ผลกระทบของการดูโทรทัศน์ต่อพัฒนาการเด็ก

12 May 2014
3271 view

เพียงแค่การดูโทรทัศน์ก็ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กแล้ว โดยที่ยังไม่ต้องคำนึงถึงเนื้อหาของรายการที่ดู เมื่อพูดถึงการดูโทรทัศน์ ในบทความนี้เราจะรวมไปถึงสื่ออิเลคโทรนิคดิจิตอลสมัยใหม่ต่างๆที่ทำให้เด็ก ต้องอยู่นิ่ง เฝ้าดูจ้องมองทั้งหลายด้วย เช่นคอมพิวเตอร์ วีซีดี การวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ได้แสดงให้เห็นถึงผลของการดูทีวีต่อการคิด การพูด จินตนาการ สัมผัสรู้ต่างๆ(senses) ร่างกาย อารมณ์ความรู้สึก และพฤติกรรมของเด็ก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ปกครอง ครู นักการศึกษาต้องตระหนักถึงผลกระทบเหล่านี้

การดูโทรทัศน์ทำให้

  • เด็กตกอยู่ในสภาวะ “ผีดิบซอมบี้” การดูโทรทัศน์ทำให้เด็กไม่กระตือรือร้น และจิตตกภวังค์ คล้าย “ผีดิบซอมบี้” สภาวะเช่นนี้จะต่างไปจากภาวะที่เด็กร่าเริง กระตือรือร้น เมื่อพวกเขาไม่ได้นั่งหน้าจอ ผู้ปกครองบางคนได้สังเกตเห็นว่า “ ลูกวัยห้าขวบตกอยู่ในภวังค์เมื่อเขาดูทีวี เหมือนเขาถูกจับไว้ให้อยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นบนหน้าจอ ถูกดูดซับเข้าไปอย่างสิ้นเชิง ไม่คำนึงถึงสิ่งอื่นใดอีกต่อไป” ส่วนอีกรายหนึ่งก็บอกว่า “ลูกตกอยู่ในภวังค์จริงๆ เมื่อดูทีวี”
  • หลังการดูโทรทัศน์เด็กจะสนองต่อการเร้าได้ง่าย เช่นโกรธฉุนเฉียวง่าย “เด็กๆ ขัดเคืองใจและโกรธง่ายหลังดูทีวี”  “หลังดูทีวีหงุดหงิด เบื่อ ขัดอกขัดใจ ก่อนที่จะค่อยๆกลับสู่ภาวะปกติ” คำถามก็คือเด็กมีประสบการณ์แบบไหนกันเล่า ในระหว่างที่พวกเขาดูทีวี???

การเสพติดทีวี “ยาเสพติดเสียบปลั๊ก”

คุณ มารี วิน เรียกโทรทัศน์ว่า “ยาเสพติดเสียบปลั๊ก” เพราะว่ามีหลายคนพบว่าพวกเขาไม่สามารถเลิกดูมันได้เหมือนกับว่าถูกเกี่ยวติด ไว้กับมัน บางคนก็บอกว่าตัวเองดูทีวีเหมือนกันที่คนติดเหล้าดื่มเหล้า แต่ที่ต่างไปจากยาเสพติดหรือเหล้าก็คือ การดูทีวีทำให้ผู้ดูหลุดออกไปจากโลกแห่งความเป็นจริง เข้าไปสู่สภาวะจิตที่เป็นสุขและไม่กระตือรือร้น ซึ่งความวิตกกังวลทั้งปวงบุกรุกเข้าไปไม่ได้ การจ้องมองที่ดูว่างเปล่าของคนติดเหล้าติดยาและของคนดูทีวีนั้นก็เหมือนกัน เลยทีเดียวตาทั้งคู่จะต้องอยู่ในภาวะเฉื่อยอย่างถึงที่สุดในการดูทีวี คือต้องโฟกัส ไม่มีการกลอกไปมา ศีรษะอยู่นิ่งไม่เคลื่อนไหว ดังนั้นแทนที่ภาพจะเกิดขึ้นจากภายในเหมือนการฝันกลางวัน กลับเป็นภาพที่ถูกนำเข้าสู่ผู้ดูในลักษณะกลไกโดยโทรทัศน์

เด็กดูโทรทัศน์กันนานเพียงใด?

จากการสำรวจในต่างประเทศพบว่าเด็กในวัยเรียนดูทีวี 3-5 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 21-35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นเวลาพอๆกับที่เด็กอยู่ที่โรงเรียน มีเด็กสามคนจากกลุ่มดังกล่าวฝันถึงรายการรอบดึกที่พวกเขาดู ชั่วโมงการดูทีวีของเด็กในสหรัฐโดยเฉลี่ยก็คือ 30 ชั่งโมงต่อสัปดาห์ และสูงถึง 54 ชั่วโมงต่อสัปดาห์สำหรับเด็กอนุบาล ในเยอรมันตะวันตก เด็ก 80% ตอบว่าการดูทีวีเป็นงานอดิเรกที่พวกเขาโปรดปราน

สิ่งที่เอื้อต่อพัฒนาการเด็ก

เด็ก เรียนรู้มากมายในช่วงสามปีแรกของชีวิตเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่เขาเรียน รู้ในช่วงเวลานอกจากนั้น เขาเรียนรู้ที่จะเดิน พูด และผ่านประสบการณ์การตื่นขึ้นของความคิดเมื่อค่อยๆผ่านพ้นจากวัยทารกสู่วัย เด็ก เด็กพัฒนาหลายด้านผ่านการเล่น ได้แก่ความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ การปฏิสัมพันธ์กับเด็กคนอื่นๆ การควบคุมร่างกาย และจินตนาการ การเล่นคืองานของเด็กและช่วยให้เกิดการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ มันจึงต้องเป็นกิจกรรมที่ต้องการความกระตือรือร้นอย่างยิ่ง

เด็กเรียนรู้ จากการเลียนแบบเด็กคนอื่นๆและผู้ใหญ่ที่เป็นผู้เล่านิทาน ท่องคำกลอนสำหรับเด็กให้ฟัง หรือพูดคุยด้วย ทั้งยังเป็นผู้ที่จัดกิจกรรมในแต่ละวันให้ เช่นการทำขนม การวาดภาพ

โทรทัศน์ทำให้สมองพัฒนาช้าและทำให้ประสาทสัมผัสรับรู้ต่างๆไม่ว่องไว

รูปแบบของสมองถูกกำหนดโดยการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัส การเคลื่อนไหว การพูด ความคิดและจินตนาการ ในขณะที่สมองมีการพัฒนา เด็กก็จะเปลี่ยนจากสำนึกที่สัมพันธ์กับสมองซีกขวา คือมีลักษณะฝัน ไร้ถ้อยคำ มาสู่สำนึกที่สัมพันธ์กับสมองซีกซ้ายซึ่งมีลักษณะตรรกะเป็นถ้อยเป็นคำ การดูทีวีจะยืดเวลาที่เด็กต้องขึ้นกับสมองซีกขวาให้นานขึ้น

สิ่งที่ควรคำนึงอย่างยิ่งก็คือความเครียดจากการที่สมองเด็กต้องสร้าง(สิ่ง ที่ปรากฏบนจอโทรทัศน์ซึ่งประกอบด้วย)เส้น 625 เส้นที่ประกอบด้วยจุดกว่า 800 จุดซึ่งปรากฏขึ้น 25 ครั้งต่อวินาที ให้กลายเป็นภาพที่มีความหมาย ประกอบกับการที่ดวงตาไม่ได้เคลื่อนไหว ความเครียดนี้จะทำให้นอนไม่หลับ วิตกกังวล ฝันร้าย ปวดหัว การรับรู้ผิดปกติ ขาดสมาธิ และประสาทรับรู้ไม่ว่องไว การดูทีวีทำให้การสัมผัสรู้ต่างๆเสียไป

โทรทัศน์และการพูด

เด็กเรียนรู้การพูดจากการพูดคุยกับผู้คนจริงๆ ไม่ใช่จากการฟังคำพูดที่ออกมาจากกลไก การพูดของคนจริงๆสื่อสารความหมายของถ้อยคำ ในขณะที่โทรทัศน์เพียงแค่ผลิตเสียงออกมา ดูเหมือนไม่ต่างกันมาก แต่สำหรับเด็กเล็กแล้วมันต่างกันอย่างเห็นได้ชัด และทำให้พวกเขาสับสนได้ การที่โทรทัศน์เน้นไปที่ภาพ ทำให้เด็กไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะพูด โทรทัศน์ไม่ต้องการให้เด็กพูดโต้ตอบ ดังนั้นจึงไม่เอื้อให้เด็กหัดที่จะพูด

โทรทัศน์ส่งเสริมให้เป็นนักอ่านที่เกียจคร้าน

การอ่านนั้นสัมพันธ์กับการมีสมาธิ การรับรู้ที่ถูกต้อง จินตนาการ และความเข้าใจเรื่องราว และความเป็นอิสระของผู้อ่านในการกำหนดจังหวะการเคลื่อนไหว การที่ทีวีทำให้เกิดการจ้องมองที่ว่างเปล่า จึงทำให้สมาธิไม่ดี การที่ทีวีจู่โจมเด็กด้วยภาพจนเกินไป ทำให้จินตนาการเสื่อมถอย การที่ทีวีทำให้การสัมผัสรู้ไม่เฉียบคม จึงรบกวนกลไกในการอ่าน และการที่ทีวีเน้นในส่วนที่ไม่ใช่ถ้อยคำ ความกระตือรือร้นด้านนี้ของเด็กจึงลดลงไป

โทรทัศน์ทำให้การเล่นของเด็กด้อยลง

จากประสบการณ์ของครูปฐมวัยพบว่า ก่อนที่จะมีโทรทัศน์ วัฒนธรรมการเล่นของเด็กร่ำรวยไปด้วยเกมส์ บทเพลง และคำกลอน เด็กสามารถเล่น และคงความสนใจได้นานกว่า เล่นอย่างใส่ใจและกระตือรือร้นกว่า การดูโทรทัศน์ทำให้เด็กตกอยู่ในภาวะไม่กระตือรือร้น ทำให้เขาทำงานที่แท้จริงของเขาซึ่งก็คือการเล่นได้ไม่ดีเท่าที่ควร

เด็กขาดความเป็นตัวของตัวเอง

เด็กพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองโดยพูดแทนตนว่า “ฉัน” เวลาพบปะกับคนอื่น คนในโทรทัศน์ไม่ใช่คนจริงๆ เป็นเพียงภาพ ซึ่งแทบไม่ช่วยปลุกสำนึกถึงตัวตนของเด็กเลย ดังนั้นเด็กที่ดูทีวีมากๆ จึงมีแนวโน้มที่จะคิดว่าตนเองหรือคนอื่นเป็นสิ่งของ วัตถุ เครื่องมือ หรือแม้แต่เครื่องจักร ทัศนคติเช่นนี้อาจพัฒนาไปสู่การขาดทักษะทางสังคมในเชิงสร้างสรรค์ได้ในภาย หลัง

พฤติกรรมต่อต้านสังคม

เนื้อหาของรายการที่แฝงความรุนแรงอาจส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก เพราะเด็กเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบ อย่างไรก็ตามการดูทีวีโดยตัวของมันโดยที่ยังไม่ต้องคำนึงถึงเนื้อหาก็อาจก่อ ให้เกิดพฤติกรรมต่อต้านสังคมได้ ผลจากการดูทีวีที่ทำให้เด็กคิดว่าผู้อื่นเป็นวัตถุสิ่งของแทนที่จะเห็นว่า เป็นมนุษย์นั้น ก็อาจก่อความรุนแรงขึ้นได้ อีกทั้งการดูทีวีลวงผู้ดูว่าตนกำลังมีส่วนร่วมในกิจกรรมนั้น แต่ความจริงแล้วผู้ดูอยู่ในภาวะเฉื่อยอย่างที่สุด ดังนั้นเด็กที่ดูทีวีมากๆ จึงขาดความสามารถในการหยั่งอารมณ์ความรู้สึก ความคาดหวัง และปัญหาของผู้อื่นในชีวิตทางสังคมที่แท้จริง

ผลกระทบของรังสีและแสงเทียม

รังสีและแสงเทียมอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของเด็ก นักวิทยาศาสตร์ชื่อ Ott พบว่าเมล็ดถั่วที่วางเพาะไว้หน้าโทรทัศน์มีการเจริญผิดปกติ แทนที่รากจะงอกแทงลงกลับโผล่ขึ้นพ้นดิน เนื่องจากพิษของรังสี Ott จึงตั้งข้อสงสัยว่าการดูดซับแสงเทียมมากเกินไปอาจส่งผลต่อการเติบโตของเด็ก เล็กด้วย

แล้วโทรทัศน์มีคุณค่าต่อการศึกษาหรือไม่?

ระหว่างเครื่องจักรกับมนุษย์ อะไรเล่าที่เหมาะสมกว่าในการสอนเด็กเล็กๆ?

ครู ผู้มีประสบการณ์หลายท่านได้สังเกตพบว่าเด็กที่ดูทีวีมากๆ หลังจากนั้นไม่นาน เนื้อหาที่ได้ดูจะหลงเหลืออยู่ในตัวเด็กเพียงนิดเดียว อาจเรียกได้ว่าทีวีเป็นสื่อที่มองเห็นแล้วก็ลืม นั่นก็อาจเป็นเพราะข้อเท็จจริงที่ว่าการดูทีวี เด็กไม่ต้องมีความกระตือรือร้นใดๆ เด็กไม่ต้องใช้พลังเจตจำนง(will-power)ของตน และไม่ได้สร้างภาพขึ้นจากจินตนาการของเขาเอง ดังนั้นรอยประทับที่หลงเหลือจากภาพที่เห็นจากจอทีวีจึงผิวเผิน

รายการ ทีวีอเมริกาที่ชื่อ “Sesame Street” ถูกออกแบบเป็นพิเศษเพื่อช่วยเด็กก่อนวัยเรียนที่ด้อยโอกาสให้ได้มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องต่างๆตลอดจนภาษาทัดเทียมกับเด็กที่มีโอกาสดีกว่า แต่จากการสำรวจในปี ค.ศ. 1975 กลับพบว่ารายการดังกล่าวกลับถ่างช่องว่างในการประสบความสำเร็จระหว่างเด็ก สองกลุ่มนั้นให้ขยายขึ้นไปอีก และเด็กกลุ่มที่ได้ดูรายการน้อยกว่ากลับเรียนรู้ได้มากกว่าเด็กกลุ่มที่ได้ ดูมาก

ดังนั้น เราจะทำอะไรกันได้บ้าง?

หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว ถ้าคุณรู้สึกว่าต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำใน ครอบครัวในเรื่องการดูทีวี คุณจะเริ่มอย่างไรดี? ประการแรก ต้องแน่ใจว่าทั้งพ่อแม่เห็นพ้องต้องกันในเรื่องนี้ (ในเมืองไทยก็อาจต้องรวมปู่ยาตายายด้วย เพราะบางครอบครัวยังอยู่กันในลักษณะครอบครัวขยาย) จากนั้นก็ต้องยอมรับว่า มันยากที่จะกำจัดทีวีออกไปโดยไม่มีอะไรมาทดแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าครอบครัวคุณจัดอยู่ในกลุ่มดูทีวีมาก แต่ก็ยังมีทางคลี่คลายปัญหานี้ได้ จำกัดจำนวนรายการที่ดูอย่างเข้มงวด หรือคุณรู้สึกว่าต้องพอกันที ก็ต้องกำจัดทีวีทั้งชุดไปเสียเลย หรือเก็บไว้ดูเฉพาะวาระโอกาสพิเศษเสนอกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆให้ เป็นทางเลือก เช่นทำการฝีมือ ทำตุ๊กตา เล่นแต่งตัวเป็นตัวละครต่างๆ การวาดและระบายสี การปั้น เลี้ยงสัตว์ งานอดิเรกที่หลากหลาย เล่นกีฬา ดนตรี เต้นรำ ศึกษาธรรมชาติ ทำสวน

ส่งเสริมให้อ่านหนังสือดีๆ อ่านดังๆให้เจ้าตัวเล็กฟัง

มุ่ง ไปที่ชีวิตครอบครัวที่ดีและอบอุ่น ทำให้ช่วงเวลารับประทานอาหารน่าสนใจ เล่านิทานก่อนนอน ร้องเพลง ท่องบทกลอนสำหรับเด็ก ฯลฯ วางแผนจัดงานเทศกาลต่างๆ อย่างมีความหมายไม่ว่าจะเป็นสงกรานต์ ตรุษจีน ปีใหม่ ฯลฯ

พยายามหาคนบ้านใกล้เรือนเคียงคนอื่นๆที่มีความคิดแบบเดียวกัน เพื่อจะได้ช่วยกัน

แบ่งปันประสบการณ์หรือหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่น่าสนใจ ส่งมาที่ที่อยู่ข้างล่าง

การ ตัดสินใจทำอะไรสักอย่างในเรื่องนี้ หมายถึงว่า คุณในฐานะผู้ปกครองจะต้องเสียสละบางสิ่งเพื่อบุตรหลานอันเป็นที่รัก คุณพร้อมหรือยัง

พว.นฤมล  เปรมปราโมทย์  เรียบเรียง
ขอบคุณข้อมูล ฟ้ากว้าง วอลดอร์ฟ พรีสคูล และเพลย์กรุ๊ป