาษที่มีรูปวงกลม มีวิธีกระตุ้นพัฒนาการดังนี้
- ผู้ปกครองวาดรูปวงกลมให้เด็กดู
- ผู้ปกครองบอกให้เด็ก วาดรูปวงกลมตาม
- ถ้าเด็กวาดไม่ได้ผู้ปกครองช่วยจับมือเด็กวาด
- เมื่อเด็กเริ่มวาดรูปวงกลมได้แล้ว ผู้ปกครองวาดรูปวงกลมลงในกระดาษโดยไม่ให้เด็กเห็น
แล้วส่งกระดาษที่ผู้ปกครองวาดให้เด็ก และบอกว่า “หนูลองวาดรูปวงกลมแบบนี้ซิ”
กิจกรรมนี้ ผู้ปกครองสามารถปรับเปลี่ยนภาพวาดให้เป็นรูปทรงต่างๆได้ เพื่อการพัฒนาที่มากยิ่งขึ้น
เทคนิคกระตุ้นพัฒนาการเด็ก 37 – 42 เดือน ด้านการเข้าใจภาษาเเละการใช้ภาษา
ฝึกทักษะทางด้านการเข้าใจภาษา ผู้ปกครองควรกระตุ้นให้เด็กได้พูดคุยเล่าเรื่องของตนเอง เช่น กิจกรรมที่โรงเรียน ฝึกหัดให้เด็กนับสิ่งของ บอกชื่อสี (ควรเพิ่มในเรื่องของภาษา เช่น นับเลขเป็นภาษาอังกฤษ บอกชื่อสีเป็นภาษาอังกฤษ) ฝึกให้เด็กหยิบของตามจำนวน เมื่อลูกทำได้ควรเสริมแรงให้กำลังใจผ่านการชื่นชมอย่างเหมาะสม จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ จินตนาการ ให้สมกับช่วงวัย
ฝึกทักษะด้านการใช้ภาษา ผู้ปกครองฝึกตั้งคําถามโต้ตอบกับเด็กในชีวิตประจําวัน เช่น ใคร อะไร ที่ไหน ทําไม เช่น ชี้ไปที่คุณตาแล้วถามว่า “นี่ใครนะ” ชี้ไปที่คุณพ่อ แล้วถามว่า “พ่อทําอะไรอยู่นะ” ขณะที่พ่อไม่อยู่ ถามว่า “พ่ออยู่ที่ไหนนะ" เมื่อต้องการเหตุผล ถามว่า “ทําไมหนูไม่ดื่มนม” ผู้ปกครองต้องฝึกบ่อยๆ ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เเละผู้ปกครองสามารถนำเพลงมาพัฒนาในเรื่องการใช้ภาษาของเด็กได้ กล่าวคือ เด็กวัยนี้สามารถร้องเพลงได้ ถ้าได้รับการกระตุ้นพัฒนาการ เด็กจะร้องเพลงได้ถูกต้องหรือเกือบจบเพลง ซึ่งมีวิธีการกระตุ้นพัฒนาการ ดังนี้
- ผู้ปกครองร้องเพลงหรือ เปิดเพลงง่ายๆ สั้นๆ ให้เด็กฟังบ่อยๆ อาจจะเป็นช่วงเวลาก่อนนอน บนรถ หรือเวลาที่ทำกิจกรรมอื่นๆในบ้านร่วมกัน
- ผู้ปกครองร้องเพลงให้เด็กฟังทีละท่อนแล้วให้เด็กร้องตาม ฝึกร้องเพลงด้วยกัน ผู้ปกครองช่วยร้องในบางท่อนที่เด็กไม่สามารถร้องได้ ฝึกจนกระทั่งเด็กสามารถร้องเพลงได้เองจนจบเพลง
เทคนิคกระตุ้นพัฒนาการเด็ก 37 – 42 เดือน ด้านการช่วยเหลือตัวเองเเละสังคม
เด็กสามารถทําตามกฎ ข้อกำหนดหรือกติกา ในการเล่นเป็นกลุ่มได้ โดยมีวิธีกระตุ้นพัฒนาการดังนี้
- ผู้ปกครองร่วมเล่นเกมง่ายๆ กับเด็กเริ่มจาก กลุ่มเล็กๆ เช่น เล่นซ่อนหา มอญซ่อนผ้า รีรีข้าวสาร งูกินหาง โดยตั้งกฎกติการ่วมกัน
- ถ้าเด็กยังไม่สามารถเล่นตามกฎกติกาได้ ผู้ปกครองคอยกำกับเด็กให้เล่นตาม กฎกติกาได้ ผู้ปกครองส่งเสริมให้เด็กเล่นกับเพื่อนโดยคอยดูแลขณะกำลังเล่น
การกระตุ้นพัฒนาการด้านการช่วยเหลือตัวเองเเละสังคมเพิ่มเติม ได้เเก่ ในขณะทํางานบ้าน ผู้ปกครองชวนให้เด็กทํางานบ้านด้วยกัน เช่น เก็บของเล่น ล้างจาน กวาดบ้าน ช่วยเก็บเสื้อผ้า หยิบของ ซึ่งบางครั้งเด็กวัยนี้ชอบรบเร้า จะช่วยทำโน่นทำนี่ ผู้ปกครองควรใช้ โอกาสนี้ในการฝึกเด็ก ซึ่งจะทำให้เด็กสามารถช่วยเหลือตัวเองได้
หากผู้ปกครองที่ดูแลเด็กมีความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กและให้การเลี้ยงดูที่เหมาะสมกับช่วง เด็กจะสามารถพัฒนาความสามารถของตนได้อย่างเต็มที่ กิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการนี้เป็นทักษะเบื้องต้นสำหรับเด็กทั่วไปว่าสามารถทำอะไรได้ในแต่ละช่วงวัย ซึ่งอาจมีทักษะบางอย่างที่เด็กปกติจำนวนหนึ่งทำได้เร็วหรือช้ากว่าเกณฑ์นี้เล็กน้อย ควรกระตุ้นตามคำแนะนำ หากคุณพ่อคุณเเม่มีความกังวลเรื่องพัฒนาการของลูกน้อย ควรพาลูกไปพบกุมารแพทย์ใกล้บ้าน เพื่อรับคำแนะนำและเทคนิคกระตุ้นพัฒนาการเพิ่มเติม Mamaexpert สนับสนุนให้คุณพ่อคุณเเม่ทุกๆบ้าน ติดตามพัฒนาการของลูกทุกช่วงวัยค่ะ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
1. วิธีที่ช่วยให้ลูกคุณแม่หลับง่ายกว่าที่เคย
2. ปัญหาลูกตื่นกลางคืนบ่อยแก้ไขอย่างไร?
3. พัฒนาการล่าช้าและพัฒนาการถดถอยในเด็ก
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team
อ้างอิง :
1. สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็ก - 5 ปี สำหรับผู้ปกครอง.เข้าถึงได้จาก http://thaichilddevelopment.com/37-42month.php.[ค้นคว้าเมื่อ 29กันยายน 2560]
2. Your Baby's Development pre-schooler (ages 2 to 4).เข้าถึงได้จาก. https://goo.gl/ndkMq4.[ค้นคว้าเมื่อ 29 กันยายน 2560]
3.Development stages Pre-schooler 2-4 years.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/t2bd8R .[ค้นคว้าเมื่อ 29 กันยายน 2560]