โรคอาหารเป็นพิษ อาการและวิธีดูแลรักษา ที่แม่ท้องต้องรู้

30 March 2023
715 view

อาหารเป็นพิษ

.

.

เชื่อว่าใครๆ หลายคนก็อาจจะเคยเจอภาวะอาหารเป็นพิษมาบ้างแล้ว อาหารเป็นพิษจะแตกต่างจากอาการท้องเสียเล็กน้อยตรงที่อาหารเป็นพิษจะทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดเกร็งตามท้อง และมีไข้ร่วมด้วย อาหารเป็นพิษหากเกิดขึ้นกับคนทั่วไปก็จะไม่เป็นอันตรายมาก เพียงแค่ทานยาตามแพทย์สั่งก็หายเป็นปกติได้ แต่หากเกิดกับคุณแม่ตั้งครรภ์จะดูแลอย่างไรเพื่อให้ปลอดภัยทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ ในบทความนี้เรามีวิธีดูแล โรคอาหารเป็นพิษในคุณแม่ตั้งครรภ์มาฝาก จะมีวิธีดูแลรักษาอย่างไรบ้างนั้นมาดูกันเลยดีกว่า

คนท้องต้องระวัง โรคอาหารเป็นพิษ

โรคอาหารเป็นพิษ เป็นอาการที่มีความรุนแรงและส่งผลต่อร่างกายคุณแม่และทารกในครรภ์เป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นควรดูแลตัวเองเป็นอย่างดี รับประทานอาหารให้ถูกหลักสุขลักษณะ ทานอาหารที่ปรุงสุกทุกครั้ง ไม่ควรทานอาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารที่ปรุงไม่สะอาด เพราะเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษได้ หากพบว่ามี อาการอาหารเป็นพิษ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรซื้อยามาทานเองอย่างเด็ดขาด เพราะยาที่รักษาอาการอาหารเป็นพิษ จะต้องเป็นยาที่มาจากแพทย์ก่อนเท่านั้นถึงจะปลอดภัยสำหรับคุณแม่และทารกในครรภ์

อาการของโรคอาหารเป็นพิษ

อาการ โรคอาหารเป็นพิษ จะมีอาการคล้ายๆ กับอาการท้องเสียทั่วไป แต่จะแตกต่างกันตรงที่มีความรุนแรงกว่า เมื่อรับประทานอาหารที่ไม่สะอาดเข้าไป เชื้อโรคก็จะไปฟักตัวในร่างกายจะเร็วหรือช้าก็ขึ้นกับปริมาณอาหารที่รับประทานเข้าไป และขึ้นกับภูมิคุ้มกันร่างกายของแต่ละคน โดยส่วนใหญ่จะพบว่าอาหารเป็นพิษก็หลังจากรับประทานอาหารเข้าไปแล้ว 2 – 6 ชั่วโมง คุณแม่ตั้งครรภ์ควรสังเกตตัวเองได้จากอาการดังต่อไปนี้ สามารถบ่งบอกได้ว่าอาหารเป็นพิษได้แก่

  • มีอาการท้องเสียหลังจากทานอาหาร 2 – 6 ชั่วโมง
  • มีอาการปวดท้องมาก ลักษณะการปวดแบบบิดๆ และเริ่มปวดรุนแรงมากขึ้นทุกที
  • มีอาการคลื่นไส้ และอาเจียนร่วมด้วย
  • มีอาการปวดเมื่อย ครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ร่วมด้วย
  • ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย กล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย

วิธีการดูแลรักษา

เนื่องจาก โรคอาหารเป็นพิษ มีความรุนแรง และส่งผลกระทบต่อร่างกายของคุณแม่และทารกในครรภ์เป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นการดูแลตัวเองในเบื้องต้นเพื่อให้ประคับประคอง อาการอาหารเป็นพิษ ไม่ให้รุนแรงมากขึ้น จนกว่าจะได้รับการรักษาจากแพทย์ คุณแม่สามารถดูแลตัวเองด้วยการดื่มน้ำเปล่าที่สะอาดให้มากๆ หลังจากเข้าห้องน้ำเสร็จ หากพบว่ามีอาการถ่ายมากเกินไปส่งผลทำให้ร่างกายเริ่มอ่อนเพลีย อาจจะชงเกลือแร่ดื่มเพื่อลดการสูญเสียเกลือแร่ในร่างกาย ระหว่างที่มีอาการไม่ควรเดินไปมาคนเดียวตามลำพังเพราะอาจจะหน้ามืดเป็นลมได้ ควรนั่งพยายามหายใจเข้าออกลึกๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับออกซิเจนเพียงพอ จากนั้นให้รีบนำส่งไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพื่อทำการรักษาในขั้นตอนต่อไปอย่างถูกต้อง

แนวทางป้องกันอาหารเป็นพิษ

โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจาการรับประทานอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด หรือไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้มีเชื่อแบคทีเรียบางชนิดเข้าสู่ร่างกาย และส่งผลทำให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษ เพราะฉะนั้นแนวทางป้องกันภาวะอาหารเป็นพิษในคุณแม่ตั้งครรภ์ สามารถดูแลตัวเองด้วยวิธีดังต่อไปนี้ จะช่วยป้องกันการเกิดโรคอาหารเป็นพิษได้

  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ปรุงใหม่ทุกครั้ง
  • ดื่มน้ำสะอาด หรือน้ำต้มสุก เพื่อห่างไกล โรคอาหารเป็นพิษ
  • หากซื้ออาหารสดจากตลาดจะต้องเลือกที่สด สะอาด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ และอาหารทะเลประเภทต่างๆ และก่อนรับประทานจะต้องปรุงให้สุก หรือหากยังไม่ได้นำมาปรุงอาหารก็ควรล้างทำความสะอาดอย่างดี และเก็บใส่ภาชนะปิดอย่างมิดชิด จากนั้นให้รีบนำไปแช่เย็นทันที
  • ผักและผลไม้ก่อนรับประทานจะต้องล้างน้ำให้สะอาด อย่างน้อยล้างประมาณ 2-3 ครั้งเพื่อไม่ให้สารเคมีบางชนิดตกค้าง
  • อาหารประเภทแช่แข็งก่อนนำมารับประทานควรเช็คดูวันหมดอายุก่อนทุกครั้ง หากยังไม่หมดอายุให้อุ่นด้วยไมโครเวฟตามอุณหภูมิที่ระบุข้างกล่องก่อนรับประทานทุกครั้ง
  • อาหารที่ตักมาวางไว้บนโต๊ะอาหาร หากรับประทานไม่หมด หรือยังไม่ทันได้รับประทานควรหาฝาชีมาปิดหรือครอบไว้
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภท แกงกะทิ และขนมหวานที่เก็บไว้นานกว่า 1 วัน เพราะอาหารที่ทำจากกะทิจะบูดเสียง่ายเสี่ยงที่จะทำให้เกิด โรคอาหารเป็นพิษ ได้ง่าย
  • หลังกลับมาจากนอกบ้าน หรือก่อนรับประทานอาหารคุณแม่ควรล้างมือก่อนทุกครั้ง 
  • หลังเข้าห้องน้ำเสร็จควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
  • เครื่องปรุงอาหารทุกชนิดที่อยู่ในครัว ต้องรักษาความสะอาดสม่ำเสมอ
  • ไม่ควรทานน้ำสลัด หรือพริกน้ำส้มในก๋วยเตี๋ยว ที่ไม่ได้ทำใหม่ขึ้นมา เพราะหากทิ้งไว้นานหลายวันแล้วอาจจะทำให้เสี่ยงที่จะเกิด โรคอาหารเป็นพิษ ได้ 
  • เวลาอยู่นอกบ้านควรพกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ไว้ล้างมือก่อนทานอาหารทุกครั้ง

โรคอาหารเป็นพิษ ที่เกิดกับคนท้องถือว่ามีความรุนแรงและอันตรายต่อร่างกายของคุณแม่และทารกในครรภ์มาก เพราะฉะนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ก่อนจะรับประทานอาหารอะไรก็ต้องระวังให้ดี เพราะหากเผลอรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด ปรุงไม่สุก หรือไม่ถูกสุขลักษณะเข้าไปก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษได้นั่นเอง

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. โรคท้องร่วง ท้องเสียท้องผูกในแม่ตั้งครรภ์ควรทานยาอะไรดี

2. โรคอาหารเป็นพิษในเด็ก ไม่ควรมองข้าม อันตรายมากกว่าที่คิด

3. คนท้องปวดหลังบ่อยควรเลี่ยงรองเท้าส้นสูงเพราะจะทำให้อาการปวดแย่ลง

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team