คลอดก่อนกำหนด
อย่างไรเรียกว่าคลอดก่อนกำหนด
ในทางการแพทย์ไปฝากครรภ์ แพทย์ผู้ดูแลจะคาดคะเนวันคลอดหรือวันกำหนดคลอดให้ ซึ่งอายุครรภ์ครบกำหนดในคนคือ ตั้งครรภ์ครบ 40 สัปดาห์ หรือ 280 วัน โดยคำนวณจากประวัติการเป็นประจำเดือนครั้งสุดท้าย หากทารกคลอดในช่วงระหว่างอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ถึงก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ หรือ 259 วัน เรียกว่า การคลอดก่อนกำหนด (Pre term labor หรือ Premature labor) และเรียกทารกที่เกิดว่า ทารกคลอดก่อนกำหนด (Pre term infant หรือ Premature infant หรือ Preemie หรือ Premie) แต่ถ้าทารกคลอดก่อนอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ซึ่งทารกมักเสียชีวิต เรียกว่า การแท้ง (Abortion)
คลอดก่อนกำหนดอายุครรภ์เท่าไรเด็กจึงมีโอกาสรอด
อายุครรภ์ 22-23 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสเลี้ยงรอดชีวิตประมาณ 17 %
อายุครรภ์ 24-25 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสเลี้ยงรอดชีวิตประมาณ 40-50 %
อายุครรภ์ 26-28 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสเลี้ยงรอดชีวิตประมาณ 80-90 %
อายุครรภ์ 29-31 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสเลี้ยงรอดชีวิตประมาณ 90-95%
อายุครรภ์ 32-33 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสเลี้ยงรอดชีวิตประมาณ 95 %
อายุครรภ์ตั้งแต่ 34 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสเลี้ยงรอดชีวิตเหมือนทารกคลอดครบกำหนด คือประมาณ 95-98%
11 สาเหตุและปัจจัยสำคัญที่ทำให้คลอดก่อนกำหนด
สาเหตุที่แท้จริงของการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดและเกิดการคลอดก่อนกำหนดตามมา ยังไม่ทราบชัดเจน ประมาณ 50% หาสาเหตุไม่ได้ แต่พบว่ามีปัจจัยบางอย่างที่สัมพันธ์กับการชักนำให้กล้ามเนื้อมดลูกของสตรีตั้งครรภ์มีการหดรัดตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนทำให้เกิดอาการเจ็บครรภ์คลอด และคลอดทารกก่อนเวลาอันควร ได้แก่
- มีประวัติเคยคลอดก่อนกำหนดมาก่อน พบว่าสิ่งนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อครรภ์แรก คลอดก่อนกำหนด ครรภ์ต่อมามักจะมีการคลอดก่อนกำหนดด้วย
- คุณแม่ตั้งครรภ์อายุมากเกินไป มากกว่า 35 ปี หรือ น้อยเกินไป น้อยกว่า 17 ปี
- มีการอักเสบในช่องคลอดของคุณแม่ตั้งครรภ์เช่น จากภาวะ Bacterial vaginosis
- คุณแม่ตั้งครรภ์มีการติดเชื้อแบคทีเรีย ชนิด Group B streptococcus
- คุณแม่ตั้งครรภ์มีฟันผุ และ/หรือ มีการอักเสบของเหงือก
- คุณแม่ตั้งครรภ์มีการติดเชื้ออย่างรุนแรงในร่างกาย
- คุณแม่ตั้งครรภ์มีความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น โพรงมดลูกมีเนื้อเยื่อผิดปกติ กั้นให้เกิดมีโพรงมดลูก 2 โพรง (Uterine septate) และ รูปทรงมดลูกผิดปกติเป็นทรงคล้ายรูปหัวใจ (Bicornuate uterus) เป็นต้น
- มีการขยายตัวของมดลูกมากเกินไป เช่น การตั้งครรภ์แฝด ภาวะน้ำคร่ำมากกว่าปกติ หรือ มีเนื้องอกมดลูกร่วมด้วย
- มีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์จริง
- โรคประจำตัวของมารดาที่มีผลต่อหลอดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกไม่เพียงพอ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง
- การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และ ใช้สารเสพติด ในคุณแม่ตั้งครรภ์
การป้องกันการคลอดก่อนกำหนดและการดูแลตนเองของคุณแม่ตั้งครรภ์
- ควรพักผ่อนให้เพียงพอ
- ลดการทำงานหนัก
- งดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา
- การใช้ยาลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อมดลูกตามสูติแพทย์แนะนำ เช่น Proluton depot ทุก สัปดาห์ในช่วงการตั้งครรภ์ได้ 20-34 สัปดาห์ในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีเนื้องอกมดลูก หรือมีประวัติการคลอดก่อนกำหนด
- การรักษาการติดเชื้อต่างๆ เช่น ฟันผุ การติดเชื้อในช่องคลอด
- หลีกเลี่ยง หรืองดมีเพศสัมพันธ์ ในสตรีที่มีประวัตการคลอดก่อนกำหนด
คุณแม่ที่มีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดต้องไปพบแพทย์ เมื่อมีอาการดังนี้
คุณแม่ที่มีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ช่วงตั้งครรภ์ก่อนที่จะครบกำหนดคลอด มดลูกจะมีการหดรัดตัวเป็นระยะๆ ไม่สม่ำเสมอ ไม่รุนแรง วันละ 2-3 ครั้ง ไม่ทำให้เกิดอาการปวด อาการเช่นนี้ไม่เป็นอันตราย เพราะไม่เหนี่ยวนำให้เกิดการคลอดตามมา แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ควรรีบไปพบสูติแพทย์/ไปโรงพยาบาล ได้แก่
- กล้ามเนื้อมดลูกมีการหดรัดตัวอย่างสม่ำเสมอ โดยหดรัดตัวแรง และถี่ขึ้นเรื่อยๆ ทุก 10 นาที (6 ครั้งใน 1 ชั่วโมง)
- มีอาการปวดบริเวณท้อง ร้าวไปเอว ไปขา นอนพักแล้วไม่หายปวด
- มีน้ำไหลโจ๊กออกทางช่องคลอด คล้ายกับปัสสาวะราด และกลั้นไม่ได้
- มีมูก เลือด ออกทางช่องคลอดปวดหน่วงในช่องเชิงกรานมาก รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) แล้วไม่ดีขึ้น
การไปฝากครรภ์ตามนัดเป็นการช่วยลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ อย่าลืมไปฝากครรภ์ตามนัดและแจ้งอาการที่สผิดปกติต่อสูติแพทย์เจ้าของไข้ทุกครั้ง
บทความแนะนำสำหรับแม่ตั้งครรภ์
1. การตรวจความผิดปกติหัวใจของทารกในครรภ์
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team