อายุครรภ์กับขนาดท้อง มีความสำคัญอย่างไร

03 March 2014
88732 view

อายุครรภ์กับขนาดท้อง

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ อายุครรภ์กับขนาดท้อง

อายุครรภ์กับขนาดท้อง มีความสำคัญอย่างไร หลายความเชื่อ หลากวัฒนธรรม ความเชื่อของคนโบราณเรื่องการตั้งครรภ์ หนึ่งในนั้นมีเรื่องของลักษณะท้องที่เชื่อว่าสามารถคาดเดาเพศลูกได้ ซึ่งมักจะเชื่อกันว่า ท้องแหลมเป็นลูกผู้ชาย ท้องกลมเป็นลูกผู้หญิง จริง ๆ หรือไม่  จริง ๆ แล้วลักษณะท้องในขณะตั้งครรภ์ที่แตกต่างกันนั้นมีที่มาจากสรีระของตัวคุณแม่นั่นเอง และลักษณะที่มักจะพบได้บ่อยคือ ท้องแหลม และท้องกลมหรือท้องป้าน ซึ่งการจะมีลักษณะท้องแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับ

ลักษณะของท้องแต่ละแบบ

ลักษณะของท้องแต่ละแบบ ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้

1.รูปร่างและลักษณะของมดลูก

คุณแม่ที่มีมดลูกคว่ำมาทางด้านหน้า เมื่อตั้งครรภ์จะทำให้ท้องแหลมยื่นออกมาด้านหน้า ส่วนคุณแม่ที่มีลักษณะมดลูกคว่ำค่อนไปทางด้านหลัง ท้องจะมีลักษณะท้องกลม

2.กล้ามเนื้อหน้าท้อง

หากคุณแม่มีกล้ามเนื้อหน้าท้องแข็งแรง (เกิดจากการออกกำลังกายอย่างเป็นประจำ) เมื่อตั้งครรภ์ ท้องจะกลมเพราะกล้ามเนื้อส่วนหน้ามีความกระชับ ส่วนคุณแม่ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย กล้ามเนื้อหน้าท้องไม่แข็งแรง หรือเป็นท้องหลัง (ท้องที่สองขึ้นไป) การที่กล้ามเนื้อเคยยืดขยายมาแล้ว ก็จะส่งผลให้ท้องยื่นออกมาด้านหน้ามาก หรือที่เราเรียกว่าท้องแหลม

อายุครรภ์กับขนาดท้องแต่ละไตรมาส

  1. ไตรมาสแรก (ประมาณ 0-12 สัปดาห์) ขนาดมดลูกยังไม่ขยาย แต่บางคนที่รู้สึกว่าท้องใหญ่ขึ้นนั้นเป็นเพราะท้องอืด เพราะฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์ทำให้แพ้ท้องและมีท้องอืดร่วมด้วย
  2. ประมาณสัปดาห์ที่ 10-12 จะเริ่มคลำขนาดมดลูกที่หน้าท้องได้เหนือหัวหน่าวเล็กน้อย
  3. ช่วงเริ่มเข้าสู่สัปดาห์ที่ 14 มดลูกจะอยู่ 2 ใน 3 นับจากสะดือไปถึงหัวหน่าว (เวลาแบ่งช่วงหน้าท้องทางการแพทย์จะแบ่งจากใต้สะดือเป็น 3 ส่วน เหนือสะดือเป็น 4 ส่วน)
  4. ช่วงสัปดาห์ที่ 20 ยอดมดลูกจะอยู่ที่ระดับสะดือพอดี
  5. หลังจากสัปดาห์ที่ 20 ขนาดของมดลูกจะมีขนาดเท่ากับอายุสัปดาห์ เช่น ถ้าอายุครรภ์ 23 สัปดาห์ จะวัดยอดมดลูกจากเหนือนหัวหน่าวได้ 23 ซม.พอดี ซึ่งเป็นวิธีที่หมอสูติใช้ตรวจว่าขนาดมดลูกด้วยว่าเจริญเติบโตเท่ากับอายุหรือไม่
  6. หลังจาก 37 สัปดาห์ (หรืออาจจะมากกว่านี้กับคุณแม่บางคน) คุณแม่จะรู้สึกว่าท้องเริ่มลด นั่นเป็นเพราะลูกกำลังกลับศีรษะลงในอุ้งเชิงกราน จึงทำให้รู้สึกเหมือนท้องลด ถือเป็นสัญญาณใกล้คลอดให้คุณแม่ได้ด้วย แต่หากเด็กตัวใหญ่มาก ไม่ยอมกลับศีรษะ แต่ใช้ส่วนนำเป็นก้น แม่จะรู้สึกแน่น ตึง เพราะมดลูกค้ำอยู่กรณีนี้จะต้องผ่าคลอด
  7. อีกลักษณะของท้องที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายคือ ท้องต่ำ เมื่อท้องขยายขนาดใหญ่ขึ้น บวกกับการที่กล้ามเนื้อหน้าท้องไม่แข็งแรง และเป็นท้องหลัง ก็อาจจะทำให้ท้องต่ำ หรือ ท้องย้อย ซึ่งเมื่อท้องย้อยลงมามาก คุณแม่อาจจะรู้สึกหน่วง ทำให้การเดินและการเคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว และอาจจะรู้สึกเมื่อยมากกว่าปกติ เพราะไม่มีกล้ามเนื้อหน้าท้องมาช่วยพยุงท้องไว้

คุณแม่ตั้งครรภ์อยู่ ณ ขณะนี้ หากมีการพบแพทย์ตามวันนัดสม่ำเสมอไม่ต้องกังวลกับขนาดของครรภ์นะคะ เพราะหากมีความผิดปกติเกิดขึ้น สูติแพทย์จะแจ้งคุณแม่ทันที  การป้องกันความผิดปกติทุกๆอย่างระหว่างตั้งครรภ์นั้นเบื้องต้นคือ การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ อย่างเคร่งครัด พบแพทย์ตามนัด ทารกในครรภ์ก็จะมีพัฒนาการตามเกณฑ์ค่ะ Mama Expert  ขออวยพรให้คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน คลอดง่ายๆนะคะ

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. คนท้องกินอะไรได้บ้าง คนท้องกินอะไรดีต่อลูก108ปัญหาคาใจตอบทุกคำถามที่นี่

2. ยาบำรุงครรภ์ เพื่อบำรุงลูกให้แข็งแรงไม่พิการ มีตัวไหนบ้าง

3. เทคนิคบำรุงครรภ์ กินอย่างไรให้น้ำหนักไปลงที่ลูก

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team