คลอดลูกท่าก้น
ตามปกติเมื่อครบกำหนดคลอด ทารกส่วนใหญ่ 95-97% จะเอาศีรษะเป็นส่วนนำ (ส่วนของทารกที่จะคลอดออกมาก่อนส่วนอื่นๆ) กล่าวคือ ศีรษะจะเป็นส่วนที่อยู่ต่ำที่สุดในช่องเชิงกราน และจะคลอดออกมาทางช่องคลอดก่อนส่วนอื่นของร่างกาย ที่เรียกว่าทารกอยู่ในท่าศีรษะ/ท่าหัว ซึ่งเป็นท่าที่เหมาะสมสำหรับการคลอดทางช่องคลอดมากที่สุด เพราะคลอดได้ง่ายที่สุด แต่มีทารกประมาณ 3-4% เอาก้นเป็นส่วนนำ หรืออยู่ต่ำสุด เรียกว่าทารกอยู่ในท่าก้น หรือ “ทารกท่าก้น (Breech presentation)” ซึ่งไม่ใช่ท่าคลอดปกติ การคลอดจึงไม่ปกติเหมือนทารกท่าศีรษะ ทั้งนี้ทารกอายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนด มีโอกาสที่จะอยู่ในท่าก้นมากขึ้น
การคลอดลูกท่าก้นแต่ละประเภท
- Flank breech พบท่านี้มากที่สุด ทารกเอาก้นเป็นส่วนนำ งอข้อสะโพก แต่เหยียดข้อเข่า
- Complete breech ทารกเอาก้นเป็นส่วนนำ งอข้อสะโพก และงอข้อเข่า
- Incomplete breech ข้อสะโพกของทารกด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านไม่งอ ทำให้เท้าหรือเข่าอยู่ต่ำกว่าส่วนก้นลงไป หากเอาเท้าเหยียดลงไปต่ำสุดเรียกว่า Footling breech อาจเหยียดทั้ง 2 ขา หรือเพียง 1 ขาก็ได้
คลอดลูกท่าก้น อันตรายหรือไม่?
อุบัติการณ์ของทารกตายปริกำเนิด/Perinatal mortality (หมายถึง ทารกเสียชีวิตก่อนคลอด, ระหว่างคลอด, หรือหลังคลอดทันที) ของทารกที่อยู่ในท่าก้น จะมากกว่าทารกในท่าศีรษะ 2-4 เท่า อันตรายเกิดได้ตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ เช่น มีความผิดปกติของร่างกายทารก หรือมีพยาธิสภาพอย่างอื่นร่วมด้วย (เช่น ติดเชื้อรุนแรง) รวมทั้งเหตุการณ์ฉุกเฉินขณะคลอด เช่น
- สายสะดือย้อย (Prolapsed cord) แล้วเกิดการกดทับ ทำให้ทารกขาดออกซิเจน จึงเสีย ชีวิตได้
- การคลอดติดศีรษะ เนื่องจากส่วนก้นมีขนาดเล็กกว่าส่วนศีรษะ เมื่อคลอดส่วนก้นออกมา แล้ว ศีรษะทารกไม่มีเวลาในการปรับรูปร่างศีรษะ (Molding) ได้เหมือนทารกที่อยู่ในท่าศีรษะ ทำให้ส่วนศีรษะคลอดออกมาลำบากกว่า หรือไม่สามารถคลอดศีรษะได้ บางครั้งต้องใช้คีมชนิดพิเศษช่วยทำคลอดศีรษะ ซึ่งหากศีรษะทารกคลอดช้าโดยมีการลอกตัวของรกก่อนแล้ว หรือสายสะดือถูกกดทับด้วย ระหว่างที่อยู่ในกระบวนการช่วยคลอดศีรษะ จะทำให้ทารกขาดออกซิเจนได้ แม้จะเป็นเวลาเพียงไม่กี่นาที ก็จะเป็นอันตรายต่อทารกมาก และการที่มารดาได้รับการทำหัตถการต่างๆ เพื่อช่วยชีวิตทารก จึงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ และการบาดเจ็บของช่องทางคลอด
- ยันตรายต่ออวัยวะในช่องท้องของลูกในกระบวนการช่วยคลอดท่าก้น ในการช่วยคลอดทารกท่าก้นทั้งการช่วยคลอดทางช่องคลอดและการผ่าตัดคลอด แพทย์จะต้องมีการช่วยดึงลำตัวทารกให้เคลื่อนต่ำลงมา ซึ่งผู้ทำคลอดจะพยายามจับรอบขา 2 ข้างของทารกแล้วดึง แต่อาจพลาดไปกดถูกตับ ตับแตกได้
- มารดามีโอกาสได้รับการทำสูติศาสตร์หัตถการสูง ได้แก่ การผ่าท้องคลอด, การคลอดศีรษะด้วยคีม หลังจากที่คลอดลำตัวแล้วไม่สามารถคลอดศีรษะได้ มารดาจึงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ เสียเลือด ช่องคลอดฉีดขาด สำหรับทารกหากขาดออกซิเจนนาน ก็จะมีผลต่อการพัฒนาการด้านร่างกาย และสติปัญญาในอนาคต
คลอดลูกท่าก้น มีสาเหตุเกิดจาก
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ทารกอยู่ในท่าก้น ขณะคลอด ได้แก่
- ทารกที่อายุครรภ์น้อย (ทารกตัวเล็ก) พบว่าทารกอายุครรภ์ก่อน 28 สัปดาห์ มีโอกาสอยู่ในท่าก้น 22% และลดลงเหลือ 7% เมื่ออายุครรภ์ 32 สัปดาห์ และพบเพียง 1-3% ในทารกอายุครรภ์ครบกำหนด
- มารดามีเนื้องอกมดลูก ทำให้ทารกไม่สามารถหมุนเป็นท่าศีรษะได้ตามปกติ
- มีรกเกาะบริเวณด้านล่างของมดลูก/ภาวะรกเกาะต่ำ (Placenta previa) จึงขัดขวางการหมุนตัวของทารก
- มีความผิดปกติของโพรงมดลูก ทำให้ทารกไม่สามารถหมุนเป็นท่าศีรษะได้ตามปกติ
- การตั้งครรภ์แฝด
- ปริมาณน้ำคร่ำมากเกินไป ทำให้ทารกหมุนตัวได้มากเกินไป หรือปริมาณน้ำคร่ำน้อยเกิน ไป ทารกหมุนตัวไม่ได้
- ครรภ์ที่ผ่านๆมา มีทารกเคยอยู่ในท่าก้น
- ความผิดปกติของรูปร่างของทารก เช่น ศีรษะโตเกินไป หรือมีเนื้องอกบริเวณส่วนบนหรือส่วนล่างของทารก ทำให้ทารกไม่สามารถหมุนเป็นท่าศีรษะได้ตามปกติ
คุณแม่ตั้งครรภ์จะรู้ได้อย่างไรว่าทารกอยู่ในท่าก้นหรือไม่?
ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ตัวทารกยังเล็ก จึงสามารถหมุนเปลี่ยนท่าเป็นก้นหรือเป็นท่าศีรษะได้ง่าย สตรีตั้งครรภ์มักยังไม่รู้สึกผิดปกติ แต่เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ทารกตัวโตขึ้น การหมุนเปลี่ยนท่าของทารกจะทำได้ยากขึ้น เมื่อทารกเอาก้นลงไปในอุ้งเชิงกราน ศีรษะจึงอยู่ส่วน บนหรือบริเวณใต้ลิ้นปี่ สตรีตั้งครรภ์จึงมักรู้สึกว่า มีก้อนกลมแข็งๆดันอยู่บริเวณใต้ลิ้นปี่
แพทย์วินิจฉัยทารกท่าก้น หรือการคลอดลูกท่าก้นอย่างไร?
เมื่อไปฝากครรภ์ แพทย์จะคลำหน้าท้องสตรีตั้งครรภ์ เมื่ออายุครรภ์โตพอประมาณ ในเด็กท่าก้น แพทย์จะคลำได้ก้อนกลมแข็งๆบริเวณส่วนบนของท้อง และคลำได้ส่วนก้อนที่มีรูป ร่างไม่กลมนักและนิ่มกว่าบริเวณเหนือหัวหน่าว หากทำการตรวจภายใน ในรายที่ทารกเป็นท่าก้น Frank breech จะพบส่วนก้อนกลมที่นิ่มกว่าศีรษะ บางครั้งอาจคลำได้รูทวารเด็กทารก และมีขี้เทา (Meconium) ติดนิ้วออกมา ซึ่งต้องแยกจากทารกที่อยู่ในท่าหน้า (Face presentation) ซึ่งบางครั้งคลำได้ปากที่สามารถดูดนิ้วแพทย์ผู้ตรวจได้ หรือหากเป็นท่าก้น Footling จะคลำได้เท้าทารก ซึ่ง การตรวจยืนยันที่ชัดเจน คือการตรวจท้องด้วยอัลตราซาวด์ ที่จะเห็นเป็นภาพท่าของทา รกได้ชัดเจน
ดูแลตนของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ลูกอยู่ในท่าก้น
- การที่แพทย์แจ้งว่าทารกในครรภ์อยู่ในท่าก้น แพทย์จะมีการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องยืนยันอีกครั้ง ซึ่งช่วยตรวจหาความผิดปกติอื่นของทารกที่อาจพบร่วมด้วย
- หากตรวจพบว่า ทารกอยู่ในท่าก้นตอนอายุครรภ์ยังเล็ก ทารกอาจมีการหมุนเปลี่ยนท่าเองได้ ดังนั้นแพทย์มักจะตรวจอัลตราซาวด์ซ้ำอีกครั้งตอนอายุครรภ์ประมาณ 34-36 สัปดาห์ ซึ่งทารกมักจะไม่หมุนเปลี่ยนท่าแล้ว
ทั้งนี้การดูแลตนเองระหว่างการฝากครรภ์เมื่อทารกอยู่ในท่าก้น จะเหมือนคนทั่วไป เพียง แต่ต้องพบแพทย์ตรงตามนัดเสมอ
แพทย์ดูแลรักษาภาวะ ทารกท่าก้นและการคลอดลูกท่าก้น อย่างไร?
การคลอดทางช่องคลอด ปัจจุบันได้รับความนิยมลดลง เนื่องจากข้อมูลที่มีในปัจจุบันพบว่า การคลอดทางช่องคลอดทำให้เด็กทารกได้รับอันตรายมากกว่าการผ่าท้องคลอด การคลอดทางช่องคลอด แบ่งเป็นอีก 3 วิธีในการทำคลอดคือ
- ให้ทารกคลอดเองในท่าก้นเลย โดยแพทย์ไม่ต้องช่วย (Spontaneous breech delivery) มักใช้กับเด็กตัวเล็ก โดยแพทย์ไม่ต้องช่วย
- แพทย์ช่วยคลอดบางส่วน (Breech assisting delivery)
- แพทย์ทำคลอดทั้งหมด (Total breech extraction) ใช้ในกรณีรีบด่วน ฉุกเฉิน เพื่อรีบช่วยชีวิตทารกในครรภ์ โดยแพทย์จะล้วงเข้าจับขาทารก แล้วดึงออกมา
- หมุนเปลี่ยนทารกจากท่าก้นให้เป็นท่าศีรษะจากภายนอก ( External cephalic version) และให้คลอดท่าศีรษะ เพราะการคลอดท่าศีรษะจะง่ายกว่า และมีอันตรายต่อทารกน้อยกว่าการคลอดในท่าก้น ซึ่งแพทย์มักจะทำการหมุนเปลี่ยนท่าตอนอายุครรภ์ 36-37 สัปดาห์ ก่อนที่จะมีอาการเจ็บครรภ์
- การผ่าท้องคลอด แพทย์ส่วนใหญ่จะนิยมใช้วิธีนี้ผ่าตัดคลอดเมื่ออายุครรภ์ครบกำหนด เนื่องจากทำอันตรายต่อทารกน้อยกว่า แต่อย่างไรก็ตาม การผ่าท้องคลอดจะเป็นอันตรายต่อมารดามากกว่าการคลอดทางช่องคลอด
หากท้องแรกคลอดลูกท่าก้น ท้องต่อไปจะเกิดอีกหรือไม่?
หากท้องแรกทารกเป็นท่าก้น ท้องต่อไปมีแนวโน้มที่จะเกิดทารกอยู่ในท่าก้นซ้ำอีก หากยังมีปัจจัยเหมือนเดิมมาเกี่ยวข้อง เช่น มารดามีเนื้องอกมดลูก หรือโพรงมดลูกผิดปกติ แต่หากไม่พบปัจจัยเสี่ยงชัดเจนของมารดา โอกาสทารกอยู่ในท่าก้นซ้ำก็มีเท่ากับคนทั่วๆไป
การดูแลตนเองหลังคลอดลูกท่าก้น
การดูแลตนเองหลังคลอดของมารดาหลังคลอ ดทารกท่าก้น ไม่แตกต่างจากผู้ที่คลอดทารกท่าศีรษะ แต่ตามที่กล่าวมาแล้วว่า ส่วนมากมารดามักได้รับการผ่าท้องคลอดจากที่การที่ทารกอยู่ในท่าก้น จึงต้องระวังเรื่องแผลติดเชื้อ เมื่อการผ่าตัดคลอดทั่วไป และควรคุมกำเนิดหลังคลอด เพื่อเว้นระยะการมีบุตรไป 2-3 ปี เพื่อมีเวลาเลี้ยงดูบุตรอย่างเต็มที่ การตัดสินใจตั้งครรภ์ครั้งต่อไปเมื่อคลอดทารกท่าก้น ไม่ต่างจากการคลอดทารกท่าปกติ ขึ้นกับว่าคลอดโดยวิธีใด หากคลอดทางช่องคลอด สามารถตั้งครรภ์ครั้งต่อไปได้เร็ว เเต่หากได้รับการผ่าท้องคลอด ควรเว้นระยะการมีบุตรไป 2-3 ปี เพื่อการฟื้นตัวของมดลูกจากการผ่าตัด
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. การคลอดโดยใช้เครื่องมือช่วยคลอด ที่แม่ท้องต้องรู้
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team